7.28.2551

เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี

นางสาวเอมอร เวชยันต์วิวัฒน์

สมุดปกเหลือง
คอมมิวนิสต์ในอดีตหรือการพัฒนาในปัจจุบัน


เค้าโครงเศรษฐกิจเกิดขึ้นจาก ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายจากคณะราษฎร และรัฐบาลซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ขณะนั้น ให้ทำการร่างแผนเกี่ยวกับเศรษฐกิจขึ้น


สาระสำคัญของเนื้อหาในเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ เริ่มแรกจะมีคำชี้แจ้งว่าในการพิจารณาหรืออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ควรวางใจเป็นกลาง ไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน และควรขจัดทิฐิมานะออก และในส่วนเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 11 หมวด ปรีดี พนมยงค์ได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยต้องการให้บรรลุหลักข้อ 3 ของประกาศคณะราษฎร หลักซึ่งเกี่ยวแก่เศรษฐกิจของประเทศมีความว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยเค้าโครงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบแต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ.“ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล


แต่เมื่อนายปรีดีได้นำร่างเค้าโครงเศรษฐกิจนี้เสนอต่อรัฐบาล ปรากฏว่าอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งขึ้นมากลั่นกรองส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่อนุกรรมการส่วนน้อย อันนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังเป็นผู้คุมอำนาจอยู่ เมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นายปรีดีจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐบาลจึงร่วมมือกับทหารบางกลุ่มทำการยึดอำนาจด้วยการปิดสภาและออก พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ออกแถลงการณ์ประณามนายปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจำต้องเดินทางออกนอกประเทศไป และหลังจากนั้นก็ได้มีการออกสมุดปกขาว ซึ่งก็คือ พระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ออกโจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ของปรีดี พนมยงค์


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ของปรีดี พนมยงค์ เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีนัยสำคัญต่อสังคมไทย 2 ประการ โดยจะเห็นได้ว่าเป็นนัยของการพัฒนา คือ
1. เป็นร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทยที่เสนอแนวทางเศรษฐกิจแห่งชาติแบบสังคมนิยม ภายใต้กรอบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
2. ผลของการเสนอ “สมุดปกเหลือง” ก่อให้เกิดวาทกรรมระหว่างกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง ซึ่งแตกต่างกัน 2 ขั้ว ในคณะรัฐบาลชุดแรกของระบอบประชาธิปไตยไทย
ขั้วหนึ่ง คือ กลุ่มหัวก้าวหน้าในคณะราษฎร นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้เป็นตัวแทนทัศนะเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบอ่อนๆ
อีกขั้วหนึ่ง คือ กลุ่มศักดินา-ขุนนาง-ทหาร นำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้เป็นตัวแทนทัศนะเศรษฐกิจบริวารโลกทุนนิยมเสรี โดยได้มีการกล่าวหาว่าปรีดี พนมยงค์เป็นคอมมิวนิสต์ และทำให้เค้าโครงเศรษฐกิจนี้มิได้มีผลบังคับใช้


แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนี้จะมิได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับในแวดวงวิชาการในปัจจุบัน เช่น ในทัศนะของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนั้นท่านปรีดีได้มีคำชี้แจงชัดเจนว่า ได้มีการหยิบเอาส่วนดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศมานำเสนอในเค้าโครง และชี้อย่างชัดเจนว่าการจะร่างนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีนั้น ต้องขจัดเอาประโยชน์ส่วนตนและทิฐิมานะออก และต้องมีใจเป็นกลาง เจตนารมณ์ของ สมุดปกเหลืองเค้าโครงทางเศรษฐกิจของท่านอาจารย์ปรีดี คือ ต้องการเปิดโอกาสและปูทางให้ประชาชนสามัญชนทั้งหลายเข้ามามีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการเศรษฐกิจตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ และที่สำคัญต้องทำให้ประเทศมีเอกราชทางเศรษฐกิจ ความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดีก็ได้ถูกนำมาใช้ในปัจจุบันหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าความคิดทางเศรษฐกิจหลายประการอาจจะล้ำสมัย จึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในระยะนั้นไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจเนื่องจากไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสหกรณ์ทางเศรษฐกิจของชุมชน ระบบประกันสังคม ระบบภาษีที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และได้มีผู้เห็นว่าแนวความคิด ในเค้าโครงเศรษฐกิจ มิใช่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ ดังที่ถูกกล่าวหา แต่เป็น แบบที่ นายปรีดี กล่าวว่า “โปลิซีของข้าพเจ้านั้น เดินแบบโซเชียลลิสม์ ผสมลิเบรัล” ดังจะเห็นได้ว่า ในเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว มีการรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนไว้ ในหมวดที่ 3 เช่นเดียวกับที่มีในประเทศเสรีนิยมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย


นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าแม้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ จะมิได้มีผลบังคับใช้ แต่สาระสำคัญในเค้าโครงเศรษฐกิจ ก็ได้รับนำมาปฏิบัติก็เป็นแบบฉบับของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างเป็นระบบ และความคิดหลายอย่างในเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว ก็ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างได้ผลดี ทั้งในสมัยที่เขาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และหลังจากสมัยของปรีดี อาทิเช่น การก่อตั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย การจัดระบบ การเก็บภาษีที่เป็นธรรม (ประมวลรัษฎากร) การปรับปรุง ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้สอดคล้องกับ ระบบการเมืองใหม่ และการประกันสังคม แก่ราษฎรทั่วหน้า โดยปรีดี พนมยงค์เป็นนักการเมืองคนแรก ที่ริเริ่มแนวความคิด ที่จะให้ราษฎรทุกคน ได้รับการ ประกันสังคม (Social assurance) จากรัฐบาล โดยระบุไว้อย่างชัดเจน ในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ แต่น่าเสียดาย ที่ร่างของแนวความคิดดังกล่าว ถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมให้แก่ประชาชน ก็เป็นร่วงเลยไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก

ไม่มีความคิดเห็น: