8.04.2551

FDI: Foreign direct investment



แปลตามตัวก็คือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามความหมายดั้งเดิมหมายถึงบริษัทๆหนึ่งจากประเทศๆหนึ่ง ได้สร้างการลงทุนทางกายภาคโดยการสร้างหน่วยการผลิตในประเทศอื่น ซึ่งตามความหมายนี้ สามารถรวมไปถึงการลงทุนที่สร้างผลประโยชน์สุดท้ายในกิจการ นอกเหนือไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ลงทุน มีการศึกษาวิจัยปริมาณการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศโดยเริ่มตั้งแต่ปี 1945 โดยใช้ทฤษฏีของบริษัทข้ามชาติ(Theory of Multinational Corporation) อธิบาย เช่น ทฤษฏีดั้งเดิม H-O-S (Heckscher-Ohlin-Samuelson) สรุปว่า ประเทศที่มีปัจจัยทุนมาก มีทางเลือก อยู่ 2 ทาง ที่จะทำให้ ตนได้เปรียบทางการค้า คือการผลิตสินค้าที่มีลักษณะทุนเข้มข้น (คือใช้เงินหรือทรัพยากรในการผลิตที่สูง) ไปยังประเทศที่ไม่ได้เปรียบในการผลิตสินค้านั้น หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศแทน ทำให้เกิดการย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและไปผลิตสินค้าที่มีทุนเข้มข้นในประเทศเหล่านั้นแทน ดังนั้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศเจ้าของทุนกับประเทศที่รับลงทุนจะมีปริมาณที่ลดลง
แต่ทฤษฏีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ได้มีการใช้แนวคิดขององค์กรอุตสาหกรรม ซึ่งแย้งกับทฤษฏีที่ผ่านมาคือ การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหรรมเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดได้มากขึ้นเมื่อผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้บางอุตสาหกรรมยังต้องมีการพึ่งพิงเทคโนโลยีเฉพาะทาง เทคโนโลยีแต่ละด้านช่วยส่งเสริมความสามารถหลักขององค์กรนั้นๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง และสามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลกับปริมาณการลงทุนในต่างประเทศ และขณะเดียวกันการลงทุนในต่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศตามมาด้วยเช่นกัน
หากเรามองในแง่ของวาทกรรม จะพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลจากวาทกรรมการพัฒนา คือเป็นการลงทุนจากประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้ประโยชน์จากวาทกรรมที่ตัวเองสร้างขึ้นให้ประเทศในโลกที่ 3 เห็นดีเห็นงามไปด้วยในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ แรงงานราคาถูก กฎหมายด้านการจักการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มงวด ฯลฯ ใช้ข้อได้เปรียบในด้านของการมีเงินทุน แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนต่างๆนานา เช่น จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน ฯลฯ ซึ่งประเทศโลกที่ 3 ก็มักจะเห็นด้วย เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ทัดเทียมเข้าใกล้ประเทศที่พัฒนาแล้ว
FDI ในไทย
จากเอกสารประกอบการสัมมนาของดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ได้กล่าวว่า FDI ยุคแรกในไทยเกิดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1-2 ซึ่งเป็นยุคที่ผลิตทดแทนการนำเข้า เน้นหนักในสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่าสูง เนื่องจากนำเข้าชิ้นส่วนการผลิตและสินค้าทุนจำนวนมากแต่ไม่สามารถสร้างเงินตราต่างประเทศ และปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการผลิต
เหตุการณ์ Plaza Accord ปี 2528 ที่ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศญี่ปุ่น มีค่าสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนและประเทศสังคมนิยมในอินโดจีนยังไม่เปิดประเทศ จึงไม่มีคู่แข่งขันในการดึงดูด FDI ทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นผู้ลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่มาลงทุนในไทยจนถึงปัจจุบัน
ผลกระทบ ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ


ข้อดี
1.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทำให้เกิด การถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ความรู้ในรูปแบบต่างๆ
2.ได้ในด้านการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ
3.ได้ภาษี ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ แต่ประเทศส่วนใหญ่มักมีการดึงดูดนักลงทุนโดยการลดหย่อนภาษี
4.แรงผลักดันของสังคมของผู้ทีมีส่วนได้เสียที่มีมากขึ้นทำให้บริษัทข้ามชาติจำเป็นต้องมีนโยบายออกมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

ข้อเสีย
1.ในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยี อาจมีการถ่ายทอดให้ไม่หมด ถ่ายทอดเพียงเฉพาะส่วนทำให้ไม่ได้เป็นการช่วยให้เกิดองค์ความรู้ต่อเรื่องการผลิตนั้นจริงๆ
2.เป็นการสร้างความชอบธรรมในความต้องการดึงดูดทรัพยากร การขจัดอุตสาหกรรมที่ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องการ
3.กระทบต่อบริษัทภายในประเทศ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติมักจะมีอำนาจทางการตลาดที่สูงกว่าบริษัทในประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้
4.ประชาชนในประเทศที่รับการลงทุนมักจะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สุขภาพของประชาชนในบริเวณแหล่งอุตสาหกรรมเป็นต้น


สำหรับการคาดการณ์ของการลงโดยตรงจากต่างชาติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ในปี2551 คือตั้งเป้าไว้ที่ 6แสนล้านบาท ถึงแม้ว่ามูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของBOI ลดลงเมื่อเทียบกับ2550ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาขอส่งเสริมการลงทุน และจะมีโครงการเล็กๆที่ตามโครงการใหญ่เข้ามาอีก ดังนั้นยอดการลงทุนจะไม่ตกไปจากที่ประมาณการไว้ที่600000ล้านบาท

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

นายกิติคุณ ตั้งคำ

"ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาใหญ่ในสังคมไทย"

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย นั้นได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การกระจายรายได้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสรียุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจนจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคมไทย ซึ่งในบริบททางเศรษฐศาสตร์แล้วต้องถือว่าความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่สำเร็จในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่ง

สาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ มีดังต่อไปนี้ 1) ความแตกต่างในความสามารถของมนุษย์แต่ละคน 2) ความแตกต่างในทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ 3) โอกาสในการศึกษาแตกต่างกัน 4) การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล 5) การว่างงาน 6) ภาวะเงินเฟ้อ และ 7) นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค

ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ
การวัดการกระจายรายได้หรือความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ เป็นการวิเคราะห์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม สิ่งที่ใช้เป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันมาก มี 2 วิธี คือ การหาค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) และการหาสัดส่วนรายได้ในแต่ละขั้นรายได้ (Income Share)2
การหาค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือ สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ ซึ่งเป็นตัวที่ใช้อธิบายในกลุ่ม Lorenz Curve ค่าจินีถูกกำหนดจากพื้นที่ระหว่าง Lorenz Curve กับเส้นการกระจรายรายได้สัมบูรณ์ หารด้วยพื้นที่ใต้เส้นทแยงมุมทั้งหมด โดยสัมประสิทธิ์จีนี จะมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดยหากมีค่าเข้าใกล้ศูนย์ หมายถึงมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมในสังคม แต่หากค่าเข้าใกล้หนึ่งนั้นหมายถึงการกระจายรายได้ยังไม่เป็นธรรม3
การหาสัดส่วนรายได้แต่ละขั้นรายได้ จะทำโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Quintile Analysis คือ การแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 5 กลุ่มเท่า ๆ กัน จำแนกตามรายได้จากจนที่สุด (ชั้นรายได้ที่ 1) จนถึงรวยที่สุด (ชั้นรายได้ที่ 5) และพิจารณาสัดส่วนรายได้ในแต่ละกลุ่ม กลุ่มไหนมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ข้อเสนอแนะ/แนวคิดทฤษฎีของนักวิชาการ
ในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยสาเหตุสำคัญว่าผู้ประกอบการที่ลงทุนทำการผลิตจะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือกำไรที่สูงพอให้เป็นเหตุจูงใจในการลงทุนต่อไป ทำให้ความมั่งคั่งไปกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ และเมื่อการพัฒนาดำเนินต่อไปถึงระดับหนึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะลดลงก็จริง แต่การลดลงความเหลื่อมล้ำอาจจะใช้เวลานานเกินไป สร้างผลเสียให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ และที่น่าวิตกไปกว่านั้นก็คือหากความเหลื่อมล้ำขึ้นสูงมาก โอกาสที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะทำได้ยากขึ้น โดยปกติเรามักจะให้หน้าที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือรัฐบาล ด้วยเหตุที่ว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการบังคับให้ปฏิบัติตาม และอำนาจในการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แนวนโยบายที่รัฐบาลจะทำได้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อาจจะประกอบด้วย 3 แนวนโยบาย คือ 1) การอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการสร้างการแข่งขัน 2) การใช้นโยบายการคลังโดยผ่านนโยบายภาษีอากรและการใช้จ่ายสาธารณะ 3) การใช้นโยบายทางด้านอื่นๆ ที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพหรือโอกาสของกลุ่มคนยากจน
นักวิชาการหลายท่านเสนอทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายปรากฏการณ์ของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ โดยสรุปใจความได้ว่า กระแสโลกาภิวัตน์อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย/คนจนเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำวิจัยเพื่อติดตามสถานการณ์ความยากจน พร้อมกับอธิบายสาเหตุของความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ดังนี้
ทฤษฎีที่ 1 อคติของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี - ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนรวม แต่ว่าไม่ได้เพิ่มการจ้างงานได้มากนัก นอกจากนี้ยังมีอคติที่จะเลือกจ้างบุคคลที่มีความรู้สูงไปทำงานด้วย โดยจ่ายเงินเดือนให้สูง แต่ว่าเปิดรับคนจำนวนน้อยมาก ในขณะที่แรงงานของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา ถูกผลักให้จำเป็นต้องรับงานที่ ใช้แรง และมีค่าจ้างต่ำ หรือการรับงานไปทำที่บ้านเป็นชิ้น โดยปราศจากสวัสดิการจากโรงงาน ปรากฏการณ์นี้รวมเรียกสั้นๆ ว่า biased technological progress
ทฤษฎีที่ 2 การย้ายแรงงานข้ามประเทศ กระแสโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้ทุน-เทคโนโลยี-แรงงาน เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ซึ่งมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ในด้านการผลิตนั้นเป็นเรื่องดีและยอมรับว่า มีประโยชน์ อย่างชัดเจน เพราะว่าผู้ประกอบการมีหนทางเลือกในการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะอย่างสำหรับ แรงงานระดับล่าง คือเลือกจ้างแรงงานคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลลัพธ์ต่อค่าจ้างแรงงานระดับล่างจึงเป็นทางลบ แรงงานระดับล่างขาดพลังในการต่อรองค่าจ้างแรงงาน อาจจะมีการปรับปรุงค่าจ้างเป็นครั้งคราว โดยสรุปคือกระแสโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหนึ่งของ การกดค่าจ้าง สำหรับแรงงานขั้นต่ำ แรงงานไทยซึ่งมีจำนวนนับสิบล้านคน จึงตกในสภาพจำยอม รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกด ยังดีกว่าการตกงาน
ทฤษฎีที่ 3 การรุกของทุนขนาดใหญ่ โลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้เกิดการจับมือของทุนขนาดใหญ่ ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ โดยอาศัยความได้เปรียบจากขนาดต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทุนขนาดใหญ่ได้เบียดพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินของทุนขนาดเล็ก โรงงานอุตสาหกรรมไฮเทคที่ถือว่าเป็นชั้นนำระดับโลกมีโอกาสกระจายการผลิตออกไปประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ตั้งใกล้กับแหล่งปัจจัยการผลิต
อนึ่ง การที่โรงงานมีสเกลการผลิตขนาดใหญ่ยิ่งเปิดโอกาสให้ใช้เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และ หุ่นยนต์ มาทำงานแทนแรงงานมากขึ้น โลกาภิวัตน์ยังหมายความถึงการถ่ายเททางด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่ลัทธิบริโภคนิยม - ศิลปินชั้นนำและนักกีฬาชั้นนำซึ่งในอดีตมี แฟนคลับ ภายในเมืองหรือในประเทศของตนเอง ปัจจุบันนี้ แฟนคลับ ได้ขยายออกไปทั่วโลก
ทฤษฎีที่ 4 ความสำเร็จและความล้มเหลวของสาขาการเกษตรและการผลิตขั้นปฐม ความจริงต้องยอมรับว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาการเกษตรเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่ประจักษ์ได้ชัดคือ พื้นที่การเกษตรลดลงอย่างมาก แต่ว่ายังสามารถผลิตได้เท่าเดิมหรือแม้แต่เพิ่มขึ้น เพราะใช้พันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ย หรือผลิตหลายฤดูกาลภายในปีเดียว
ทฤษฎีที่ 5 ความล้มเหลวของนโยบายภาครัฐ - ซึ่งจำแนกออกเป็นสองส่วน ความล้มเหลวในส่วนแรก (ย่อว่า รลล1) หมายถึง ความไม่สามารถของภาครัฐในการปรับปรุงนโยบายภาษีอากร ให้มีลักษณะก้าวหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือของการกระจายรายได้ โครงสร้างภาษีของไทยนั้นกว่าร้อยละ 60 เป็นการเก็บภาษีทางอ้อม จากภาษีมูลค่าเพิ่ม จากภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นการเก็บจากฐานการบริโภคเป็นสำคัญ

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาตามแนวทางของชาติตะวันตกและส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อประเทศไทย

EXIM Thailand (Export-Import Bank of Thailand)


นายวิชพัฒน์ องค์ทองคำ



ในสภาพของโลกยุคปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นสภาพสังคมสมัยใหม่ และมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นปัจจัยหลักของสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นกระแสแนวคิดหลักที่เปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากสังคมโบราณอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับผลของการที่มีตัวชี้วัดระดับของการพัฒนาของแต่ละประเทศมาผูกอยู่กับสภาพความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จึงทำให้แต่ละประเทศพยายามหายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สามารถทำให้ประเทศของตนได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบใหม่(Liberalism) เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศจึงถูกยกเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างระดับการพัฒนาในด้านอื่นๆของสังคมต่อไป

สำหรับในประเทศไทยระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีหลายๆอย่างในกระบวนการผลิตในหลายๆภาคส่วน ได้เป็นส่วนในการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เป็นฐานในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขอัตราของการส่งออกของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากช่วงปี2506ที่คิดอัตราส่งออกได้เพียง13.0ของผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ29.7ในปี2536 ดังนั้นภาคการส่งออกของไทยจึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทความสำคัญ

แต่กระนั้นด้วยเหตุของการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า ประกอบกับยังไม่มีสถาบันทางการเงินที่ให้บริการด้านการส่งออกโดยเฉพาะ แม้จะมีอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของวงเงินบริการกู้ยืมที่จำกัดมากจึงไม่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้ส่งออกได้ครบถ้วน อีกทั้งยังขาดปัจจัยบริการทางการเงินอื่นๆที่มีความจำเป็นต่อผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยอย่างมีประสิทธิภาพเช่น บริการสินเชื่อ เป็นต้น

ผลจากข้อจำกัดต่างๆดังกล่าว รัฐบาลจึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะเข้ามาดูแลโดยตรงในเรื่องการให้บริการทางการเงินเพื่อธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่นำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นในปี2536จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยพ.ศ.2536 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่7กันยายน2536 เพื่อจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)” หรือ “EXIM Thailand”ขึ้น โดยมีฐานะเป็นสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ด้วยทุนประเดิม2500ล้านบาทจากงบประมาณของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังในวันที่17กุมภาพันธ์2537 EXIMจึงได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งEXIM ก็เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคการส่งออก การนำเข้าเพื่อส่งออก และการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ มากไปกว่านั้นEXIMยังมีหน้าที่ในการพยายามขยายฐานการค้าของไทยให้เจริญเติบโตด้วยการขยายฐานกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มั่นคงอีกด้วย

ในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้กำหนดขอบเขตอำนาจในการทำธุรกิจเอาไว้อย่างกว้างขวาง โดยEXIMสามารถให้สินเชื่อได้ทุกรูปแบบเช่นสินเชื่อระยะสั้น สินเชื่อระยะยาว สินเชื่อในประเทศสินเชื่อต่างประเทศ โดยสามารถทำธุรกิจได้ทั้งที่เป็นสกุลเงินบาท และสกุลเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทุกประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย EXIMยังสามารถออกตราสารการเงินระยะสั้นและระยะยาว เพื่อทำการขายให้แก่สถาบันการเงินและประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าEXIMสามารถทำธุรกิจทุกประเภทที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ ยกเว้นเพียงการรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปเท่านั้น ที่ไม่ได้ถือเป็นหน้าที่ของEXIM bank

ต่อมาในปี2542 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยฉบับที่สอง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจของEXIMเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนให้ชัดเจนและกว้างขึ้น เพื่อให้EXIMเป็นธนาคารที่สามารถสนับสนุนนักลงทุนไทยในต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้EXIMสามารถขยายการสนันสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนในประเทศที่ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลดการสูญเสียหรือสนับสนุนให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ

ระบบการบริหารงานของธนาคารจะตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับกิจการดูแลกิจการที่ดี(Good Corporate Governance) โดยจะมีคณะกรรมการธนาคารซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้นคอยเป็นผู้กำกับนโยบายการบริหารและกำกับดูแลกิจการของธนาคาร และยังมีหน้าที่ดูแลให้มีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายและภารกิจของธนาคารตามระยะเวลาที่คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้คณะกรรมการธนาคารยังต้องมอบหมายให้ฝ่ายจัดการนำเสนอนโยบายดังกล่าวไปกำหนดแนวทางปฎิบัติ พร้อมทั้งมีระบบรายงานผลการกำกับดูแลกิจการไว้ในรายงานประจำปี และนำเอาผลสำเร็จของภารกิจไปเผยแพร่ในเวปไซต์ของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงภารกิจของธนาคารที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราคงเห็นได้ว่าEXIM bankได้มีบทบาทในการร่วมสนับสนุนส่งเสริมภาคธุรกิจการส่งออกและการลงทุนเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศ จนทำให้หลายๆธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี อีกทั้งEXIMยังเป็นสถาบันหนึ่งที่คอยช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้มั่นคงและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันทางธุรกิจจากนานาประเทศได้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กรนี้

เราจึงไม่สามารถปฎิเศสได้ว่าEXIM bankถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างฐานความมั่นคงของภาคธุรกิจของไทยให้เติบโตแข็งแรง และสามารถไปยืนอยู่บนเวทีแข่งขันธุรกิจของโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งจากผลของเหตุนี้เอง จึงเป็นการส่งเสริมให้สภาพเศรษฐกิจของไทยมีความเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าระดับการพัฒนาในสังคมไทยก็ย่อมมีอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะเรามีทุนสำหรับทำการพัฒนามากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีองค์กรส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่ดีอยู่ในประเทศดังเช่นEXPORT-IMPORT bank of Thailandจึงถือเป็นแนวทางการสร้างระดับการพัฒนาในสังคมรูปแบบหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน




ทุนนิยมแบบไทย

นายทรงพล อภิวัฒนานันท์


ทุนนิยมแบบไทย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงคำว่าทุนนิยมก่อน ซึ่งคำว่าทุนนิยมนั้นมีลักษณะสำคัญดังนี้


มีการดำเนินงานตามระบบกลไกแห่งราคา ซึ่งหมายความว่า การที่ระบบเศรษฐกิจจะผลิตสิ่งใด ในประมาณใด และแจกจ่ายผลิตผลนั้นให้แก่ผู้ใด ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะดีมานด์และซับพลายของสินค้าชนิดนั้นเป็นสำคัญ โดยไม่มีการบังคับจากส่วนกลาง ราคาในตลาดจึงเป็นราคาที่เคลื่อนไหวได้ แล้วแต่สภาพความต้องการของผู้ซื้อและต้นทุนการผลิต ซึ่งจุดหมายคือกำไรสูงสุด โดยในการผลิตจะเน้นที่ต้นทุนต่ำสุดซึ่งสามารถผลิตในประมาณที่คาดว่าจะได้กำไรสูงสุด ทำให้ผู้ผลิตต้องตื่นตัวต่อเทคนิคการผลิตหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาของปัจจัยการผลิตเพื่อปรับสภาพการผลิตของเขา ให้นำมาซึ่งกำไรสูงสุดเสมอ ในด้านผู้บริโภคก็ย่อมเปรียบเทียบความต้องการของเขาระหว่างสินค้าชนิดต่าง ๆ กับราคาของผู้ผลิตคนต่าง ๆ และเลือกซื้อสิ่งที่จะนำความพอใจมาสู่เขาสูงสุดต่อราคาขายที่ต่ำสุด


บทบาทของรัฐที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ จะมีน้อยซึ่งส่วนใหญ่บทบาทของรัฐจะมีมากในด้านอื่น ๆ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ เป็นต้น เนื่องจากทฤษฏีตลาดและแนวคิดที่ว่าถ้าปล่อยให้ระบบตลาดดำเนินไปตามกลไกของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐแล้ว ประโยชน์จะเกิดแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในตลาด การขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจและเสรีภาพส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้เต็มที่โดยมีการแทรกแซงและการกดขี่จากรัฐบาลน้อยที่สุด ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยอมรับอำนาจอธิปไตย ของผู้บริโภคและอิสรภาพในการเลือกงานทำ อำนาจอธิปไตยของผู้บริโภคหมายถึงสภาพการที่หน่วยการผลิตคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญที่สุด ผู้บริโภคจึงมีอิสรภาพในการเลือกบริโภค ซึ่งสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าชนิดใดก็ได้ และในระบบเศรษฐกิจนี้ บุคคลย่อมมีอิสรภาพที่จะเลือกงานของเขา จะมีข้อจำกัดก็แต่ความสามารถ การศึกษาอบรม และสภาพตลาดแรงงาน ส่วนทางด้านกรรมสิทธิ์ส่วนตัวก็สามารถมีได้ และไม่ได้มีเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยในการผลิตซึ่งก็คือทุนและที่ดินด้วย ส่งผลให้การตัดสินการผลิตย่อมขึ้นอยู่กับเอกชนผู้มีกรรมสิทธิ์แต่ละบุคคล มิใช่ขึ้นกับรัฐ กรรมสิทธิ์ส่วนตัวจึงเป็นการส่งเสริมและทำให้การดำเนินงานของกลไกแห่งราคาเป็นไปได้



อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาถึงความเป็น ทุนนิยมในรูปแบบของคำว่าแบบไทย เราจะพบว่าลักษณะดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ อันเนื่องมาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในประเทศไทย การแยกตัวของรัฐออกจากสังคม เช่น การยกเลิกความสัมพันธ์ไพร่กับขุนนางก็ดี การก่อเกิดของระบบราชการสมัยใหม่ก็ดี การรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลางทั้งทางด้านการคลังและการปกครองก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขหักล้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่าซึ่งยืดหยุ่นและมีเนื้อหาทางวัฒนธรรม และนำไปสู่จินตภาพแห่งความเสมอภาคทางกฎหมายที่เข้มงวดตายตัว เสมอหน้า และเหมาะสำหรับสังคมที่แตกออกเป็นปัจเจกบุคคลไร้สังกัด


แต่ในความเป็นจริงราษฏรส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในสภาพไพร่ไร้นาย ไม่ได้รับความเสมอภาคตามกระบวนยุติธรรมสมัยใหม่มาชดเชย เนื่องจากในทางประวัติศาสตร์ที่รัฐราชการแบบใหม่กำลังก่อรูปขึ้นมานั้น แนวคิดเรื่องสิทธิทางการเมืองของประชาชนมิได้เกิดขึ้นมาควบคู่กัน ทำให้ตัวองค์กรของรัฐกลายเป็นบ้านใหม่ของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ค้ำจุนโดยจำกัดเฉพาะคนในหน่วยราชการหรืออเฉพาะราษฏรส่วนที่ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้กุมอำนาจระดับต่าง ๆ แม้ว่าหลังกรณี 2475 จะมีการเสนอสิทธิทางการเมืองให้ประชาชนทั่วไป แต่ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่กึ่งดิบกึ่งสุกแบบนี้ก็ตกผลึกเสียแล้ว


อีกทั้งการที่รัฐไทยมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างประเทศโลกที่สามอื่น ๆ ทำให้วัฒนธรรมอุปถัมถ์ค้ำจุนในรัฐไทยยังคงความเข้มแข็งอยู่ได้ นอกจากนี้ชนชั้นนายทุนยุคแรคกของไทยเป็นชาวจีนอพยพเข้ามามิใช่นายทุนพื้นเมือง จึงไม่มีอุดมการณ์ของตัวเองที่เด่นชัดอย่างชนชั้นนายทุนยุโรป ทำให้ตกอยู่ภายใต้การนำของชนชั้นศักดินายหรือเจ้านาย ดังนั้นระบบทุนนิยมในประเทศไทยช่วงนั้นจึงต้องทำงานภายใต้โครงสร้างของรัฐศักดินาไทย


หลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตเมือง ส่งผลให้ ประการแรก ประชาชนในชนบทถูกลดบทบาทลง เป็นหนี้สินจำนวนมาก ประการที่สอง ผู้มีอำนาจได้รับความรุ่งเรืองในการใช้อำนาจนั้น มีการผนวกนโยบายรัฐเข้ากับความรุ่งเรืองส่วนตัวของกลุ่มผู้กุมอำนาจ ทำให้ผู้นำประเทศระดับสูงเกือบทุกคนมีเครือข่ายธุรกิจของตนเอง และนักธุรกิจกับคนชั้นกลางก็เกิดขึ้นมาในประเทศไทยมากมาย จนในที่สุดกลุ่มคนพวกนี้ก็ขึ้นมามีบทบาทในทางการเมืองเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยออกนโยบายที่เน้นเรื่องการเติบโตมากกว่าการกระจายรายได้ เน้นเมืองมากกว่าชนบท และเน้นการรวมศุนย์อำนาจการเมืองการปกครองมากกว่าการกระจายอำนาจอย่างมีนัยสำคัญแท้จริง

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าทุนนิยมแบบไทยมีนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการอุปถัมถ์ค้ำจุน โดยเปลี่ยนนอำนาจจากชนชั้นศักดินามาเป็นกลุ่มทุน ทั้งนี้ทั้งนั้นพัฒนาการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติแต่อย่างใด กลับกันมันก่อให้เกิดผลเสียต่อคนในชาติ และยังคงต้องคอยพึ่งการอุปถัมภ์จากผู้มีอำนาจต่อไป





การสะสมทุนในประเทศไทย


นางสาวบุรฉัตร พานธงรักษ์


หากเราพูดถึง การสะสมทุน ( Capital accumulation ) แล้วจะหมายถึง การเพิ่มปริมาณสินค้าประเภททุน ซึ่งทุนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการสะสมทุนนั้นสะท้อนถึงความสามารถของหน่วยผลิตที่พัฒนาขึ้นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสะสมทุนในประเทศไทยนั้นเริ่มก่อตัวให้เห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของทุนต่างชาติและการเข้ารับสัมปทานในกิจการต่างๆของรัฐของเหล่าขุนนางและข้าราชการที่แต่เดิมมักถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำและพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผลให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การกระจายตัวของทุนจึงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางตามความสามารถของนายทุนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก่อให้เกิดการสะสมทุนของนายทุนรายย่อยจนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยได้ในที่สุด

จากการศึกษารายงานการวิจัยเรื่องโครงสร้างและพลวัตทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ที่นำโดย ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นั้น มีการแยกการศึกษารายละเอียดแต่ละเรื่องโดยเน้นตัวเดินเรื่องที่มีส่วนที่ทำให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการสะสมทุนในประเทศไทยให้เห็นอย่างชัดเจนดังนี้

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นเรื่องของโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งจัดทำโดย
ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการสะสมทุนในธุรกิจครอบครัวนั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานแบบระบบกงสีที่ครอบครัวหนึ่งๆ จะรวมความมั่งคั่งทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางภายใต้การควบคุมของผู้ก่อตั้ง จากนั้นค่อยแตกแขนงออกไปเป็นบริษัทลูก อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าการสะสมทุนในประเทศไทยในยุคแรกนั้นเป็นการสะสมทุนโดยกลุ่มคนจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากกลุ่มคนจีนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างมากจากการทำสนธิสัญญาเบาว์-ริงและสืบเนื่องมาจากระบบเจ้าภาษีนายอากร ทำให้การสะสมทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกลุ่มคนจีนเหล่านี้กลายเป็นผู้ประกอบการและเป็นนายทุนในที่สุด ในยุคแห่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจกลุ่มทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ถือเป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

งานวิจัยชิ้นที่สองเป็นเรื่องของการสะสมทุนในประเทศไทยที่เน้นการศึกษาในกรณีธุรกิจสุรา
โดย ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการสะสมทุนที่ทำให้ตระกูลหนึ่งสามารถสร้างสมบัติได้อย่างมากมายในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นคนไทยที่รวยที่สุดในประเทศ ( คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ) เนื่องจากมีการสร้างสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นทางการเมืองทำให้มีอำนาจในการเข้าถึงการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐ คือ การได้ครอบครองสิทธิผูกขาดในตลาด การได้รับสัมปทานในธุรกิจสุรา การได้เงินจากค่าเช่าที่เกิดจากการโอนทรัพยากรและการผูกขาดในตลาด ชึ้ให้เห็นว่าการสะสมทุนได้อย่างมากมายในธุรกิจประเภทนี้มาจากการผูกขาดทั้งฐานอำนาจและฐานทางการเงิน อย่างไรก็ตามภายใต้กระแสสมัยใหม่ของสังคมปัจจุบัน ด้วยบทบาทที่เพิ่มขึ้นของประชาสังคมจึงเกิดแรงต้านอย่างมากในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของธุรกิจประเภทนี้ ส่งผลให้การสะสมทุนไม่สามารถดำเนินการโดยผ่านเครือข่ายแบบอุปถัมป์ได้เหมือนเดิมเนื่องจากการถูกสอดส่องดูแลจากประชาสังคมนั่นเอง

งานวิจัยชิ้นที่สามศึกษาบริษัทข้ามชาติไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 : พลวัตรการเปลี่ยนแปลงและข้อสรุป โดย ผศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกลวิธีในการสะสมทุนจากแต่เดิมที่เน้นการสร้างเครือข่ายมาเป็นการพยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยความสามารถด้านเทคโนโลยี ทำให้บริษัทข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพยากรในกระแสโลกาภิวัติน์ เท่ากับว่าเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่เครือข่ายระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติไทยในปัจจุบันได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ดุสิตธานี เอสแอนด์พี และบ้านพู อย่างไรก็ตามยังคงมีความพยามยามในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคมเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในการสะสมทุนในตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

งานวิจัยชิ้นที่สี่ศึกษาเรื่องพลวัตทุนข้ามชาติในประเทศไทยหลังวิกฤต2540โดย อ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล และ คุณอำนาจ มานะจิตประเสริฐ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าหลังวิกฤต 2540 แต่ละบริษัทในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น มีการเริ่มจะสมทุนใหม่อีกครั้งจนสามารถซื้อหุ้นคืนจากบริษัทต่างชาติได้ และในช่วงดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติก็ขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ในช่วงเศรษฐกิจเพื่อทำกำไรกลับคืนนอกจากนั้นการที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก(WTO) ก็เป็นผลทำให้เงินทุนทั่วโลกเบนความสนใจไปที่จีนมากขึ้น การสะสมทุนไทยในช่วงนี้จึงเป็นการสะสมภายในเพื่อความมั่นคงในบริษัทประกอบกับเริ่มมีการลงทุนร่วมกับต่างชาติมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นที่ห้าศึกษาเรื่องสองนคราค้าปลีกไทย : เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยพลวัตรบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติโดย คุณวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร งานชิ้นนี้เน้นพิจารณาพลวัตบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติในไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ ( Hypermarket ) หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ อาทิเช่น Tesco - Lotus, Bic –c เป็นต้น ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยผ่านนายทุนภายในประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้บรรษัทเหล่านี้เข้ามาดำเนินกิจการอย่างเต็มตัว สองนคราค้าปลีกไทยชี้ให้เห็นถึงความต่างของการเข้าไปมีอิทธิพลของ Hypermarket ในสองพื้นที่ พื้นที่แรกคือ ในเขตเมืองใหญ่ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่อื่นเป็นพิเศษ จึงมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อราคาสินค้าทำให้บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของอย่างจริงจัง เป็นผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยต้องล้มเลิกกิจการตามๆ กันไป อีกพื้นที่หนึ่งคือ พื้นที่ในระดับท้องถิ่น ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกับสังคมเมืองทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถรวมตัวกันต่อรองบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่ากรณีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกท้องถิ่น แต่ก็เห็นได้ชัดว่าแม้ทุนในท้องถิ่นจะไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่แต่ก็มีความเข้มแข็งในตัวของมันเอง

งานวิจัยชิ้นที่หกศึกษาธนาคารพาณิชย์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พลวัตการปรับตัวและการแข่งขันใหม่ โดย อ. อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และ อ. รัตพงษ์ สอนสุภาพ แบ่งการศึกษาพลวัตรของธนาคารพาณิชย์ไทยออกเป็นช่วงๆ ดังนี้ ช่วงแรก 1947 – 1973 ยุคของระบบอุปถัมป์ ( Patron – Cilent Relation ) รัฐบาลทหารและเจ้าสัวเป็นเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่ภายใต้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วงที่สอง 1973 – 1977 ยุคที่อำนาจรัฐมีบทบาทน้อยลงในขณะที่กลุ่มธนาคารเติบโตขึ้น และประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ของเจ้าสัวเติบโตและขยายสินเชื่อตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ช่วงที่สาม 1977 – ปัจจุบัน การเปิดเสรีทางการเงินซึ่งเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ทำธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการแข่งขันทั้งธนาคารภายในประเทศและภายนอกประเทศ ระบบพึ่งพาทางการเมืองจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

งานวิจัยชิ้นที่เจ็ดศึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ โดยดร. พอพันธ์ อุยยานนท์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระคลังข้างที่ (The Privy Purse Bureau) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสมัย ร.5 มีบทบาทจำกัดอยู่ในการลงทุนระยะยาว ผ่านทางการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจและให้บริษัทลงทุนลดาวัลย์ดูแลจัดการในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยปัจจัยหลายประการแสดงให้เห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินฯยังคงมีพลังและอำนาจเหนือการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นการปรับนโยบายเรื่องค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแสดงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งสะสมทุนรายใหญ่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ

งานวิจัยชิ้นที่แปดศึกษาแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสู่ทุนนิยมเสรีข้ามชาติ โดย ดร. สักรินทร์ นิยมศิลป์ เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภทนี้มีความสำคัญทั้งในแง่มูลค่าการผลิต การส่งออกและการจ้างงาน อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กลุ่มทุนไทยขาดสภาพคล่องทำให้ทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทนำ เปลี่ยนจากการผลิตภายในประเทศเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก อุตสหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์จึงถูกเปลี่ยนมือไปเป็นบริษัทโดยการลงทุนของต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
งานวิจัยชิ้นที่เก้าศึกษาบทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อในกระแสโลกาภิวัตน์ กรณีศึกษาจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออก โดย ดร. ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ และ คุณโอฬาร ถิ่นบางเดียว เน้นศึกษาบทบาทของ เจ้าพ่อซึ่งก็คือนายทุนท้องถิ่นที่ก่อรูปขึ้นมาจากการสะสมทุนเบื้องต้นก่อนเกิดระบบทุนนิยม อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้ใความหมายของคำว่า เจ้าพ่อไว้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนายทุนไทยในกระบวนการสะสมทุนไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยใช้อิทธิพลเหนือกฎหมายในการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ เป็นผลเจ้าพ่อเหล่านี้ต้องมีการสะสมทุนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมผสมผสานกับการใช้ระบบอุปถัมป์ เพื่อให้เกิดภาวะต่างตอบแทนซึ่งกันและกันอันจะทำให้สภาวะของการมี “อำนาจ” คงอยู่ต่อไป

จากการศึกษางานวิจัยทั้ง 9 ชิ้นจะเห็นได้ว่าการสะสมทุนจากหน่วยเล็กๆ ภายในครอบครัวเป็นกลไกหนึ่งที่นำสังคมเข้าสู่ระบบทุนนิยม นอกจากนั้นทุนกับรัฐไม่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพิงอาศัยกันในลักษณะที่ “รัฐพึ่งทุน ทุนพึ่งรัฐ” โดยมีกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนรูปแบบของการสะสมทุนและความสัมพันธ์ทางอำนาจให้เปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เหมาะสม และทุนที่มีอัตราการก้าวหน้าและการสะสมทุนที่เหนือกว่าทุนอื่นๆ ล้วนเกิดมาจากการใช้ “อภิสิทธิ์” ของความเหนือว่าแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่นายทุนระดับท้องถิ่นจนถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา

นายรดมยศ มาดเจือ

"เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา ภาระใหม่ของเกษตรกร
"


เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา
หมายถึง การทำเกษตรกรรมแบบรับจ้างซึ่
งทำให้เกิด “ สัญญาทาส ” ขึ้นมา และกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการหากินของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม ที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงเองแต่ปัดภาระนี้ไปยังเกษตรกรเป็นผู้รับแทน ทำให้เกษตรกรเกือบทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อการเป็นทาสยุคใหม่ในที่ดินของตัวเองหรือโรงเลี้ยงสัตว์ของตัวเองแบบดิ้นไม่หลุด เพราะว่าเป็นการติดกับดักลงทุนล่วงหน้าไปแล้วโดยการกู้ธนาคาร หรือแหล่งการเงินอื่นๆที่ทำให้ต้องหารายได้มาชำระดอกเบี้ยเป็นประจำ

เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา เป็นระบบการทำสัญญาซื้อล่วงหน้าเหมือนกับตลาด ของกลุ่มทุนการเงินโดยขึ้นกับเงื่อนไข 4 ประการ คือ 1. ราคา 2.เวลา 3.ปริมาณ 4.คุณภาพสินค้า ซึ่งหมายความว่าผลผลิตต้องเก็บเกี่ยวเสร็จหรือโตได้ตามขนาดมาตรฐานที่กำหนด โดยบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมผู้รับซื้อ และในบางกรณีบริษัทเองก็เป็นผู้ลงทุนด้วย หากผลผลิตไม่ครบตามเงื่อนไข 4 ประการ ผู้ซื้ออาจจะไม่รับซื้อ หรือปรับให้ราคาต่ำกว่าที่ตกลงกัน

ลักษณะของเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา จะมี 2 รูปแบบ คือ 1. สัญญาแบบประกันค่าแรง 2. สัญญาแบบประกันรับซื้อผลผลิต

1.การทำสัญญาแบบประกันค่าแรง คือ สัญญาที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดในด้านพันธุ์ หัวอาหาร ปุ๋ย ยารักษาโรค และย่าฆ่าแมลง โดยจัดทำเป็นสินเชื่อล่วงหน้าหากราคาปัจจัยการผลิตเหล่านี้ขึ้นหรือลง บริษัทเป็นผู้รับความเสี่ยง ส่วนเกษตรกรต้องลงทุนด้านที่ดินและโรงเรือน เกษตรกรจะได้รับความเสี่ยงเพียงในด้านผลผลิตที่ต้องให้ได้มาตรฐานเท่านั้นและเกษตรกรที่ลงทุนเรื่องที่ดินและแรงงาน ซึ่งหมายถึง การสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก และค่าใช้จ่ายแปรผันต่างๆ ถ้าเกษตรกรไม่มีเงินบริษัทจะค้ำประกันเงินกู้ให้ ส่วนค่าแรงคิดจากราคารับซื้อผลผลิตตามที่ตกลงกัน และการทำสัญญาประเภท บริษัทจะเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมมาให้และโดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในเครือ ซึ่งเป็นวิธีการอีกแบบหนึ่งในการระบายสินค้าที่มีต้นทุนต่ำแต่ได้ในราคาที่สูงแบบหนึ่ง ถ้าเกษตรกรที่ฝ่าฝืนไม่ยอมใช้ตาม ที่บริษัทกำหนดก็จะถูกลงโทษ โดยการงดส่งอาหาร หรือไม่ขายพันธุ์ให้ เพราะบริษัทจะอ้างว่าผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่รับซื้อสินค้าหรือ ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมากๆ อันเป็นการลงโทษที่โหดร้ายต่อเกษตรกรอย่างมาก

2. สัญญาแบบประกันรับซื้อผลผลิต การทำสัญญาประเภทนี้ บริษัทได้ทำสัญญารับซื้อ ไก่หรือหมูล่วงหน้าในราคาตายตัว เช่น 5 บาท หรือ 10 บาทต่อไก่ 1 กิโลกรัม ส่วนเกษตรกรจะเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงเรือน และปัจจัยการผลิตอื่นๆเอง โดยบริษัทจะทำสัญญารับซื้อผลผลิตในราคาประกันตามที่ตกลงกันไว้อย่างมีเงื่อนไขเพื่อที่ว่าจะได้ผลผลิตตามมาตรฐานของบริษัท หากว่าเกษตรกรไม่มีทุนบริษัทก็จะค้ำประกันเงินกู้ให้ เพราะ กลุ่มบริษัทต้องการปรับปรุง ระบบการเลี้ยงตามแรงกดดันของตลาดต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศอียูที่มักจะหาข้ออ้างมาเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อที่จะกีดกันสินค้าทางอ้อม ทำให้ต้นทุนสูงเพื่อจะได้ไม่สามารถแข่งขันกับผลผลิตในประเทศของตน

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา คือ การที่รัฐเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิด เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาขึ้น เพราะ เพราะรัฐบาลต้องการหลักประกันด้านการผลิต และอยากนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้เพื่อความก้าวหน้า แต่การทำเช่นนี้ก็เป็นการผลักภาระให้กับชุมชน ทำให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศ มีหนี้สินตามมาอย่างมาก โดยผลกระทบที่เกิดและเห็นได้ชัด คือ การระบาดของไข้หวัดนกที่เกษตรกรทำการเลี้ยงไก่ในระบบฟาร์มเปิด แต่เมื่อมีการระบาดของไข้หวัดนกขึ้น ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ เพราะ จะต้องทำลายไก่ให้หมด และต้องแบกภาระต้นทุนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ไม่ได้ทดแทนค่าเสียหายรัฐบาลก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ หรือจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมกับความเสียหายของเกษตรกรที่ต้องทำลายไก่ทั้งหมด จริงอยู่ที่ประเทศไทยที่กำลังจะพัฒนามีเกษตรกรรายย่อยเป็น จำนวนมาก ซึ่งเป็นเสมือนผู้ผลิตรายย่อย ดังนั้นเป้าหมายของเขาคือ การมีที่ดินเป็นของตัวเอง และทำธุรกิจขนาดย่อมของครอบครัว ไม่อยากจะสูญเสียที่ดิน และแรงจูงใจหลักในการทำงาน คือ การพัฒนาสถานภาพของตนเองในลักษณะแข่งกันเองกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการปกป้องที่ดินและธุรกิจของตนเองจากการคุกคามของกลุ่มทุนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันภาคการเกษตรสมัยใหม่ต้องลงทุนเทคโนโลยีสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตให้ได้มาตรฐาน และสถานการณ์แบบนี้ทำให้เกษตรกรรายย่อยกำลังเผชิญ วิกฤตระยะยาว มีแนวโน้นที่จะล้มละลายสูง และมีแนวโน้มที่จะเป็นกรรมมาชีพรับจ้างในเมืองในภาคเกษตร ส่วนที่พออยู่รอด ต้องเข้าไปผูกพันตนเองกับกลุ่มทุนใหญ่ในเกษตรพันธะสัญญา เช่น การที่เกษตรกรไทยมีสัญญา เลี้ยงไก่กับบริษัท CP หรือบริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกษตรกร ต้องเข้ามาทำสัญญานี้ เพราะ เกษตรกรรายย่อยไม่มีความสามารถในการระดมทุนและเทคโนโลยีนั้นเอง

และสุดท้ายที่กระผมจะกล่าวถึง คือ เรื่องของผลกระทบต่อการพัฒนา ก็คือเกษตรกรเหมือนกับ สัตว์ที่ติดกับดัก ไม่มีทางจะดิ้นหนีออกไปได้ เพราะว่าได้กู้เงินมาลงทุนไปแล้ว ถ้าจะถอยก็จะหมดตัว เพราะไม่มีเงินจ่ายคืนหนี้เงินกู้ บางบริษัทยังมีเงื่อนไขในสัญญาซื้อว่าขึ้นต่อปริมาณความสามารถของโรงงานซึ่งบางครั้งปิดตัวเองลง บริษัทก็ไม่ยอมรับซื้อ โดยไม่ผิดสัญญา แต่เกษตรกรกลับไม่มีทางออก อาจจะต้องทำลายผลผลิตทั้งหมดทิ้ง จึงทำให้ต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะหลวมตัวเข้าทำสัญญาการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่ควบคุมโดยบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมไม่กี่บริษัทในแต่ละประเทศ ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก และการเกษตรแบบพันธะสัญญาได้ทำลายห่วงโซ่อาหารของหลายๆ ประเทศ เพราะเกษตรกรถูกล่อลวงให้ละทิ้งการผลิตพืช ที่เป็นธัญญาหาร หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือพืชอุตสาหกรรม หรือพืชเพื่อการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ ก็ต้องใช้สารเคมีช่วยอย่างหนัก เช่น ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อโดนน้ำชำระ ก็จะไหลซึมลงสู่ดิน ลงสู่น้ำบาดาล และลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง หรือทะเล ไปทำลายห่วงโซ่อาหารในน้ำอีก ทำให้วงจรอาหารตามธรรมชาติถูกทำลาย เมื่อมนุษย์ได้ดื่ม หรือกินสารปนเปื้อนก็จะทำให้เป็นมะเร็ง และโรคอื่นๆ ห่วงโซ่อาหารที่ถูกทำลายทำให้เกิดความอดอยากและโรคระบาด

การเกษตรแบบแบบพันธะสัญญาทำให้ชีวิตของเกษตรกร ต้องไปผูกต่อระบบความไม่แน่นอนของสงครามการค้าในระดับโลก ซึ่งมักจะนำข้ออ้างเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้า ผลคือเมื่อตลาดต่างประเทศถูกปิด หรือถูกกีดกัน บริษัทเกษตรอุตสาหกรรม ก็มักจะปัดภาระมาที่เกษตรกร โดยการไม่ยอมรับซื้อผลผลิตตามที่ตกลงกัน โดยอ้างถึงความไม่มาตรฐานต่างๆ โดยไม่ผิดสัญญา การเกษตรแบบพันธะสัญญาจึงเป็นอันตรายและคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรจะมองข้ามกัน