9.08.2551

คดีผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีคลิตี้

นางสาวดวงเดือน สอดศรี

คดีผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีคลิตี้

ข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้านคลิตี้ล่าง
ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง ตอนบน
จำนวนพื้นที่ : 60,650ไร่
ประเภทป่าตามกฎหมาย : เขตป่าสงวนแห่งชาติ
สภาพพื้นที่ : ภูเขาหินปูน ป่าดิบแล้งสลับเบญจพรรณ
จำนวนครัวเรือน : 46 หลังคาเรือน ประชากร 228 คน แบ่งเป็น หมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ 18 หลังคาเรือน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ 28 หลังคาเรือน


คลิตี้เป็นคำไทยที่เพี้ยนมาจากภาษากระเหรี่ยงว่าคี่ถี่ แปลว่าเสือโทน (เสือเมื่อโตเป็นหนุ่มจะแยกไปอยู่ลำพังตัวเดียว เรียกว่าเสือโทน) ภาษาไทยจึงเรียกว่าทุ่งเสือโทน ในสมัยก่อนบริเวณทุ่งแห่งนี้มีเสืออาศัยอยู่จำนวนมาก แต่มีเสือโทนตัวหนึ่งใหญ่ที่สุดพบเห็นรอยเท้าขนาดเท่าช้าง อาณาบริเวณการหากินครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ลำคลองงู แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อย
ความเป็นมาและปัญหาการปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้


การปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ บริเวณลำห้วยระหว่างหมู่บ้านคลิตึ้บนถึงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และไหลต่อลงไปยังลำคลองงู ซึ่งเป็นส่วนบนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ ต. ชะแล อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี มีหลักฐานว่าเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการแต่งแร่โดยวิธีการลอยแร่ จากโรงแต่งแร่คลิตี้ ที่บริเวณใกล้กับหมู่บ้านคลิตี้บน ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงแต่งแร่สินแร่ตะกั่วประเภทตะกั่วคาร์บอเนต หรือแร่ cerrussite (PBCO3 ) ที่ระบุว่าเป็นสินแร่ที่ได้จากการขุดทำเหมืองแบบเหมืองเปิด ที่เหมืองบ่องาม บริเวณภูเขาห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากโรงแต่งแร่ประมาณ 6 กิโลเมตร เหมืองบ่องาม และโรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณีมีประกาศให้โรงแต่งแร่หยุดทำการเนื่องจากตรวจสอบพบ ว่ามีการปล่อยน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ (Tailing pond) ลงห้วยคลิตี้ ตามคำประกาศของทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 และเหมืองบ่องามได้หยุดดำเนินการเนื่องจากหมดอายุประทานบัตรตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2539 (แต่ในความเป็นจริงทางเหมืองฯ ยังมีการดำเนินการต่อมาโดยอ้างว่าเป็นสินแร่เก่า) ส่วนโรงแต่งแร่ได้สิ้นสุดอายุการแต่งแร่ไปแล้วเมื่อ 3 ตุลาคม 2543 (ตามใบอนุญาตแต่งแร่ เลขที่ 2/2537)


บริษัทตะกั่ว ฯอ้างเหตุว่าอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2541 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ่อเก็บกักหางแร่ (Tailing Pond) และกัดเซาะทำนบคันดินพังทะลาย ทำให้ตะกอนดินและน้ำขุ่นข้นปนเปื้อนตะกั่วไหลลงในลำห้วยคลิตี้สะสมในลำห้วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุถึงท้ายน้ำ จากจุดดังกล่าวจะพบว่าหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือหมู่บ้านคลิตี้ล่างซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยคลิตี้ห่างจาก โรงแต่งแร่ประมาณ 10 กิโลเมตร แต่มีรายงานประกอบภาพถ่ายของหน่วยราชการ (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, 2531) และจากสื่ออื่นๆ ที่แสดงว่าเคยมีการต่อท่อน้ำทิ้งออกจากบ่อกักเก็บตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้โดย ตรง และจากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ทางโรงแต่งแร่มีการปล่อยน้ำเสียลงตามลำห้วยมาเป็นเวลานานก่อนที่จะมีข่าว แพร่กระจายและไม่ปรากฎหลักฐานใดๆที่แสดงว่าเคยมีเหตุการณ์ที่คันบ่อกักเก็บ พังจากพายุฝน(ในเดือนเมษายน!) ในปี 2541 ดังรายงานของกรมทรัพยากรธรณี


แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธานและมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมป่าไม้ นักวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน แต่คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทร่วมกันเพียงแค่ร่วมให้ความคิดเห็นกับการดำเนิน การของกรมควบคุมมลพิษ และมีการประชุมเพียง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และลักษณะการทำงานเป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทของหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ต่างมีลักษณะการปกป้องการทำงานของหน่วยงานของตนเองโดยขาดลักษณะการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง ดังเห็นได้จากความล่าช้าของความคืบหน้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ยังไม่ปรากฏผลจน ถึงปัจจุบัน
กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาล


วันที่ 30 มกราคม 2546 ชาวบ้านจำนวน 8 คน จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของบริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประ เทศไทย)จำกัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 119,036,400 บาท และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้พิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 4,260,000 บาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวม เป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และยังได้มีการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร ไม่เข้าดำเนินการประสานงานและฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากพิษตะกั่วที่ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ของลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งมีการพิพากษาไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ให้ฝ่ายชาวบ้านชนะคดีและกรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน รวม 743,226 บาท
แม้ปัจจุบันโรงแต่งแร่จะปิดไปแล้ว แต่ได้ทิ้งมรดกร้ายที่ชาวบ้านไม่ต้องการไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะการได้รับสารตะกั่วสะสมมานาน ลูกหลานบางคนเกิดมามีนิ้วเกิน บางคนพิการ ต้องล่ามโซ่ บางคนตาบอด ไตวาย มิหนำซ้ำชาวบ้านแทบทุกคนมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมของรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถหากินน้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ ทั้งที่การดำรงชีวิตของชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติ จับปลาในลำห้วย หาของป่า แต่ตอนนี้ทุกคนจำเป็นต้องซื้อหาอาหาร อีกทั้งอาการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพายารักษา ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงิน ที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ให้สัมปทานเหมืองแร่ และยังไม่มีแพทย์คนไหนระบุว่าชาวคลิตี้ล่างป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพิษตะกั่วเลย
ชัยชนะของ "หลักการ" ในคดีคลิตี้


"คดีคลิตี้" หรือคดีการลักลอบปล่อยสารตะกั่ว จากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนไทย-กะเหรี่ยง "คลิตี้ล่าง" มาร่วมหลายสิบปีเพิ่งได้รับชัยชนะ หลังจากใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี (ฟ้องปี 2546) ในเนื้อหาของคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 นอกจากจะชี้ชัดว่าเอกชนผู้ประกอบการแต่งแร่มีความผิดและจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว คำพิพากษาฉบับดังกล่าวยังได้สร้างอาการชื่นชมและความประทับใจต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง เพราะกล่าวได้ว่าสถาบันตุลาการได้วาง "หลักการใหม่ๆ" หรือบรรทัดฐานใหม่ๆ ในการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพอนามัยที่ดีและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัย โดยมีสาเหตุจาก "มลพิษ" ให้กับสังคมไทย
ประการแรก เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 นั้น ไม่ได้มีการกำหนดถึงอายุความการฟ้องร้องคดีเอาไว้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงอายุความการฟ้องร้องในคดีสิ่งแวดล้อมที่เป็นการละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย การมีสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดแก่สุขภาพอันเนื่องมาจาก "มลพิษ" ซึ่งคำพิพากษาในคดีนี้ ชี้ชัดว่า อายุความในการฟ้องร้องคดีตามตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ควรเป็น "10 ปี นับแต่วันทำละเมิด" มิใช่ 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ก่อมลพิษตามที่เอกชนผู้ก่อมลพิษกล่าวอ้าง โดยศาลได้ชี้เอาไว้ว่า "ผลกระทบต่ออนามัย และชีวิต (จากมลพิษ) นั้น ต้องการระยะเวลาในการพิสูจน์" เพื่อเป็นการคุ้มครองเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกละเมิดอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย ดังนั้น แม้ชาวบ้านจะเห็นท่อที่ถูกต่อจากบ่อกักตะกอนเพื่อระบายน้ำเสียลงห้วยคลิตี้ตั้งแต่ปี 2537 และเริ่มมีอาการเจ็บป่วย รวมถึงวัวควายล้มตายในช่วงปี 2541-2542 จนนำไปสู่คำสั่งจากกรมทรัพยากรธรณีให้ปิดโรงแต่งแร่ในปี 2541 (ปีที่อายุความเริ่มต้นนับหนึ่ง) แต่ชาวบ้านเพิ่งตัดสินใจที่จะพึ่งอำนาจศาลในการบังคับให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ในปี 2546 นั้น "เป็นการใช้สิทธิในเวลาอันสมควร เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน" จึงควรใช้อายุความตามหลักทั่วไปคือ 10 ปี จึงเป็นฟ้องที่ยังไม่ขาดอายุความ
ประการที่สอง กำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายที่ไม่มีใบเสร็จ ภายใต้หลักการนำสืบที่ต้องพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงความเสียหายเกิดขึ้น พยานเอกสารพื้นฐานที่ผู้เสียหายมักถูกเรียกร้องให้ต้องแสดงและยืนยัน ก็คือ "ใบเสร็จรับเงิน" แต่ถามว่าในชีวิตจริง จะมีใครสักกี่คนที่เมื่อรู้สึกปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ไม่มีแรง ฯลฯ แล้วจะเก็บใบเสร็จรับเงินทุกครั้งที่ซื้อยา หรือไปหาหมอ คำพิพากษาในคดีนี้ เชื่อว่าผู้เสียหายย่อมต้องซื้อยา หาหมอเพื่อเยียวยารักษาตามอาการ โดยไม่ได้เก็บใบเสร็จ "เพราะไม่คาดว่าจะต้องใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี" ประเด็นนี้ศาลกำหนดให้เอกชนผู้ก่อมลพิษชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 20,000 บาทต่อคน
ประการที่สาม การใช้สิทธิตามบัตรทอง 30 บาท เป็น "สิทธิ" หรือ "ทางเลือก" ของผู้เสียหาย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาท ถูกผู้ก่อมลพิษหยิบขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ว่าหน่วยงานรัฐก็มีบริการสาธารณสุขพื้นฐานนี้ให้กับประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ทำไมผู้เสียหายต้องไปหาหมอที่เรียกค่าตรวจ-วินิจฉัย-รักษาที่แพงกว่า 30 บาท คำพิพากษาชี้ว่า การเลือกหมอเป็น "สิทธิของโจทก์"


นอกจากนี้ คำพิพากษานี้ยังได้เอ่ยถึงหลักการที่น่าสนใจอีกเช่น

- เห็นว่า ผู้เสียหายซึ่งต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยการปลูกไร่ข้าว ข้าวโพด พริก ถั่ว ฯ ต้องขาดประโยชน์จากการทำงานจริง เพราะการทำไร่นั้นต้องอาศัยความแข็งแกร่งของร่างกาย เมื่อได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว ทำให้รายได้ของผู้เสียหายลดลงจากที่เคยมีประมาณปีละ 5,000 บาท

- เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะไม่มีอาการทุกขเวทนา และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคนทั่วๆ ไป แต่ก็มีอาการเสื่อมถอยทางสุขภาพและจำเป็นจะต้องได้รับการบำบัด รวมถึงต้องการการติดตามอาการต่อไป
ในตอนท้ายของคำพิพากษา ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่กล่าวถึงจำนวนเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย โดยกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่คนละ 345,000 บาท ผู้เสียหายที่เป็นเด็กได้รับคนละ 620,000 บาท และผู้เสียหายที่เป็นเด็กเล็ก (ได้รับสารตะกั่วในขณะที่แม่อุ้มท้อง) ได้รับคนละ 820,000 บาท รวมผู้เสียหายทั้งหมด 8 คน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,260,000 บาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย)


อย่างไรก็ดี ภายใต้หลักการใหม่ๆ ที่รับรองและประกันถึงสิทธิในการมีสุขภาพอนามัยที่ดี และเยียวยาความเสียหายจากมลพิษที่สร้างผลกระทบแก่สุขภาพอนามัย ยังมี ประเด็นสำคัญที่ควรตั้งเป็นคำถาม เพื่อคลี่คลายและนำไปสู่ความชัดเจนของการชดเชยความเสียหายต่อสุขภาพในคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก "มลพิษ" นั่นก็คือ การคิดคำนวณค่าเสียหายนั้นควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
แม้ใครหลายคนจะพูดคล้ายๆ กันว่า เงินค่าชดเชย 4 ล้านเศษในคดีคลิตี้นี้นับว่า "สูง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่าเงินค่าชดเชยในคดีโคบอลต์-60 ที่ผู้เสียหายทั้งหมด 11 คน ได้รับเงินชดเชยทั้งสิ้นประมาณ 6 แสนบาท อย่างไรก็ดี การที่ชาวบ้านธรรมดาๆ หรือคนชายขอบอย่างชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่าง ที่ต้องกลายมาเป็นคนป่วย ต้องรักษาตัวซึ่งการไปหาหมอแต่ละครั้งหมายถึงการต้องละทิ้งการทำไร่ ปลูกผัก ต้องเสียเงินค่ารถมากกว่า 2 ต่อ และใช้เวลามากกว่า 1 วัน ต้องทุกข์ กังวลใจต่อปัญหาสุขภาพของตัวเองไปอีกนานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เสียหายที่เป็นเด็กไม่ถึง 10 ขวบสองคนนั้น ฯลฯ กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณความเสียหายดังกล่าวนี้เป็นตัวเงิน ที่สำคัญ กรณีแบบนี้จะสะเทือนเลือนลั่นไปวางมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำต้องมีสำนึกรับผิดชอบ และจะกลายเป็นตัวแบบสำหรับการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งเป็นโรคที่ยากจะมองเห็น ยากจะชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร และจำต้องอาศัยการวินิจฉัยทางการแพทย์

พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ

นายวิน จิตรไกรสร


พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุม ดูแล การใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม การจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 โดยคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพมี 10 หมวด 103 มาตรา ประกอบด้วย การให้คำจำกัดความคำศัพท์ที่สำคัญๆ อาทิ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ และการประเมินความเสี่ยง รวมทั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ การควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งการนำเข้าและส่งออก การใช้ประโยชน์ในสภาพควบคุม การปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างจงใจ และการขนส่งและการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตลอดจน ความรับผิดและการเยียวยา และบทกำหนดโทษ เป็นต้น


ปัจจุบันการทดลองวิจัยจีเอ็มโอมีอยู่ตามห้องแลปหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีความพยายามจะทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การนำผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอออกสู่ตลาด ซึ่งโดยหลักการทั่วไปก่อนจะถึงกระบวนการจัดจำหน่ายสู่ตลาด จะต้องมีการทดลองในภาคสนามเพื่อดูเรื่องผลกระทบต่างๆ ก่อน ด้วยเหตุนี้กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการเปิดให้ทดลองจีเอ็มโอในระบบเปิด ต้องการพิสูจน์ว่าจีเอ็มโอไม่มีโทษ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยไม่ให้มีการทดลองในระดับไร่นา โดยเหตุผลว่า เนื่องจากก่อนหน้านั้นภาคราชการได้ให้มั่นว่ามีกฎเกณฑ์เข้มงวดพอที่จะควบคุมไม่ให้พืชจีเอ็มโอหลุดรอดหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทดลอง แต่ผลก็คือมีการหลุดรอดออกมา ดังกรณีของฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี 2538 และเมื่อปี 2547 มะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น หลุดลอดผสมปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกรที่ปลูกมะละกอ กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบตัวอย่างมะละกอที่มีการปนเปื้อน 329 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร 85 รายและครั้งนั้นเองที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องไม่ให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา หรือระบบเปิด จนกว่าจะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งความมุ่งหมายก็คือการมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ


ปัจจุบันแรงผลักดันของฝ่ายที่ต้องการให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นามีสูงมาก ทั้งนี้ก็เพื่อขยับขั้นตอนไปสู่การจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเบื้องหลังสำคัญคือบริษัทต่างชาติที่มีผลประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านนี้ ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการของเราหลายส่วน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้า จนมองข้ามผลกระทบทางด้านสังคมและชีวภาพ เพราะฉะนั้นหน่วยงานเหล่านี้ก็พยายามที่จะผลักดันและให้ข้อมูลในบางด้านเท่านั้น
กฎหมายฉบับนี้อยู่ภายใต้พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยหลักการสำคัญคือการระมัดระวังล่วงหน้า เนื่องจากจีเอ็มโอยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลอดภัยจริง หากมีการหลุดรอดออกมาแล้วอาจทำให้เกิดเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นในพิธีสารคาร์ตาเฮนาจึงคำนึงว่าหากมีความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่ยินยอมให้มีการปล่อยจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม


ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีของ (CBD) จึงต้องทำตามพิธีสารคาร์ตาเฮนา แต่การใช้หลักการนี้อย่างเคร่งครัดจะสร้างความไม่สะดวกกับผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการใดๆ ที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอ เพราะผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่ส่งสินค้าจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทยจะถูกปฏิเสธ ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าปลอดภัยจริง หรือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งกระทบกับการค้าขายสินค้าจีเอ็มโอโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายที่ผลักดันโดยเฉพาะประเทศอเมริกา ต้องการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากสินค้าจีเอ็มโอ แต่ประเด็นของไทยอยู่ที่เรื่องความปลอดภัย ไทยจึงควรจะมีกฎหมายที่สามารถห้าม หรือสร้างกลไกระมัดระวังภายในก่อน เพราะไทยเป็นประเทศเกษตร ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าประเทศอุตสาหกรรม เรามีการปลูกพันธุ์พืชจำนวนมาก ดังนั้นการปลอดภัยไว้ก่อนจึงน่าจะเหมาะสม และการที่เราเป็นเกษตรกรรม มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยิ่งควรจะใช้หลักการนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น


ในส่วนของภาคประชาสังคม อย่างคนทำเกษตรอินทรีย์ โยเฉพาะคนส่งออกข้าวมีความกังวลมาก ตอนนี้เราไม่มีสินค้าจีเอ็มโอ แต่หากเราเปิดให้มีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามา ปัญหาต่อไปก็คือการขายสินค้าให้สหภาพยุโรป หรือประเทศที่มีต้องสินค้าอินทรีย์แล้วเขาจะเชื่อได้อย่างไรว่าสินค้าไทยปลอดจีเอ็มโอ แล้วภาระที่เกิดขึ้นต่อมาอย่างแรกคือการไม่สั่งสินค้า อย่างกรณีการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองที่จ.ขอนแก่น สหภาพยุโรปก็ยกเลิกการนำเข้ามะละกอจากไทยทันที ดังนั้นหากกรณีนี้เกิดขึ้นกับข้าวไทย ย่อมส่งผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลประโยชน์ของใคร??


แนวความคิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ความคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ได้มีมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2526-2527 แล้ว ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนการเงิน ระหว่าง ประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้กำหนดนโยบายว่าไทยต้องทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสากิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในครั้งนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแปรรูปองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้งในปี 2540 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยิ่งตอกย้ำนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากขึ้นด้วยการให้ไทยขายทรัพย์สินออกไปเพื่อนำมาดำเนินการชำระหนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยล้วนมีส่วนผลักดันนโยบายและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ความตื่นตัวอย่างแท้ จริงในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้เริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539-2540 หลังจากได้ข้อยุติในการทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) อย่างไรก็ตาม ได้มีกระแสคัดค้านตลอดเวลา เพราะหลายฝ่ายที่คัดค้าน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมองว่า การขายทรัพย์สินของรัฐจะส่งผลให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพย์สมบัติของชาติ โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ และอาจทำให้อัตราค่าบริการที่ประชาชนต้องจ่ายนั้นสูงขึ้น

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยนั้น มีปรากฏความคิดนี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1- ฉบับปัจจุบัน โดยที่ความหมายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น อาจหมายความได้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือ การเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจ และให้ประชาชนได้บริโภคสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจถอนตัวจากกิจการที่เอกชนดำเนินงานได้ดีกว่า แต่ให้รัฐยังคงกิจการที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีข้อผูกพันทางสังคม และที่ไม่ให้ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์แต่มีความจำเป็นต่อคุณภาพ ชีวิต อย่างไรก็ตาม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความ คล่องตัวเหมือนภาคเอกชน และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ โดยให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นจากการ ปรับปรุง เป็นการลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐให้น้อยที่สุด และเป็นหนึ่งในหลายแนวทาง ที่จะสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้

รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งอย่างขนานใหญ่สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทกว้างๆ ประเภทแรก คือ ประเภทที่ผลิตสินค้าเอกชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นได้ถูกยุบเลิกหรือไม่ก็มีการแปรรูปไปบ้างแล้ว เช่น องค์การหินอ่อน องค์การทอกระสอบ โรงแรมบางแสน โรงแรมเอราวัณ แต่ที่ยังไม่ได้แปรรูป แต่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งนั้นมักจะยังสังกัดกระทรวงกลาโหม นั่นคือ องค์การแก้ว องค์การทอผ้า องค์การแบตเตอรี่ องค์การแปรรูปอาหาร เป็นต้น รัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก และผลิตสินค้าเอกชนอย่างชัดเจน การแปรรูป จึงสามารถทำได้ง่าย และไม่มีข้อโต้แย้งทางเศรษฐกิจใดๆ ว่า ทำไมจึงจะไม่แปรรูปประเภทที่สอง เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนจำนวนมหาศาล และยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตสินค้า ที่มีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค หรือค่อนข้างเป็นสินค้า สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีมากมายนั่นคือ การไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา ทางด่วน ไปรษณีย์ โทรเลข สนามบิน รถไฟ ท่าเรือ อาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

กิจกรรมและกิจการเหล่านี้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มักถูกถือว่าเป็นกิจการที่รัฐควรเข้าจัดการโดยตรง เพราะเหตุผลเรื่องการผูกขาดโดยธรรมชาติ ต้นทุนค่าโสหุ้ยที่สูงมาก และการที่เป็นกิจการที่เกี่ยวโยงถึงความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น เราจึงไม่ประหลาดใจที่จะพบว่ารัฐวิสาหกิจไทยที่จัดอยู่ในรูปแบบที่สองนี้จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปยากที่สุด

วิธีการหรือรูปแบบของการแปรรูปนั้น อาจทำได้สามแนวทาง ดังนี้

  • สัญญาการบริหารจัดการ เป็นรูปแบบที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการดำเนินกิจการ ส่วนเอกชนผู้รับสิทธิจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการ และซ่อมบำรุงรักษาทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่สัญญากำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบยังคงมีอำนาจทางกฎหมายในการบริหารจัดการกิจการ วิธีนี้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมิได้โอนไปเป็นของเอกชน
  • สัญญาเช่า เป็นรูปแบบให้เอกชนเช่ากิจการหรือทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจตลอดอายุสัญญาเช่าโดยเอกชนจะเป็น ผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ วิธีนี้กรรมสิทธิ์ในกิจการและทรัพย์สินมิได้โอนไป เป็น ของเอกชนแต่ประการใด
  • การให้สัมปทานได้แก่ BOT (Build, Operate, Transfer) เป็นรูปแบบที่เอกชนผู้รับสิทธิสัมปทานจะต้องรับผิดชอบทั้งด้านเงินลงทุน การออกแบบ ดำเนินการก่อสร้างและการบริหารจัดการ โดยเอกชนบริหารจัดการโครงการตามอายุและข้อตกลงแห่งสัญญา และเมื่อสิ้นสุดสัญญา ผู้รับสิทธิจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ของกิจการทั้งหมดให้กับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ BTO (Build, Transfer, Operate) เป็นรูปแบบที่เอกชนผู้รับสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้านเงินลงทุน ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้รับสิทธิจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ภายใต้ ข้อตกลงในสัญญาให้แก่หน่วยงานของรัฐ แต่เอกชนยังมีสิทธิในการบริหารจัดการตลอดอายุสัญญาและ BOO (Build, Own, Operate) เป็นรูปแบบที่ให้เอกชนผู้รับสิทธิสัมปทานเป็นผู้ลงทุนในกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ เพื่อลดภาระการลงทุนของรัฐและเมื่อเอกชนดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากภาคเอกชนนั้น เช่น กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปของ Independent Power Producer (IPP) แล้วขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ตกลงไว้ล่วงหน้า รูปแบบนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนสร้างก็ยังคงเป็นของเอกชน

กรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ กรณีการแปรรูปของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในปี 2535 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดโครงสร้างของระบบไฟฟ้าของประเทศ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่ในการรับผิดชอบจัดหาพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ. ผลิตเองส่วนหนึ่งและรับซื้อจากผู้ผลิตเอกชาอีกส่วนหนึ่ง ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับผิดชอบในการจ่ายพลังงานแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับผิดชอบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในส่วนภูมิภาคโดยที่รัฐบาลได้มีความพยายามในการดำเนินการแปรรูปการไฟฟ้าฯ หลังจากที่ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2535ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสามารถจัดตั้งเป็นบริษัท จำกัด ได้ แต่ก็มีหลายฝ่ายที่คัดค้านและดำเนินการต่อต้านอย่างมากเรื่อยมา เพราะเห็นว่า การแปรรูปฯจะนำไปสู่การเข้ามาครอบครองทรัพย์สินของชาติ

หลายคนมองว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติบ้าง หรือขายทรัพย์สินให้แก่ชาวต่างประเทศบ้าง ถึงแม้เราจะรับทฤษฎีการเมือง “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” มาจากโลกตะวันตก แต่เราก็ควรเป็นตัวของตัวเองด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ตามเสมอไป หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่ามหาอำนาจโลกตะวันตก บีบบังคับให้เรา เป็นประเทศเสรีนิยมไม่ใช่เรื่องของสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว แต่เป็นการบังคับเรื่องของเศรษฐกิจเสรีด้วย เพื่อประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นจะได้ทำมาค้าขายคล่อง ตัวในประเทศอื่นๆ ที่พลังอำนาจน้อยกว่า ตั้งแต่การรุกคืบประเทศต่างๆ เพื่อความมั่งคั่งของตัวเองในยุคล่าอาณานิคม สงครามเย็น จนมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์นี้ ใครจะคบกับสหรัฐฯ ต้องประชาธิปไตย ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเปิดการค้าเสรี การเงินเสรี ต้องเป็นรัฐธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบ ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง New World Order นี้ ดูภายนอกก็ดูดี แต่ความจริงแล้วแอบแฝงไปด้วยการหาผลประโยชน์จากประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาในสังคมสมัยใหม่ ที่เชื่อว่า ประเทศโลกที่สามยังด้อยพัฒนาอยู่ ดังนั้น ต้องได้รับการพัฒนาหรือต้องเร่งรัดการพัฒนาเพื่อให้ตามทันประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่ต้องพัฒนาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา และประเทศทางแถบยุโรป เป็นตัวแบบของการพัฒนา ในแง่นึงแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งในแนวคิดของเรื่องการพัฒนา เพราะเชื่อว่าหากแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น เพราะเป็นการลดภาระต้นทุนของรัฐ ทั้งยังสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับประเทศอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็คือ การที่กิจการหรือทรัพยากรของรัฐถูกโอนไปให้เอกชนดำเนินการ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ เป็นกิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น ซึ่งเมื่อเอกชนนำไปดำเนินการแล้ว ก็ต้องมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไปอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของหลายประเทศ เช่น อาร์เจนติน่า บราซิล เป็นต้น หลายประเทศโลกที่สาม ที่ได้ดำเนินแนวทางการพัฒนาโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายในประเทศ ประสบกับความล้มเหลวมาแล้ว ในประเทศไทยเอง ได้มีการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วมากกว่า 40 แห่ง ส่วนเหตุผลของผู้ที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การทำให้ทุนต่างประเทศพอใจ และอยากมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยเติบโตขึ้นนั้นเป็นความจริง แต่ที่อ้างต่อไปว่า จะทำให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้ประโยชน์โดยทั่วหน้ากันนั้นไม่จริง เพราะคนที่จะได้ประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือเป็นบริษัทมหาชนเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กลุ่มนักการเมือง นักธุรกิจส่วนน้อยที่สามารถเข้าซื้อหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปได้ ส่วนใหญ่ด้วยอิทธิพลเส้นสาย ทำให้พวกเขาทำกำไรเข้ากระเป๋าได้อย่างมหาศาล ดังนั้นแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอาจไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างแท้จริง

CLยา ทางเลือกหรือทางรอด???

นางสาวอมรรัตน์ ทับมี

CL ยา ทางเลือกหรือทางรอด??


COMPULSORY LICENSING คือ มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ สิทธิเหนือสิทธิบัตร นั่นคือการที่รัฐบาลออกมาตรการบังคับต่อเจ้าของสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิผูกขาดอื่นใด โดยให้รัฐหรือใครก็ตามได้รับสิทธิในการใช้สอยงานนั้นๆ โดยชอบธรรม โดยปกติแล้วเจ้าของสิทธิมักจะได้รับค่าตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้สิทธิจากกรณีนี้ ซึ่งอาจจะมีระบุไว้ในตัวบทกฎหมายหรือตัดสินโดยผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณีไป


ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเรื่อง สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในการทำ CL การใช้สิทธิโดยรัฐนั้น เป็นมาตรการที่กฎระเบียบระหว่างประเทศสามารถยอมให้ทำได้ โดยให้รัฐบาลของประเทศที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจออกประกาศใช้สิทธินี้ อย่างไรก็ตามการประกาศนี้ก็จะต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่น จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกประกาศบังคับเพื่อประโยชน์ของการดูแลสุขภาพของผู้คนประเทศของตน นอกจากนี้ก็ยังต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรจำนวนหนึ่งให้แก่เจ้าของสิทธิบัตร และที่สำคัญก็คือต้องมีการเจรจาที่โปร่งใสกับผู้ผลิตยาเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อหาราคายาที่เหมาะสมอีกด้วย


การใช้ CL ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของ WTO ว่า ประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ได้มีข้อตกลงร่วมกันด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPs) ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรได้โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศต้องอยู่ในภาวะอันตราย (national emergency) หรือความจำเป็นเร่งด่วน (extreme urgency)


โดยรัฐบาลไทยได้บังคับใช้สิทธิบัตรกับยาต้านไวรัสเอดส์ “เอฟฟาไวแรนซ์” (Effavirenz) ไปแล้ว และกำลังพิจารณาจะใช้มาตรการดังกล่าวกับยาสิทธิบัตรอีกสองตัวคือ ยา ”พลาวิคซ์” (Plavix) กับยา “คาเลตตร้า” (Kaletra) ซึ่งเหตุผลด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าว ซึ่งยาเอฟฟาไวแรนซ์เป็นยาต้านไวรัสกลุ่มที่สองในสูตรพื้นฐาน และคาเลตตร้าเป็นยาต้านไวรัสสูตรสำรองที่ ใช้กับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรแรก ส่วนยาพลาวิคซ์ก็เป็นยาสลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นยาที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก แต่มีราคาแพงเนื่องจากบรรษัทยาข้ามชาติผู้จำหน่ายมีสิทธิบัตรผูกขาดยาดังกล่าวอยู่


ที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2544 กับร่างปฏิญญา โดฮาว่าด้วยความตกลง TRIPs และการสาธารณสุข ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามิได้ กีดขวางประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการต่างๆเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศ ความตกลง TRIPs อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) ภายใต้เหตุผลที่ประเทศสมาชิกเป็นผู้กำหนด ปฏิญญาโดฮายังได้เล็งเห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือประเทศที่ขาดศักยภาพการผลิตยาและกำหนดให้คณะมนตรี TRIPs (TRIPS Council) กำหนดแนวทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งคณะมนตรี TRIPs ได้เสนอให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ยาไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพการผลิต ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นความพยายามของนานาชาติในการส่งเสริมการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนาและชี้ให้เห็นว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นมาตรการที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศ

เหตุผลที่ประเทศกำลังพัฒนาลังเลที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ก็เนื่องจากเหตุผลดังนี้
1. การใช้มาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบการจัดการสิทธิบัตรที่ดี เช่น มีกลไกระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการชดเชยให้แก่ผู้ทรงสิทธิบัตร ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามักจะขาดระบบการจัดการดังกล่าว
2. การขาดเจตจำนงทางการเมือง เนื่องจากเกรงจะถูกตอบโต้ทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
3. ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ขาดศักยภาพที่จะใช้เทคโนโลยีตามสิทธิบัตร เนื่องจากการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรมักมีลักษณะที่ซับซ้อน ผู้ใช้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีการประดิษฐ์เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือการขาดโนว์ฮาว (know-how) ซึ่งหมายถึงข้อมูลเทคนิคการผลิตที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำขอรับสิทธิบัตร


ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่กล้าที่จะทำ CL ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายต่างทำกันทั่วไป บราซิลเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างได้ผล กรณีของบราซิลอาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รัฐบาลบราซิลได้จัดตั้งโปรแกรม ”NSAP” (Brazilian National STD/AIDS Programme) ขึ้นในปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ยาต้านไวรัสเอดส์มีราคาถูก และสามารถแจกจ่ายแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงโดยผ่านระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ปัจจุบันโปรแกรม “NSAP” สามารถแจกจ่ายยายับยั้งไวรัสเอชไอวีให้แก่ผู้ติดเชื้อกว่า 600,000 คน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับกรณีของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ความสำเร็จในการแจกจ่ายยายับยั้งไวรัสได้ช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ในบราซิลลงกว่าครึ่งของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคเอดส์ นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ลดลงกว่า 80%


ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเช่นเดียวกับบราซิล เนื่องจากเรามีองค์การเภสัชกรรมของรัฐที่มีศักยภาพ สามารถทำวิศวกรรมย้อนกลับและสามารถผลิตยาที่บรรษัทข้ามชาติมีสิทธิบัตร การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิจะทำให้กระทรวงสาธารณะสุขมีทางเลือกที่หลากหลายในการส่งเสริมการเข้าถึงยาที่จำเป็น ไม่ว่าจะด้วยการนำเข้ายาชื่อสามัญ (Generic drugs) ที่มียาราคาถูกจากอินเดียหรือบราซิล หรือสามารถดึงบรรษัทข้ามชาติมานั่งโต๊ะเจรจาและขอร้องให้บรรษัทลดราคายาลงจากที่จำหน่ายในตลาด ซึ่งหากไม่มีการลดราคารัฐบาลก็สามารถบังคับใช้สิทธิเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาออกจำหน่ายในราคาถูก


กรณีของบราซิลและประเทศอื่นๆได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลักดันนโยบายการเข้าถึงยาและนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรการบังคับใช้สิทธิมิได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเท่านั้น หากแต่ยังช่วยกดดันให้ผู้ทรงสิทธิบัตรใช้สิทธิของตนโดยชอบด้วยการลดราคาสินค้าภายใต้สิทธิบัตรลงให้อยู่ในระดับอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การบรรลุในนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติไม่อาจกระทำโดยอาศัยมาตรการรบังคับใช้สิทธิแต่เพียงอย่างเดียว มาตรการบังคับใช้สิทธิจะต้องถูกใช้ควบคู่กับการสร้างศักยภาพการวิจัยและการผลิตให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งรัฐจะต้องมีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายกระจายยาที่เหมาะสม


ดังนั้น การดำเนินการใช้สิทธิ โดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุขต่อยาที่มีสิทธิบัตร จึงเป็นการดำเนินการที่ทั้งถูกกฎหมายและถูกหลักมนุษยธรรม รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ที่จะต้องจัดหายาจำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้แก่คนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิ ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย แต่ก่อนที่จะทำนั้นก็ต้องมีการเจรจาตกลงกันอย่างโปร่งใสกับผู้ผลิตยาโดยตรงเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาการฟ้องร้องได้ขึ้นมาในภายหลัง และเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนในประเทศมากที่สุด

มะละกอจีเอมโอ ดีจริงหรือ?

น.ส.ฤดี สมานมิตร



มะละกอ เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งนอกจากเกษตรกรจำนวนมากปลูกเป็นอาชีพแล้ว ประชาชนทั่วไปยังนิยมปลูกไว้ตามบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคภายในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยจึงมีปริมาณมาก และสามารถกล่าวได้ว่ามะละกอเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิถีชิวิตของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ คำว่า“มะละกอจีเอ็มโอ”ได้กลายเป็นคำที่ผู้คนได้ยินจนเคยชิน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักรับรู้ถึงที่มาที่ไป และผลกระทบต่างๆ ที่พวกเขาอาจจะได้รับหรือได้รับไปแล้วโดยไม่รู้ตัวจากสิ่งที่เรียกว่ามะละกอจีเอ็มโอนี้เลย
มะละกอนับเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคจุดวงแหวน1 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมะละกอทั่วโลกรวมทั้ง เกษตรกรชาวไทยทางภาคอีสานต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรง การปลูกมะละกอได้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และในขณะเดียวกันการระบาดของโรคจุดวงแหวนได้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆทั่งประเทศ สาเหตุของโรคจุดวงแหวนนี้ เกิดจากเชื้อไวรัส PRSV(Papaya Ring Spot Virus)2 ทำให้มะละกอมีอาการใบเหลืองด่าง มีจุดดวงแหวนที่ผล และหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ และแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค แต่ไม่ติดไปกับเมล็ด พันธ์มะละกอที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นพันธ์แขกนวลและแขกดำ ล้วนเป็นพันธ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ทั้งสิ้น

โรคระบาดที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้ต่างกับเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่สามารถกำจัดได้โดยสารเคมีหรือวิธีธรรมชาติ จึงส่งผลให้นักวิชาการเลือกใช้วิธีการตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMOs(Genetically Modified Organisms) เป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหา โดยมีการทำการวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2535 มหาวิทยาลัยคอร์แนลและฮาวายในสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการตัดแต่งพันธุกรรมในมะละกอเป็นครั้งแรกของโลก และเผยแผ่ให้เกษตรกรในฮาวายปลูกเป็นการค้าในปี พ.ศ.2540 ในขณะที่ไทยเข้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลในการใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอสร้างมะละกอที่มีความต้านทานเชื้อไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอไทยในปีพ.ศ.2538 โดยใช้มะละกอสายพันธ์ไทยและเชื้อไวรัสของโรคสายพันธุ์ไทยจากขอนแก่น ไปทำการวิจัยจากงบกองทุนรวมเพื่อช่วนเหลือเกษตรกรของกรมวิชาการเกษตร จนเป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี และมีการนำมะละกอเหล่านั้นกลับมายังประเทศไทย 25 ต้นเพื่อปลูกทดลองที่สถานีทดลองพืชสวน ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

แต่อย่างไรก็ตามได้มีการคัดค้านและต่อต้านการปลูกมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยอย่างอย่างแข็งขันและจริงจังจากกลุ่มองค์กรเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครกรีนพีซที่มีการรณรงค์ต่อต้านและฟ้องร้องต่อการดำเนินการปลูกมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีปัญหาการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ดังจะเห็นได้จากการเปิดเผยผลการสุ่มตรวจมะละกอในแปลงของเกษตรกรตามบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับมะละกอแขกดำท่าพระจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น4โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพบว่า มะละกอในสวนของเกษตรกรในเขตอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และ อำเภอแกลง จังหวัดระยองเป็นจีเอ็มโอ ซึ่งการปนเปื้อนนี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ทางละอองเกสรจากมะละกอจีเอ็มโอต้นใกล้เคียงมายังมะละกอฟลอริด้า ทอเลอแรนท์ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่จีเอ็มโอ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการผสมข้ามพันธุ์จากมะละกอจีเอ็มโอไปสู่มะละกอปกติเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นแล้ว และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีผลยืนยันข้อมูลทางวิชาการ5ว่า มะละกอจีเอ็มโอหากนำไปปลูกรวมกับมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่น จะสามารถทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกันได้ นอกจากนี้การตรวจสอบและการทำลายการปนเปื้อนโดยวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษทางพันธุกรรมในครั้งนี้ขาดประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ติดตามตรวจสอบอย่างครอบคุลมและจริงจัง จนเป็นเหตุก่อให้เกิด การปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอดังกล่าวข้างต้น

ทั้งจังหวัดในเขตภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง เช่น ตาก พิจิตร ต่างเป็นแหล่งผลิตมะละกอเพื่อป้อนโรงงานผลไม้กระป๋องส่งออกในเขตภาคเหนือ ส่วนจังหวัดระยองก็เป็นแหล่งปลูกมะละกอเพื่อส่งออกต่างประเทศและป้อนโรงงานผลไม้กระป๋องในภาคกลาง หากไม่รีบจัดการแก้ปัญหาการปนเปื้อน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมานั้นประเทศคู่ค้าได้ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากไทย เพราะกลัวการปนเปื้อนที่อาจกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากมะละกอจีเอ็มโอเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น แม้ปัจจุบันหลายประเทศจะมีการค้าพืชจีเอ็มโอในเชิงพานิชย์แล้วก็ตาม และจากสาเหตุดังกล่าวผู้ส่งออกไทยจึงจำเป็นต้องเพื่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่มีส่วนผสมของมะละกอทุกประเภทบเพื่อเตรียมใบรับรองว่าสินค้าของบริษัทปราศจากจากจีเอ็มโอ กรณีลูกค้ามาขอใบรับรอง ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก

นอกจากนี้ มะละจีเอ็มโอยังอยู่ในระหว่างการทดลองและยังไม่มีการพิสูจน์ว่าปลอดภัย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น มะละกอจีเอ็มโออาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดใหม่ ซึ่งทางกรีนพีซได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า มีโปรตีนแปลกปลอมที่มะละกอจีเอ็มโอผลิตขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโปรตีนที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้หลายอย่างแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมทั้งการยิงยีนเข้าไปในมะละกอไม่เพียงแต่ยิงยีนไวรัสจุดด่างวงแหวนเท่านั้น ยังมียีนของสิ่งมีชีวิตรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะยีนมาร์เกอร์ในมะละกอจีเอ็มโอที่เรียกว่า npt II ที่มีคุณสมบัติต้านยาปฏิชีวนะคานามัยซินซึ่งเมื่อสะสมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์และสัตว์มากขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดอาการดื้อยาปฏิชีวนะนั้นๆ จากผลการวิจัยนี้ส่งผลยุโรปออกกฎห้ามการใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะจากมาร์กเกอร์ยีนโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 อีกทั้งองค์กรยาโลกและองค์การอนามัยโลกยังแนะนำผ่านทางคณะกรรมการโคเด็กซ์ด้านอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพว่า ควรเลิกใช้ยีนจากสารต้านยาปฏิชีวนะนี้ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทั่วโลกไม่ยอบรับพืช จีเอ็มโอ

ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเฉพาะในเรื่องการกลายพันธ์ของไวรัส มีเอกสารทางวิทยาศาสตร์ในการประเมินความเสี่ยงพบว่า วิธีการทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้ในการทำจีเอ็มโอนี้อาจทำให้พืชชนิดอ่อนติดโรคได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เกิดพืชชนิดใหม่ อีกทั้งความแข็งแรงของไวรัสก็จะเปลี่ยนแปลงไป
และความเสี่ยงต่อเกษตรกรเนื่องจากมะละกอจีเอ็มโอนี้แม้จะเป็นสายพันธุ์ไทยแต่สหรัฐอเมริการเป็นเจ้าสิทธิบัตร8 โดย Connell Research Foundation, Inc. ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรวิธีการนำไวรัสเข้าไปในมะละกอเพื่อทำให้ต้านทานโรคเป็นที่เรียบร้อย9 ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่ามะละกอจีเอ็มโอลูกใดที่ดำเนินการมาจากการนำไวรัสเข้าไปในมะละกอตามวิธีการที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรนี้ในเชิงพาณิชย์จะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับ Connell Research Foundation สำหรับการจำหน่ายในประเทศที่จดสิทธิบัตร ซึ่งในประเด็นนี้ชี้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีในเรื่องของวิธีการ
แต่อย่างไรก็ตามการสามารถกล่าวได้ว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นหลัก ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยการดำเนินการก็จะเป็นไปโดยง่าย เพราะขณะนี้เกษตรกรมากกว่า 90% ยอบรับพืชจีเอ็มโอแล้ว โดยนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา11 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) โดยเฉพาะไทย-สหรัฐ เริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือเพื่อการวิจัยแก้ไขปัญหาโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนในมะละกอ โดยมีการนำสารพันธุกรรมและมะละกอไปจากประเทศไทย แต่ในท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ซึ่งจะกลายมาเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรและมีอำนาจตามกฎหมายไปทั่วโลก กลับจำกัดเฉพาะ Connell Research Foundation, Inc. โดยนักวิจัยไทยมีฐานะเพียงแค่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

จากการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอโดย Connell Research Foundation, Inc ชี้ชวนให้คิดว่า ประเทศไทยจะมีหลักประกันอย่างไรต่อการเคลื่อนย้ายสารพันธุกรรมของพืชพันธุ์ธัญญหารชนิดอื่นของไทย ทั้งที่เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ ดังตัวอย่างข้าวหอมมะลิ12 ที่บริษัทในสหรัฐอเมริกานำสารพันธุกรรมข้าวหอมมะลิจากไทยไปขอจดสิทธิบัตที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกับการยื่นขอต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือว่าด้วยสิทธิบัตร หรือ PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งสามารถครอบคลุมต่างประเทศได้มากกว่า 40 ประเทศ ส่งผลให้เกษตกรที่ปลูกพืชที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งในที่นี้คือข้าวหอมมะลินั้น ต้องเผชิญกับข้อกล่าวอ้างเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเผชิญกับการถูกฟ้องร้องค่าเสียหายที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และในขณะนี้การขอเข้าเป็นสมาชิกของสินธิสัญญาดังกล่าวของประเทศไทยได้ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของการสมัครเป็นสมาชิก อันจะส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้เป็นเหมือนอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สามารถให้สิทธิผูกขาดในสิ่งมีชีวิตได้ในที่สุด

ในระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้นำอนาคตของของคนไทยไปผูกติดเชื่อมโยงอยู่กับเงื่อนไขนโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่จำเป็นในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเงื่อนปมทางนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล การนำประเทศเข้าไปเป็นภาคีในสนธิสัญญา PCT และการเจรจาจัดตั้งข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา ที่ถูกบีบให้รับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและเข้าเป็นภาคีในสมธิสัญญา PCT นั้น ล้วนเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยความรู้ และแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่วางอยู่กับความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน รวมถึงการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและโลกาภิวัฒน์ โดยยึดถือผลประโยชน์ในระยะยาวของคนส่วนใหญ่ในการดำเนินนโยบายสาธารณะเป็นสำคัญ โดยผ่านกระบวนการบริหารที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนอย่างแท้จริง

หนี้สินชาวนาและการพักชำระหนี้

พิชญ์นรี สันตีระชัยวัฒนา

ทางออกของหนี้สิน คือการพักชำระหนี้จริงหรือ???


ปัญหาหนี้สินชาวนาไทย ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในขณะที่องค์ความรู้ทางวิชาการยังศึกษาแบบแยกส่วน ขาดการวิเคราะห์แบบมีพลวัตทำให้ไม่เห็นรากเหง้าของปัญหา ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้
งานศึกษาวิจัยของสุเทพ แสนมงคล ได้ศึกษาปรากฏการณ์ในชุมชนบ้านดง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสถานการณ์ปัญหาหนี้สินรุนแรง1 จากการศึกษาทำให้ค้นพบประเด็นที่สำคัญ คือ
การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบยังชีพ สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ภายใต้ระบบทุนนิยม โดยรูปแบบระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ที่ชาวนารวยเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้แรงงานของชาวนาจนเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน โดยชาวนารวยเป็นผู้เข้าถึงการตลาด ด้วยการเป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีความสัมพันธ์กับพ่อค้าคนจีนในชุมชนเมือง ต่อมามีการเปลี่ยนจากเก็บค่าเช่าเป็นผลผลิตมาเป็นเงิน ชาวนาฐานะยากจนต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต และประสบกับภาวะขาดทุน ทำให้เกิดภาวะหนี้สินนอกระบบพร้อมกับการขยายตัวของระบบบริโภคนิยมเข้าสู่ชุมชน หลังจากชาวนาได้เข้าสู่วงจรหนี้สิน ก็ถูกระบบการจัดการเงินกู้ภายใต้ระบบการผลิตและการตลาดเชิงพาณิชย์ ที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ชาวนาขาดทุนโดยสัมพัทธ์อยู่เสมอ เนื่องจากข้อจำกัดในการไม่สามารถเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ทุนและระบบการตลาดได้ สอดคล้องกับ สันติ ธรรมประชา ที่ให้ความเห็นว่าเกษตรกรที่เป็นชาวนาชาวไร่ นับว่าเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบ ในระบบกลไกตลาดมากที่สุดความเสียเปรียบนั้นมีตั้งแต่ด้านขาดความรู้ ขาดข้อมูลข่าวสาร ไม่มีความรู้เท่าทันกลไกตลาดและขาดอำนาจต่อรอง ในขณะที่ พ่อค้า นายทุน นายเงิน มีความรู้มากกว่า มีข้อมูลข่าวสารมากกว่า เป็นผู้ที่อยู่กับกลไกตลาด ใช้กลไกตลาดและบางทีก็สามารถบิดเบือนกลไกตลาดได้ด้วยอำนาจการผูกขาด ด้วยอำนาจของการรวมตัว
ส่วนสมพันธ์ เตชะอธิก กล่าวสาเหตุของหนี้สินเกษตรกรมาจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่า ปัจจัยแรก มาจากนโยบาย/โครงการของรัฐบาล ที่ส่งเสริมอาชีพและการเป็นหนี้ เช่น สนับสนุนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ส่งเสริมการกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเสริมการเกษตรแบบพันธสัญญาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลักภาระให้เกษตรกรและผู้บริโภค ปัจจัยที่สอง มาจากภัยธรรมชาติ ปัจจัยที่สาม จากต้นทุนปัจจัยการผลิตมีราคาแพงขึ้น ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าจ้าง แรงงาน ค่ารถไถ ฯลฯ แต่ราคาผลผลิตขึ้นกับกลไกตลาดโดยพ่อค้า แม้แต่การประกันราคาโดยรัฐบาลยังเป็นประโยชน์แก่นายทุนโดยไม่ตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง ปัจจัยที่สี่ มาจากค่าใช้จ่ายในครอบครัวและการบริโภคนิยมของเกษตรกรเอง 3 ประกอบกับค่านิยมว่าการเป็นหนี้ คือ การมีเครดิตดี
ในปีพ.ศ. 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีแนวนโยบายประชานิยมต้องการหาเสียงและมองเห็นปัญหานี้ จึงริเริ่มนโยบายพักชำระหนี้สินให้แก่เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี โดยคาดหวังว่า เกษตรกรจะนำเงินที่ไม่ต้องใช้คืน ธ.ก.ส. ใน 3 ปีนี้ ไปทำการผลิตและสร้างรายได้สะสมทุนไว้ตั้งตัวได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้สินอีกในอนาคต แต่เงื่อนไขสำคัญของ ธ.ก.ส. ก็คือ หนี้ที่พักชำระนั้นจะต้องเป็นหนี้ที่กู้จาก ธ.ก.ส. ในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และในระยะเวลา 3 ปีระหว่างที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จะไม่สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพิ่มได้อีก เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ชาวนาที่กู้เงินเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนบาทไม่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ อ.พฤกษ์ เถาถวิล จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะแม้ตัวเลขในระบบจะลดลง แต่หนี้สินเกษตรกรกลับเพิ่มขึ้น แม้ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี แต่ 3 ปีนั้น ไม่ได้สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีเงินไปชำระหนี้ สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำไปชำระหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไม่ได้เป็นการลดหนี้ที่มีอยู่ แต่เป็นการเลื่อนเวลาในการชำระหนี้ออกไป 4 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลดหนี้ได้ ตามที่รัฐบาลประกาศไว้
จะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักของปัญหาหนี้สินไม่ได้อยู่ที่ระบบสินเชื่อ หรือปัญหาในครัวเรือนชาวนาแต่มาจากระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่ชาวนายากจนไม่สามารถเข้าถึงและควบคุมปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน เงินทุน และที่สำคัญคือการตลาดได้ แนวทางในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้ จะต้องแก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์ทางสังคมการผลิตภายใต้วิถีการผลิตแบบทุนนิยม โดยการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรชาวนาในการเข้าถึง และควบคุมปัจจัยการผลิตและการตลาด โดยสามารถกระทำได้สองระดับ คือ ระดับสถาบัน คือ การกำหนดองค์กรทางสังคมที่เป็นของชาวนาในการต่อรองกับองค์กรทุนและรัฐเดิม เพื่อเพิ่มอำนาจและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการควบคุมปัจจัยการผลิต และรูปแบบการหมุนเวียนและการตลาดให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และรัฐโดยในทางรูปธรรมคือสนับสนุนให้สภาเกษตรเกิดผลในทางกฎหมาย และแนวปฏิบัติให้มีความเข้มแข็ง ในการควบคุมปัจจัยการผลิต และมีอำนาจต่อรองในด้านราคาผลผลิตในระบบตลาดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ควบคุมราคาสินค้าบริโภคและต่อรองเพื่อเพิ่มสวัสดิการของรัฐให้ทั่วถึง และระดับบุคคล คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่พึ่งปัจจัยทุน ปัจจัยการผลิต และระบบตลาดให้น้อยลง เช่น แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการระดมทุนในรูปกองทุนชุมชน โดยสังคมจะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานองค์กรของชาวนาอย่างจริงจัง

สหกรณ์การเกษตรกับการพัฒนาชนบทไทย


นายดลภัทร์ โตนาม


แนวคิดเรื่องสหกรณ์ในประเทศตะวันตกนั้นมีมูลเหตุมาจากความยากจนหรือความอัตคัดขัดสน อันมีผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับใช้แทนแรงงานคนในการผลิตสินค้าและบริการ ส่งผลให้นายจ้างต้องการลงทุนเพื่อหากำไรให้ได้มากๆ ซึ่งในการผลิตสินค้าหรือบริการให้มีต้นทุนต่ำ นายจ้างจึงต้องลดอัตราค่าจ้างให้ต่ำลง ส่งผลให้ลูกจ้างมีรายได้ไม่พอแก่การครองชีพ ความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงมีนักคิดหลายท่านที่พยายามคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา นักคิดที่สำคัญคนหนึ่งคือ โรเบอร์ต โอเวน โดยโอเวนได้แนะนำให้คนงานเหล่านั้นไปรวมตัวกันอยู่ในรูปชมรมชนิดหนึ่งซึ่งโอเวนเรียกว่า “ชมรมสหกรณ์”

สำหรับความคิดเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เกิดขึ้นในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2457 ซึ่งมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจาก การที่ประเทศไทยได้เริ่มมีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้นประกอบกับการทำสนธิสัญญาการค้าต่าง ๆ ที่นำประเทศไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยม ส่งผลต่อภาคการผลิตในชนบทโดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะต้องขยายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออก ระบบเศรษฐกิจชนบทจึงเปลี่ยนจากระบบเลี้ยงตนเองมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการเงินทุนในการขยายการผลิต ทำให้การกู้ยืมเงินทุนจากนายทุนท้องถิ่นที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง นอกจากนี้เกษตรกรยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางในการขายผลผลิต เกษตรกรจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา

จากสภาพปัญหาความยากจนและหนี้สินดังกล่าว ทำให้ทางราชการพยายามหาทางแก้ไข ดังนั้นต่อมารัฐบาลได้เชิญ เซอร์เบอร์นาร์ดฮันเตอร์ (Sir Benard Hunter) หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราส ประเทศอินเดีย เข้ามาสำรวจหาลู่ทางช่วยเหลือเกษตรกรและได้เสนอว่าควรตั้ง “ธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ” ดำเนินการให้กู้ยืมแก่ราษฎรโดยมีที่ดินและหลักทรัพย์อื่นเป็นประกัน เพื่อมิให้เกษตรกรที่กู้ยืมเงินหลบหนีหนี้สิน พร้อมทั้งแนะนำให้จัดตั้งสมาคมเรียกว่า “โคออเปอร์เรทีพ โซไซตี้” (Cooperative Society) เพื่อควบคุมการกู้เงิน และการเรียกเก็บเงินกู้ โดยใช้หลักการร่วมมือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งคำนี้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “สมาคมสหกรณ์” และได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้”

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีสภาพปัญหาที่เป็นปัญหาภายใต้ระบบกลไกตลาดซึ่งเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนได้แก่ การขาดแคลนเงินทุน เงินทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพไม่เพียงพอ ต้องกู้ยืมจากพ่อค้า หรือนายทุน ทำให้เสียดอกเบี้ยแพง การขาดแคลนที่ดินทำกิน เกษตรกรบางรายมีที่ดินทำกินน้อย บางรายไม่มีที่ดินเป็นของตนเองต้องเช่าที่ดินผู้อื่นทำกิน โดยเสียค่าเช่าแพง และถูกเอารัดเอาเปรียบจากการเช่า ปัญหาในเรื่องการผลิต เกษตรกรขาดความรู้เกี่ยวกับการผลิตสมัยใหม่ที่ถูกต้อง ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ขาดปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบชลประทาน การคมนาคมขนส่ง ไม่มีที่เก็บรักษาผลผลิต เป็นต้น ปัญหาการตลาด ความจำเป็นต้องจำหน่ายผลผลิตตามฤดูกาล ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องการชั่ง ตวง วัด และปัญหาสังคม จากปัญหาทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อชุมชนในสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตและฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าคนประกอบอาชีพอื่น ขาดการศึกษา การอนามัย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกผู้มีอาชีพทางการเกษตรดำเนินกิการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิกและช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้นซึ่งปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศไทยมีทั้งสิ้น 3,885 แห่ง ประกอบด้วยสมาชิกผู้มีอาชีทางการเกษตรจำนวน 5,995,263 คน โดยดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ และสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก โดยสหกรณ์จะทำการสำรวจความต้องการของสมาชิกก่อน แล้วจึงจะจัดหามาจำหน่าย เพราะการรวมกันซื้อในปริมาณมากจะทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง และเมื่อถึงสิ้นปีหากสหกรณ์มีกำไร ก็จะนำเงินนี้มาเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิก นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรยังจัดหาตลาดจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์ของสมาชิก โดยการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกมาจัดจำหน่าย ทำให้ไม่ถูกกดราคาในการรับซื้อผลผลิต และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการชั่ง ตวง วัด ยิ่งไปกว่านั้นสหกรณ์การเกษตรยังสามารถจะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ เนื่องจากการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปได้ ทำให้สมาชิกมีเงินกู้เพื่อนำไปลงทุนเพื่อการเกษตร รวมทั้งสหกรณ์การเกษตรยังรับฝากเงิน เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และเป็นการระดมเงินทุนในสหกรณ์โดยสหกรณ์จะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกอีกด้วย นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรยังอาจจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางการเกษตรคอยให้ความรู้ คำแนะนำแก่สมาชิก ตลอดจนวางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพตรงความต้องการของตลาด และส่งเสริมความรู้ทางเกษตรแผนใหม่

จากการกู้เงินสหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาประกอบอาชีพ ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินทำกินมากกว่าเดิม ทั้งยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ตั้งแต่การใช้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การใช้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การเก็บรักษาผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ผลิตผลที่ได้จึงเป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์และบุคคลในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ดังนั้นสหกรณ์การเกษตรจึงช่วยให้เกษตรกรที่มีอยู่ในชุมชน หรือสังคมนั้นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมมีความสงบสุขบุตรหลานสมาชิกได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีสุขภาพอนามัยที่ดีเนื่องจากเกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทยยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคงพอที่จะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เหมือนอย่างกิจการสหกรณ์ของประเทศอื่นๆ เนื่องจากสหกรณ์ของประเทศไทยที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2459 เป็นต้นมานั้น เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยรัฐ และควบคุมโดยรัฐอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะมีการเรียกหุ้นจากสมาชิก และน่าจะเป็นของสมาชิกและดำเนินการโดยสมาชิกอย่างอิสระ แต่กฎหมายทุกฉบับที่ออกมาใช้ก็ได้พยายามบิดเบือนหลักการให้อิสระและเสรีภาพของการดำเนินงานของสหกรณ์มาตลอด โดยมีเหตุผลว่าเกษตรกรยังโง่ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ข้ออ้างดังกล่าวทำให้สหกรณ์การเกษตรไม่สามารถพัฒนาไปได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกษตรกรผู้ที่เป็นสมาชิกรู้สึกว่าสหกรณ์การเกษตรนั้นเป็นเรื่องของทางราชการไม่ใช่เรื่องของตน ตนเองเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ไปกู้ยืมเงินเขาเท่านั้น ทำให้ไม่กระตือรือร้นที่จะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของตนเองในงานสหกรณ์ นอกจากนี้การที่สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เสมือนผู้อำนวยความสะดวกในการรวบรวมสินค้า และกระจายเงินทุน ทำให้สหกรณ์การเกษตรไม่ใช่หน่วยเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ โดยทั่วไปสหกรณ์การเกษตรเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก หรือสามารถจัดหาอุปกรณ์ทางเกษตร และขายผลิตผลได้ในราคาที่เหมาะสมได้ยาก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เกษตรกรหรือสมาชิกสหกรณ์จะมีแนวโน้มให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของตนเองที่ได้รับจากสหกรณ์มากกว่าที่จะสนใจว่าสหกรณ์ในฐานะองค์กรควรจะได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินได้อย่างไร นอกจากนั้นสหกรณ์ยังอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้กดดันจากการแข่งขัน ไม่มีมาตรฐานเพื่อเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างสหกรณ์ เป็นผลให้สหกรณ์มีต้นทุนการดำเนินงานมากกว่าที่ควรจะเป็น อาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์ภาคการเกษตรเองไม่ได้มองว่าตนเองว่าเป็นองค์กรที่ต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี ดังนั้นการที่ขบวนการสหกรณ์การเกษตรจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลการดำเนินงาน การพิจารณาถึงจำนวนสมาชิกหรือปริมาณธุรกิจ ตัวอย่างการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรที่ประสบความสำเร็จ คือสหกรณ์การเกษตรของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเกษตรกรชาวดัตซ์ได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของตน โดยสหกรณ์การเกษตรจะจัดหาสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องจักรเกษตร และน้ำมันมาจำหน่ายแก่สมาชิกเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้สหกรณ์ยังขายผลิตผลเกษตร เช่น ผักสด ดอกไม้ ผลไม้ ซึ่งเป็นประเภทเสียเร็วแก่พ่อค้าคนกลาง โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่ต่อรองกับพ่อค้าซึ่งทำให้สมาชิกได้รายได้สูงกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นสหกรณ์การเกษตรของชาวดัตซ์ยังสามารถแปรสภาพวัตถุดิบเกษตรให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปก่อนขายไปในท้องตลาดได้อีกด้วย

จากตัวอย่างสหกรณ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์จะเห็นข้อแตกต่างกับสหกรณ์ในประเทศไทยในประเด็นเรื่องการจัดตั้ง กล่าวคือในประเทศเนเธอร์แลนด์ การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเป็นความต้องการของเกษตรกรเอง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขณะที่การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรของไทยนั้นเป็นสิ่งที่รัฐเป็นผู้ที่เข้าไปแก้ปัญหา มิได้เกิดจากจิตสำนึกร่วมกันเพื่อต่อสู้ของเกษตรกรอย่างแท้จริง เกษตรกรจึงมิได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสหกรณ์ดังที่กล่าวไปแล้ว การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของเกษตรกรจึงเป็นการเคลื่อนไหว รวมตัวกันอย่างเฉพาะกิจ ในการต่อสู้กับประเด็นต่างๆ เป็นกรณีๆ มิได้มีการต่อสู้เรียกร้องผ่านการร่วมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ ฉะนั้นเพื่อที่จะได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร การดำเนินการจัดตั้งควรเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่สนใจ ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอยากตั้ง ไม่ควรเอางานสหกรณ์ไปยัดเยียดให้ประชาชนที่ยังไม่พร้อม แต่ควรส่งเสริมและช่วยเหลือผู้นำท้องถิ่นในการจัดตั้งกลุ่ม หรือสหกรณ์ของเขาขึ้นเองหากประชาชนส่วนใหญ่ไร้การศึกษา ท้องถิ่นขาดผู้นำ รัฐจึงควรต้องพยายามดำเนินงานสหกรณ์เสียเอง แต่ต้องเป็นระยะชั่วคราวเท่านั้น หน่วยงานของรัฐด้านสหกรณ์ควรทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำในฐานะพี่เลี้ยง ไม่ใช่ให้มีอำนาจระงับยับยั้งขบวนการสหกรณ์

แปลงสินทรัพย์เป็นทุน

นายภูริพงศ์ มงคลหัตถี

แปลงสินทรัพย์เป็นทุน คือ การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันจะเป็นการสร้างโอกาสแก่ประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงเป็นทุน เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงานสร้างรายได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการสร้างความมั่งคงตามเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน(องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2546

นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มีที่มาแนวคิดจากนายเฮอร์ นานโด เดอร์โซโต ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศเปรู ซึ่งเขามองว่าเงินทุนจากต่างประเทศที่มาสู่ประเทศของเขา เมื่อรวมกันแล้วน้อยกว่าหลายสิบเท่าของสินทรัพย์คนจนที่มีอยู่ในประเทศ แต่ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันได้ ขณะที่ประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่า สินทรัพย์ของคนจน และสินทรัพย์ของนักธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ก็มีอยู่มากเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยการนำทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะคนจน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งผลให้มีการพัฒนาที่ยังยืน

แนวทางการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมีหลักการพื้นฐาน คือ เอกสารสิทธิแบบมีเงื่อนไขและสามารถกำกับดูแลการโอนสิทธิได้ โดยมีแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติในสินทรัพย์ 5 ประเภท คือ
1. ที่ดินและทรัพย์สินติดกับที่ดิน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้บริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องดังนี้ สปก. กรมที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
2. ทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
3. เครื่องจักร โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
4. หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณะ โดยกรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
5. สัญญาเช่า เช่าซื้อ โดย กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และการเคหะแห่งชาติ
โดยที่มีธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารออมสิน เป็นหลักในการกระจายสินเชื่อ ซึ่งมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำศูนย์ข้อมูลกลาง
ตัวอย่าง สัญญาเช่าที่ดินของรัฐถ้าเพื่อการเกษตร นำไปเข้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ถ้าเช่าที่ดินของรัฐเพื่ออยู่อาศัย ต้องนำไปเข้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ และถ้าเช่าที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจ ต้องนำไปเข้าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME BANK) เป็นต้น

กรอบนโยบาย ทิศทาง และแนวทางการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

  • เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ สัญญาเช่า หนังสืออนุญาต

  • มีการประเมินสินทรัพย์ที่ถูกต้องและเป็นธรรม
    มีระบบระงับข้อพิพาทนอกศาล (Clearing House)

  • ให้มีฐานข้อมูลกลาง

  • มีข้อตกลงกับสถาบันการเงิน
    การแก้ไขระเบียบและกฎหมาย

  • การจัดทำแผ่นปฏิบัติการ

  • ให้มีการศึกษานโยบายระยะยาว

  • ขั้นตอนการร่วมโครงการ มีดังนี้ ผู้ประกอบการยื่นคำขอ พร้อมหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน สถาบันการเงินพิจารณาคำขอ โครงการ และประเมินราคา สถาบันการเงินอนุมัติและทำสัญญาหลักประกัน แจ้งบันทึกข้อมูล และเบิกเงินกู้

  • กรณีลูกหนี้ผิดสัญญา สถาบันการเงินออกหนังสือเตือนลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตาม ดำเนินการดังนี้ สถาบันการเงินเจรจากับลูกหนี้ โดยระบบระงับข้อพิพาทนอกศาล หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามก็จะเข้าสู่กระบวนการศาลต่อไป

ในมุมมองของเกษียร เตชะพีระได้มองนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนว่า นับเป็นการผลักไสที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของรัฐของหลวงที่เหลือก้อนสุดท้ามอยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ยิ่งกลายเป็นสินค้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ในตลาดทุนนิยมถลำลึกเข้าไปอีก (further privatization & commodification of public properties) โดยผลักมันผ่านมือคนจนรากหญ้า ที่ดินสาธารณะถูกนำมาแจกให้แก่คนจนจริงๆ แต่แจกให้ในระบบตลาด (market-led land reform) โดยรับเป็นปัจเจกบุคคลไม่ใช่ชุมชนสหกรณ์ รับเป็นกรรมสิทธิ์ที่นำไปวางค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันเงินพาณิชย์ภาคเอกชน ทำให้เข้าถึงทุนได้ เสี่ยงได้ ถ้าสำเร็จก็รวยได้ ถ้าล้มเหลวก็ล้มละลายได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินจากการปฏิรูปนั้นก็อาจหลุดมือได้ อาจสรุปได้ เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า

“การเอาที่ดินจากรัฐจากหลวงมาให้คนจนในตลาดซึ่งคนจนอาจสูญเสียที่ดินไปให้คนรวยในท้ายที่สุด”

(Take it from the public & give it to the poor in the market who may lose it to the rich in the end)


ผลลัพธ์รวมของนโยบายนี้ เป็นแกนหลักของแนวทางการพัฒนาแบบประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ สอดคล้องลงตัวกับตรรกะเป้าหมายของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นั่นคือ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า และทำให้ชาวนาไม่เป็นชาวนา หลุดพ้นจาพันธะชุมชนที่ปกป้อง กลายเป็นปัจเจกที่ต้องลงสนามแข่งขันกับผู้ที่เข็มแข็ง จะประสบความสำเร็จน้อยราย ส่วนใหญ่พ่ายแพ้ กลายสภาพเป็นแรงงานรับจ้างหรือ กรรมาชีพในที่สุด (proletarianization)ซึ่งเสริมโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า ในกรณี การแปรที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นทุนในที่สุดก็จะทำให้ที่ดินนั้นหลุดจากมือของเกษตรกรรายย่อย แม้จะมีข้อบังคับว่าผู้ที่จะรับที่ดินโอนจากสถาบันการเงินนั้นต้องเป็นเกษตรกร แต่ก็มีคำถามว่า ซีพี เป็นเกษตรกรหรือไม่ ในที่สุดเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่และเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว

สรุป นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตามแบบตะวันตกที่เป็นทุนนิยมโดยแท้ ซึ่งถูกครองงำโดยวาทกรรมการพัฒนาซึ่งเป็นแนวคิดการครอบงำของโลกตะวันตก ซึ่งส่งผลกระทบที่มีปัญหาต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เป็นต้น เห็นได้จากผลลัพธ์ของนโยบายนี้

การปฏิรูปที่ดิน


นาย ธวัชชัย เอื้อสุขเจริญชัย



เงื่อนไข ปัจจัยนำไปสู่มูลเหตุแห่งการปฏิรูปที่ดิน
พัฒนาการด้านการจัดสรรที่ดินในสังคมไทยสามารถจำแนกได้เป็น 4 ช่วงยุคหลักๆ ตามเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบอบการเมืองการปกครองในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2475 เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตย การจัดการที่ดินทั้งปวงจะเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะจัดสรรผ่านไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังสามารถถือครอง ทำประโยชน์ที่ดินได้โดยอิสระ ทั้งนี้ วิถีการผลิตของสังคมในช่วงนี้จะเป็นไปเพื่อการยังชีพเป็นด้านหลัก ปัจจัยทุนนิยมยังไม่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากนัก ยังคงกระจุกตัวอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยเฉพาะตามเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่ราบภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมุ่งเน้นทำการผลิตเพื่อการค้า และการแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าชาวจีน และยุโรป

2. ช่วงปี พ.ศ. 2475 – 2500 หลังการปฏิวัติสังคมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจจากกษัตริย์มาสู่คณะราษฎร และเผด็จการทหาร ในช่วงดังกล่าวนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ( สมุดปกเหลือง ) ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับที่ดิน โดยเสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินมาจากเอกชน แล้วให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ชาวนาชาวไร่ที่สมัครใจทำการเกษตรสามารถทำได้ โดยอยู่ในฐานะข้าราชการรับเงินเดือนจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยกล่าวหาว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้เค้าโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้เสนอได้

3. ช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2530 หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยการยกเลิกมาตรา 34 – 49 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยการกำหนดสิทธิในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ไม่เกิน 50 ไร่ เพื่ออุตสาหกรรมไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อพาณิชยกรรมไม่เกิน 5ไร่ และเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ไร่ โดยอนุญาตให้ปัจเจกบุคคลสามารถถือครองที่ดินโดยไม่จำกัดขนาด ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การยกเลิกกฎหมายตามมาตราดังกล่าวข้างต้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า มีเจตนาสนองความต้องการกลุ่มทุน และเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ในขณะนั้น ไม่ให้สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเป็นสำคัญ กระทั่งต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ในปี
พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก ผลจากการพัฒนาการผลิตแบบทุนนิยม ได้นำมาสู่การเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ กระทั่งเกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวนาในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยการประกาศจัดตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” เพื่อเรียกร้องต่อสู้ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เช่น ที่ดิน ราคาผลผลิต ผลกระทบจากโครงการรัฐ รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการตรากฎหมายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี พ.ศ. 2518 โดยมีเป้าประสงค์ให้นำที่ดินของรัฐและที่ดินจัดซื้อหรือเวนคืนจากเอกชนที่มีอยู่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด มาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำมาหากินหรือมีแต่ไม่พอยังชีพในลักษณะของการเช่า หรือเช่าซื้อ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวกลับถูกบิดเบือน และลดทอนความสำคัญโดยหน่วยงานราชการในเวลาต่อมา
4. ช่วงปี พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นพลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ โดยรัฐบาลในสมัยนั้นได้ดำเนินนโยบายการส่งเสริมภาคเอกชนในด้านต่างๆ รวมทั้งให้สิทธิพิเศษด้านการค้า การลงทุนจำนวนมาก ตามคำขวัญ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วง “สงครามแย่งชิงทรัพยากร” นั่นเองและรัฐยังดำเนินมาตรการที่เข้มงวดต่อประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน โดยยึดถือแนวคิด “การแยกคนออกจากป่า” เป็นแกนหลักในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ดินของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีเรื่องพิพาทกับรัฐ จะพบว่ากระบวนการผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ได้พัฒนาเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยม โดยปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาจากนายทุนภายนอกแทบทั้งสิ้น ทำให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน อันเนื่องมาจากภาระหนี้สินเกินตัว ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้คืนสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ
ทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหา

ประการแรก การปฏิรูปที่ดินต้องนำมาซึ่งการกระจายการถือครองที่ดิน ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดในประเทศไทยการปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงนโยบายที่นำเอาพื้นที่ป่าที่อ้างว่าเสื่อมโทรมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร แต่มิได้มีมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ตัวเลขของพื้นที่ที่ถูกนำมาปฏิรูปตั้งแต่ พ.ศ.2518 ถึง 2542 ยืนยันถึงความข้อนี้เป็นอย่างดี จากพื้นที่ปฏิรูปที่ดินประมาณ 60 ล้านไร่ มีเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้มาจากการเวนคืนหรือการซื้อจากเอกชน ส่วนที่เหลือแทบเป็นที่ดินของรัฐซึ่งก็คือพื้นที่ป่า เมื่อการปฏิรูปที่ดินไม่นำมาซึ่งการกระจายการถือครองที่ดิน ภาพที่ขัดแย้งภายในสังคมของเราก็คือว่ามีบุคคลจำนวนหยิบมือถือครองที่ดินอันไพศาล แต่เกษตรจำนวนไพศาลถือครองที่ดินเพียงหยิบมือ เมื่อปราศจากมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น การใช้ภาษีแบบก้าวหน้ากับเจ้าที่ดิน ความพยายามที่จะเข้าครอบครองที่ดินก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งโดยวิธีการที่ถูกและผิดกฎหมาย และก็ได้กลายเป็นแรงกดดันส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่ดินหลุดไปจากมือของเกษตรกรรายย่อย

ประการที่สอง ต้องมีมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน แม้บุคคลที่ได้รับจัดสรรที่ดินจะเป็นเกษตรกรที่ยากจนก็ตาม แต่ตราบเท่าที่ไม่มีการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เช่นยังปล่อยให้มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ที่ดินซึ่งได้รับมาก็ยากจะหลีกเลี่ยงต่อการตกเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายที่ดิน ถึงกฎหมายปฏิรูปที่ดินจะห้ามการซื้อขายหรือการโอนระหว่างบุคคลที่ไม่ได้เป็นทายาทตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่ได้กันทั่วไปก็คือเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากธุรกิจการค้าที่ดิน แม้จะอยู่ในพื้นที่ของการปฏิรูปแต่ที่ดินเหล่านี้ก็พร้อมจะบินไปอยู่ในมือของบุคคลอื่น ซึ่งอาจใช้อำนาจเงิน ทำให้กลายเป็นการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา

ประการที่สาม ควรจะต้องมีการทบทวนและแก้ไขปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนระบบทรัพย์สิน และไปมุ่งเน้นเรื่องการเปิดโอกาสคนจนให้เข้าถึงแหล่งที่ดินทำกินได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากจะมีการออกเอกสารสิทธิ ก็ไม่ควรจำกัดเฉพาะบุคคล แต่ควรให้ในลักษณะชุมชนเพื่อให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน หากทำได้ดังนี้ จะทำให้การพัฒนาของประเทศมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความล้มเหลวของนโยบายป่าไม่ชุมชนที่พังยับเยิน ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะฉะนั้น ควรมีการทบทวนเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เอกชนครอบครองอยู่ ที่ไม่ควรให้สิทธิอย่างเด็ดขาดจนเกินไปแต่ให้คำนึงเรื่องการจัดสรรแก่ชุมชนเป็นหลัก