7.28.2551

การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวรวุฒิ อุทัยธรรมกิจ

นับตั้งแต่ทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ เมื่อระบบเศรษฐกิจที่จากเดิมเป็นการผลิตเพื่อยังชีพก็เปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตเพื่อการพาณิชย์ หรือที่เรารู้จักในชื่อของทุนนิยม ซึ่งได้มีบทบาทอย่างสูงในการชี้วัดว่าประเทศใดจะเจริญหรือไม่เจริญก็ด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตก็มักจะมองกันที่อุตสาหกรรม ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ จนเกิดผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้ทรัพยากรต่างๆทั้งถูกนำไปใช้และถูกทำลายมากขึ้น เพื่อรองรับสิ่งที่เราเชื่อกันว่าจะนำพาเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

มีคำกล่าวของ นายสันติ บางอ้อ อดีตรองเลขาธิการ ศสช. ได้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างเมืองกับชนบท จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวแต่ก็มิได้มีความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ปัญหาสังคมก็เริ่มตามมา ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอลงทุกวัน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

จากคำกล่าวข้างต้น ทำให้เราต้องเริ่มตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คนรุ่นหลังก็จะประสบปัญหาในการเรียกหาทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ประสบปัญหาในการมีคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือปัญหาอื่นๆที่เราควรจะตระหนักถึงและให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวใหม่ที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

การพัฒนาที่ยั่งยืน หากเราจะมองกันในแนวของวาทกรรมก็คงหนีไม่พ้นกรอบคิดที่ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้การพัฒนาด้วยการแตกแนวคิดใหม่ที่ถูกผสมผสานระหว่างแนวคิดเดิมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้วาทกรรมการพัฒนา แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ การพัฒนาได้ทำประโยชน์ต่างๆมากมายให้กับสังคมโลก และมนุษย์เองก็ต้องการการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นการพัฒนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นว่าจะต้องทำอย่างไรให้คนรุ่นหลังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อพัฒนาต่อไปได้มากกว่า

การพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินและคุ้นหูกับคำคำนี้แต่อาจจะเข้าใจรายละเอียดที่จะเจาะลึกลงไปได้มากน้อยแตกต่างกัน แต่ได้อ่านคำนิยามต่างๆอาจจะทำให้เราเข้าใจการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากขึ้น คำนิยามจากการประชุมสมัชชาโลกเมื่อปี 2530 ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถในการที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง”
ของทางพระธรรมปิฎก (ปยุตฺ ปยุตฺโต) อธิบายไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนมีลักษณะที่เป็นบูรณาการ คือทำให้เกิดเป็นองค์รวม หมายความว่า องค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกับครบองค์ และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือ มีดุลยภา หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ การทำให้กิจกรรมมนุษย์สอดคล้องกับเกณฑ์ของธรรมชาติ”
เราสามารถเข้าใจการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ง่ายขึ้นว่า “เป็นการทำให้ก้าวหน้าต่อไปโดยไม่ทำลายทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้และเป็นที่ตองการในอนาคต”

เมื่อเราพอเห็นภาพคร่าวๆของการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว สิ่งที่เราควรจะรู้ต่อไปก็คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ที่แต่เดิมนับแต่เริ่มใช่แผนพัฒนาฯซึ่งเน้นการพัฒนาเป็นด้านๆไป มาสู่การพัฒนาที่เป็นองค์รวม ให้ความสำคัญกับทุกๆด้าน ที่นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยยึดเอาคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา พร้อมกันนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) เองก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีร่วมร่วมในกระบวนการพัฒนาให้มากที่สุด
สำหรับแนวทางของ สศช. ที่ได้มีการนำเสนอ นั้นมีตั้งแต่ การพัฒนาคนและการคุ้มครองทางสังคม การปรับโครงสร้างพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน การบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน การค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ เหล่านี้ล้วนมีการพูดถึงกันมาและมีการระบุลงไปในแผนพัฒนาฯตั้งแต่ฉบับที่ 8 เรื่อยมาจนถึงฉบับล่าสุดคือฉบับที่10 นอกจากนี้ สศช. ยังได้มีการอัญเชิญ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นให้การดำรงชีวิตของคนไทยทุกระดับมีความมั่นคง ยืนด้วยขาของตัวเองได้บนพื้นฐานของการรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล ซึ่งถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีปัจจัยใดๆเข้ามากระทบ ก็จะสามารถอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนในการดำเนินงานทุกขั้นตอน และจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานของจิตใจให้ทุกคนมีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคนในชาติมีสำนึกอยู่ในศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม ตลอดจนละเลิกจากกิเลสตัณหา มีสติปัญญาคิดเห็นไตร่ตรองเหตุผล ทุกอย่างก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลกัน ซึ่งจะนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข


สำหรับแผนพัฒนาฉบับที่ออกมาในช่วงหลังๆ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นศูนย์กลางในการที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่าง การพัฒนาในด้าน เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่ดีมีสุขของประชาชนตลอดไป
และเพื่อให้แนวคิดนี้สัมฤทธิ์ผล ทาง สศช.เองได้มีการพิจารณาปัญหาในเชิงพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำหรืออ่าวที่มีปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน หรือเป็นสายการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่วนในด้านหน้าที่ นอกจากจะยอมรับในการมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ รัฐจะต้องมีการปรับบทบาทจากผู้ควบคุมสั่งการมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกและประสานงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาและในด้านการมีส่วนร่วม เพราะทุกฝ่ายต่างเป็นผู้รับผลของการพัฒนา ทั้งในเชิงบวกและลบ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา แม้ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็จริง แต่ในมิติของความยั่งยืนแล้วการพัฒนาในด้าน เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพออีกต่อไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กรอบคิดของสศช. มีความแคบไป ทั้งๆที่เป้นสิ่งสำคัญซึ่งเราไม่ควรละเลยไป อันได้แก่
1. ความเสมอภาค เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ถูกละเลยไป เพราะในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การพัฒนาคน หรือคุณภาพชีวิตของประชากรไม่เป็นไปตามที่หวัง
2. ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเทคโนโลยีที่เป็นทุนความรู้ของชาติ (เขียนปะปนกันในเรื่องของสังคมทำให้ความสำคัญด้อยลง) ที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งไทยเคยเสียเปรียบต่างชาติจนขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเกิดวิกฤติหนี้สินต่างประเทศมาแล้ว
3. ไม่ได้เอ่ยถึงมิติด้านสันติภาพทั้งๆที่เป็นหัวใจของความยั่งยืน เพราะวิกฤตหลายๆอย่างในสังคมไทยโดยใช้สันติวิธี ในวิถี สันติธรรม โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐกับประชาชนที่นับวันยิ่งจะมีมากขึ้นตามลำดับ
4. ไม่เน้นเรื่องของประชาธิปไตย ทั้งๆที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการพูดถึงเรื่องของการมีส่วนร่วมก็เป็นเพียงแค่ผิวเผิน อันที่จริงการหลบ-หลีก-เลี่ยงที่จะเขียนถึงเรื่องการเมืองและโครงสร้างอำนาจมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้กรอบคิดการพัฒนาที่ใช้อยู่ไม่ยั่งยืนและขาดน้ำหนักลงไปมากเท่านั้น การปฏิเสธการเมืองภาคประชาชน ก็เท่ากับการปฏิเสธการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อมิติสำคัญขาดหายไปหรือไม่ได้รับการเน้นย้ำ “พัฒนาที่ยั่งยืน” ก็คงเป็นได้แค่ชื่อ เป็นได้แค่แบบ “หัวมงกุท้ายมังกร” หากบูรณาการไม่เป็นระบบ การนำไปปฏิบัติอาจเกิดปัญหา และท้ายที่สุดอาจเข้าอีหรอบเดิมวกกลับเข้ากรอบ “เสรีนิยมใหม่” อันเป็นตัวตนเดิมของสภาพัฒน์หรือไม่ แม้แนวนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ แต่ก็ควรถือว่าเริ่มเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะนำไปสู่การดูแลรักษา พัฒนาโดยคิดคำนึงถึงคนรุ่นต่อๆไป มิใช่เป็นเพียงแค่แผนนโยบายที่สวยหรูที่เขียนไว้เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยก็ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเดียวกันกับนานาประเทศเท่านั้น และแม้จะเริ่มมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับ 8 และ 9 แต่ทว่ารัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเท่าที่ควร ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเข้าหาการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเล็งเห็นถึงประโยชน์สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มากกว่าที่ควรจะเป็น

ไม่มีความคิดเห็น: