7.28.2551

ความสุขมวลรวมประชาชาติ

ณัฐภัทร จิราพงษ์


Gross National Happiness(GNH) หรือที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH กลายเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาประเทศยุคใหม่ โดยยึดหลักว่าการพัฒนาด้านวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาสังคมมนุษย์ที่แท้จริง ในขณะเดียวกัน กระแสของGNH ได้สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ความทันสมัย รายได้ของประชากร ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของการพัฒนาได้
และไม่ทำให้คนมีความสุขอย่างแท้จริง เพราะการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ตามเกณฑ์ของการพัฒนา ทำให้เกิดผลเสียหายต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะแวดล้อมเป็นพิษ รวมถึงการสูญเสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่ไม่ก่อให้เกิดสุขภาวะทั้งทางร่างกายและด้านจิตใจของมนุษย์

ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH นั้นเป็นหลักการบริหารประเทศของภูฏาน ที่ปฏิเสธการมุ่งพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยไปแต่สนับสนุนให้เกิดความพึงพอใจในสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็นแก่ประชาชนซึ่งการพัฒนาทั้งหมดเน้นไปที่ตัวคนเป็นศูนย์และใช้คนเป็นหลักในการบ่งชี้ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศมีนโยบายหลัก 4 ประการ เรียกว่า 4 เสาหลักเพื่อความสุข(Four pillars of happiness)1 ได้แก่

ประการที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน(Sustainable economic development) การเข้ามาของระบบทุนนิยมในภูฏานจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยสิ่งที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ ให้เอาความสุขของชาวภูฏานเป็นตัวตัดสินไม่ใช่วัดที่จำนวนเงินและทรัพย์สินที่เป็นวัตถุสิ่งของ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค

ประการที่ 2 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of Environment) การพัฒนาใดๆ จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ภูฏานจึงยกเลิกการค้าไม้กับต่างชาติ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้ และปลูกเพิ่มเติม รวมถึง สัตว์ป่าก็ได้รับการดูแลอย่างดี โดย 26% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมดถูกจำกัดให้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

ประการที่ 3 การส่งเสริมและสงวนรักษาวัฒนธรรมประเพณี (Preservation and Promotion of Culture) รัฐบาลก็จะส่งเสริมและให้ชาวภูฏานยึดถือและปฏิบัติตามแบบแผนดั้งเดิมที่เคยทำกันมา เช่นวัฒนธรรมการแต่งกาย การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ส่วนวัฒนธรรมตามกระแสทุนนิยม รัฐบาลเองต้องเป็นคนคัดเลือกที่จะรับและผ่อนปรนในเกณฑ์ปฏิบัติ รวมทั้งการให้การศึกษากับเด็กชาวภูฏาน ที่ต้องให้ความรู้ทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ควบคู่ไปกับตำราเรียนทางวิชาการด้วย

ประการที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล (Good Governance) คือเน้นให้ชาวภูฏานดำรงชีวิตบนพื้นฐานที่จะช่วย พัฒนาสังคมทั้งระบบให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพโดยยึดถือหลัก 6 ประการ เช่นความซื่อสัตย์สุจริต ความมีคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานยังมีปัญหาอยู่มากพราะ รัฐบาลยังไม่ได้พัฒนา ตัวชี้วัดความสุขออกมาเป็นมาตรฐานอ้างอิง หรือกำหนดองค์ประกอบของความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือความสุขในระดับปัจเจกบุคคล และไม่มีการพัฒนาตัวชี้วัดทั้งทางคุณภาพและเชิงปริมาณ ตลอดจนวิธีการคำนวณวัดออกมาอย่างลงตัว ถึงแม้จะไม่มีเกณฑ์วัดเป็นมาตรฐานตายตัว แต่ก็มีความพยายามที่จะสร้าง ดัชนีชี้วัดความสุขขึ้นมา ในประเทศไทยนั้น สภาพัฒน์ฯ ก็ได้จัดทำไว้โดยมีหลักสำคัญอยู7 เรื่องือ สุขอนามัย ความรู้ ชีวิตการทำงาน รายได้และการกระจายรายได้ภาพแวดล้อม ชีวิตครอบครัว และการบริหารการจัดการที่ดีของภาครัฐ

เมื่อใช้กรอบการวิเคราะห์วาทกรรมกับเหตุการณ์ ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยเมื่อพ.ศ. 2540 จะพบว่าได้เกิดกระบวนการสร้างวาทกรรมให้กับ ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ขึ้นในสังคมไทย มี การเชื่อมโยง ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH เข้ากับ แนวคิดระบอบเศรษฐกิจพอเพียง(ภายหลังกลายเป็นวาทกรรมเช่นเดียวกัน) เพื่อต่อต้านกับ แนวคิดการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบอยู่ขณะนั้น เกิดกลไกการสร้างวาทกรรมให้กับดัชนี NGH โดย สร้างเครือข่ายโยงใยกับสถาบันกษัตริย์ผ่านแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและพระจริยวัตรอันงดงามของเจ้าชายจิกมี แห่งภูฏาน แนวคิดของนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนของไทย เกิดเป็นแนวปฏิบัติใหม่ในทางเกษตรกรรม วิถีการดำรงชีวิตของประชาชน และความรู้แขนงใหม่ในสังคม เพราะฉะนั้น เราต้องมอง ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ในระดับทางเลือกของการพัฒนา มิใช่มองมันป็นคำตอบของการพัฒนา มองพ้นจากวาทกรรมการพัฒนา(development discourse)มาเป็นการพัฒนาวาทกรรม(discourse development) เพื่อให้เราสามารถหาคำตอบที่แท้จริงสำหรับการแก้ปัญหาที่ การพัฒนาสร้างเอาไว้ ได้เสียที

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

........เพราะฉะนั้น เราต้องมอง ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ในระดับทางเลือกของการพัฒนา มิใช่มองมันป็นคำตอบของการพัฒนา มองพ้นจากวาทกรรมการพัฒนา(development discourse)มาเป็นการพัฒนาวาทกรรม(discourse development) เพื่อให้เราสามารถหาคำตอบที่แท้จริงสำหรับการแก้ปัญหาที่ การพัฒนาสร้างเอาไว้ ได้เสียที......

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง development discourse กับ discourse development ครับ อยากให้ผู้เขียนช่วยชี้แจงได้มั้ยครับ
คือผมไม่เข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไรครับ นิสิตรัฐศาสตร์น่าจะช่วยอธิบายตรงนี้ได้มากกว่านี้