7.28.2551

“คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

นางสาวทิพวรรณ เศละพฤกษ์กุล

รัฐสวัสดิการ vs รัฐทุนนิยม

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Development Advisory Group - SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และต่อมาได้ถูกแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งโดยเนื้อหาแล้ว เป็นการเรียกร้องในสิ่งที่รัฐควรจะจัดสรรบริการหรือสวัสดิการด้านต่างๆให้แก่ประชาชน รวมถึงความช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีเมื่อเขาอยู่ในท้องแม่จนกระทั่งตาย


เริ่มต้นจากสิทธิที่แม่เขาควรจะได้รับการดูแลอย่างดีเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ สิทธิในการเข้ารับการศึกษาเมื่อเขาโตพอ ไม่ว่าผู้เป็นพ่อและแม่จะรวยหรือยากจนก็ตาม เมื่อเขาเรียนจบ เขาก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสังคมที่เขาอยู่ก็จะต้องมีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีการข่มขู่หรือประทุษร้ายกัน และหากเขาเป็นกรรมกร เขาก็ควรจะไม่ถูกขูดรีดจากนายทุน และเมื่อใดที่เขาไม่สบาย เขาก็จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดี เมื่อเขาแก่ เขาก็ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม และหากเขาจะตาย เขาก็ไม่ควรที่จะตายเพราะเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือเรื่องที่ผู้อื่นเป็นผู้ก่อ เช่น สงครามกลางเมือง อากาศเป็นพิษ และเมื่อเขาตาย มรดกของเขาก็ควรแบ่งให้ลูกที่ยังเล็ก โดยแบ่งให้พอเหมาะพอใช้จนกว่าลูกเขาจะโต ส่วนเงินที่เหลือ รัฐบาลก็ควรจะเก็บไปเพื่อใช้บำรุงชีวิตคนอื่นต่อไป แต่ใช่ว่าเขาจะเรียกร้องความดูแลจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เขาก็พร้อมที่จะจ่ายภาษีให้แก่รัฐตามอัตภาพด้วยเช่นกัน



โดยเนื้อหาสาระแล้ว การเรียกร้องต่อรัฐของคนๆหนึ่งในบทความนี้ที่ต้องการให้รัฐมาดูแลในด้านต่างๆ เพื่อให้ชีวิตไม่มีความเสี่ยงมากนัก ซึ่งสาระสำคัญสอดคล้องกับประเด็นในเรื่องแนวคิดพัฒนาในรูป รัฐสวัสดิการ กล่าวคือ

1. เป็นระบบที่ครอบคลุมครบวงจรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายโดยผ่านระบบสวัสดิการต่างๆ โดยผ่านสวัสดิการที่สำคัญ 4 อย่าง คือ ระบบการศึกษา ระบบรักษาพยาบาล การแก้ปัญหาการว่างงานและการให้เงินสงเคราะห์คนชรา


2. เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ว่าคนรวยหรือคนจนย่อมได้รับสิทธิ์ ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในปัจจัยพื้นฐานของชีวิตมากขึ้น


3. เป็นระบบสวัสดิการภายใต้รัฐ


4. เป็นระบบสวัสดิการที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษี โดยเป็นการเก็บภาษีทางตรงคือ ใครมีทรัพย์สินมาก ก็ต้องจ่ายภาษีมากโดยเน้นเก็บภาษีสองตัวเป็นหลักคือภาษีที่ดินและภาษีมรดก เพราะภาษีเหล่านี้เป็นตัวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้



เราอาจเรียกแนวคิดรัฐสวัสดิการว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนากระแสหลัก กล่าวคือ แนวคิดรัฐสวัสดิการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นโดยสำนักสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยครั้งแรกจากการเรียกร้อง ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปตะวันตก ซึ่งตัวทฤษฎีและรูปแบบได้ค่อยๆ สั่งสมและขยายตัวขึ้นโดยมีการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในชีวิตประชาชนจำนวนมาก การพัฒนาในแนวนี้ที่เน้นให้เกิดความเท่าเทียม ดูแลชีวิตขั้นพื้นฐานรวมถึงสร้างความมั่นคงและลดปัจจัยเสี่ยงให้แก่ชีวิตประชาชนโดยผ่านรัฐจึงเกิดขึ้นและพัฒนาจนได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน


แต่ถึงแม้จะกล่าวว่า รัฐสวัสดิการ เกิดขึ้นจากผลของทฤษฎีการพัฒนากระแสหลักที่เน้นทุนนิยมจนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันนั้น สำหรับในแง่มุมนี้ อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ มองในแง่ที่ว่าไม่จำเป็นว่าทุนนิยมจะต้องขาดจากรัฐสวัสดิการเสมอไป เนื่องจากหลายประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการก็ยังเป็นทุนนิยมอยู่ ทั้งนี้ต้องเป็นทุนนิยมที่ไม่รุนแรงนัก เพราะทุกประเทศต้องมีการผสมกันระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมอยู่แล้ว ด้านที่เป็นสังคมนิยมก็คือการจัดสวัสดิการ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากนักขณะที่ในด้านทุนนิยมก็คือ การให้โอกาสในการลงทุน มีอิสระในการหารายได้นั่นเอง


อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดรัฐสวัสดิการ จะมีลักษณะที่ดูคล้ายการต่อต้านระบบทุนนิยมดังที่กล่าวข้างต้น แต่ก็มีบางมุมมองจากนักวิชาการที่น่าสนใจได้วิจารณ์แนวคิดรัฐสวัสดิการว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้ระบบทุนนิยมมีความหยืดยุ่น อีกทั้งยังเป็นเกราะสร้างหลักประกันและการสะสมทุนในระยะยาวเท่านั้นและหากพิจารณาตามคำกล่าวข้างต้น เราอาจมองในอีกแง่มุมหนึ่งได้ว่ารัฐสวัสดิการเป็นเพียงผลผลิตที่เกิดจากพัฒนาการของสังคมอุตสาหกรรม ที่ไม่สามารถกดขี่ขูดรีดแรงงานในแบบเดิมได้อีกต่อไป ทำให้ต้องมีการคิดค้นระบบใหม่ๆขึ้นมา เพื่อยับยั้งแรงกดดันของชนชั้นแรงงานที่อาจระเบิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียในระบบเสรี ดังนั้นจึงมีการสร้างแนวรัฐสวัสดิการขึ้นมา ไม่เพียงแต่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวข้างต้นได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับการสะสมทุนในระยะยาวอีกด้วย โดยหลักฐานที่ยืนยันข้อเสนอดังกล่าวว่าเป็นจริง เห็นได้จากในโลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างลัทธิทุนนิยม สังคมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งในแง่นี้เองที่ผลประโยชน์ของแนวคิดพัฒนานี้อาจไม่ได้มุ่งเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ชีวิตคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การพัฒนากระแสหลักที่เน้นระบบทุนนิยม กลไกตลาด เสียมากกว่า










3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์ป๋วย สุดยอด
from cradle to grave
Thailand should be like this

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมอยากอ่านงานเขียนชิ้นนี้ของท่านมานานแล้วครับ แต่ยังไม่มีโอกาสสักที
ได้มาอ่านฉบับย่อแบบนี้ก็ดีเหมือนกันครับ
ขอบคุณสำหรับควมรู้ที่มีประโยชน์แบบนี้นะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แต่ไทยก็คงยากถ้าจะเป็นรัฐสวัสดิการนะเนี่ย...ปัญหาเยอะแยะ