7.28.2551

อยู่ดีอย่างพอเพียง??

สรมาส จันทรแดง

กรอบแนวคิด “ความอยู่ดีมีสุข” พัฒนามาจากแนวคิดของศาสตราจารย์อมาตยา เซน(พ.ศ. 2528) ซึ่งระบุไว้ว่า “ผลกระทบขั้นสุดท้ายของการพัฒนาก็คือ การทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ และปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกวิธีการไปสู่ความสำเร็จด้วยตัวของเขาเอง ส่วนการมีรายได้จะเป็นเพียงเครื่องมือหรือทางผ่านไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น” ซึ่งแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ฉบับที่ 9 และฉบับที่10 ซึ่งมุ่งเน้น “คน” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แนวคิดเรื่องอยู่ดีมีสุขนั้นยังอยู่ภายใต้พื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี การพัฒนานั้นจะเน้นการพัฒนา “คน” เพื่อ ผลประโยชน์ของประชาชน โดย ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเริ่มต้นจาก “การพึ่งพาตนเอง” ดำเนินการด้วยความรอบคอบ วิเคราะห์ ระมัดระวัง “ทำตามลำดับขั้นตอน” รู้จักประมาณตน และมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของของชุมชน

ในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข นั้น มีที่มา ๒ ประการ คือ ประการแรก มาจากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ ซึ่งมุ่งเน้นให้สังคมมีเป้าหมายในการพึ่งตนเอง มีความสามัคคี และมีความอยู่เย็นเป็นสุข ยึดหลักปรัชญาพอเพียง (พอประมาณ บนพื้นฐานของความพอดี ความสมดุลระหว่างความสามารถในการพึ่งตนเองกับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก) และ คำนึงถึงความเป็นไปได้ในสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประการที่สอง มาจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขยายจำนวนประชาชน ให้ได้รับการดูแลมากขึ้น แม้จะไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มก็ตาม

โครงการอยู่ดีมีสุขนั้นมีองค์กรดำเนินงาน 3 ระดับคือองค์กรระดับชาติ องค์ระดับจังหวัด และองค์กรระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ ยุทธศาสตร์นั้นประกอบด้วย ๕ ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการสงเคราะห์ เน้นการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาส หรือครอบครัวยากจนที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานในชุมชนนั้น ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพัฒนาการเกษตรให้เป็นไปตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นบทบาทชุมชนในการบริหารจัดการ ชุมชนเป็นผู้กำหนดแผนงาน สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ขึ้นเอง ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน เน้นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีลู่ทางในตลาด เป็นการเชื่อมโยงตลาดและเอกลักษณ์ท้องถิ่น และด้านการบริการประชาชนเน้นการพัฒนาบริการประชาชนทั้งที่จังหวัด/อำเภอ/หน่วยปกครองท้องถิ่น ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ เช่น การจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการของรัฐ การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมอำเภอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขซึ่งประกอบไปด้วย 7หลักด้วยกัน ได้แก่ สุขภาพอนามัย ความรู้และการศึกษา ชีวิตการทำงาน รายได้และการกระจายรายได้ สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต ชีวิตครอบครัว การบริหารจัดการที่ดีของรัฐ

เมื่อมองย้อนกลับไปดูถึงแผนพัฒนาฯที่ผ่านมา ในช่วงฉบับที่ 5-6นั้น มีการเปลี่ยนแบบวิถีการผลิตแบบพอยังชีพ ไปสู่การผลิตเพื่อการค้า โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมและการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่กระจายสู่ชนบท โดยที่ไม่เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตและยังมุ่งตอบสนองคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะชนชั้นนำ และ ยังมองว่าความเจริญทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าในฉบับที่7 จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาภายในประเทศไทย ตั้งแต่มีการใช้แผนพัฒนาฯที่ผ่านมาก็คือ การนำประเทศไปผูกติดกับชาติมหาอำนาจ โดยแนวความคิดที่มีอิทธิพลเท่าที่ผ่านมาก็คือ แนวความคิดกระแสหลัก ที่มีจุดมุ่งหมายสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรม จนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยต้องพึ่งพิงต่างชาติจนเกินไป และแทนที่คนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ กลับกลายเป็นคนที่เข้าถึงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นฝ่ายได้ ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงก็แบกรับภาระปัญหาความยากจนไป นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาในเรื่องความไม่สมดุลของระบบนิเวศตามมาอีกด้วย ปัญหาต่างๆอันเกิดจากการพัฒนาเหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาประเทศตามแนวคิดกระแสหลักไม่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย

ต่อมาได้เกิดแนวคิดยุคหลังทฤษฎี “กระแสหลัก”ขึ้น โดยมีคุณสมบัติหลักคือ การมองสู่ปัญหาภายใน มีความสนใจที่จะหาทางสร้างสิ่งใหม่ๆบนรากฐานของทรัพยากรในประเทศ และในขณะเดียวกันต้องได้รับการกระจายผลตอบแทนจากทรัพยากรให้ยุติธรรมและเสมอภาคกันด้วยนั้น แนวคิดดังกล่าวจึงได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้แสดงจุดหักเหในแนวคิดการวางแผนที่สำคัญ คือ การหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยมี“คน”เป็นศูนย์กลาง การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียง “เครื่องมือ” ของการพัฒนา “คน” ต่อมาในฉบับที่ 9ได้อัญเชิญ"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนา และสานต่อมาในฉบับที่10 ดังนั้นโครงการอยู่ดีมีสุขจึงอยู่ในกรอบของแผนพัฒนาฯในฉบับปัจจุบัน ในแง่ของการที่มุ่งเน้น “คน” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา กระจายอำนาจ และทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนได้เข้าถึงได้มากขึ้น อันเป็นการแก้ปัญหาอันเกิดจาก แผนพัฒนาฯ ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ประเด็นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจก็ยังเป็นเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ภายใต้ระบบตลาดเสรี ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขนั้นนับว่ามีความสอดคล้องกับแนวความคิดการพัฒนายุคหลังทฤษฎี “กระแสหลัก” เป็นอย่างยิ่ง และยังสามารถนำมาใช้ในการปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานของแผนพัฒนาฯที่ผ่านมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการอยู่ดีมีสุขเอง ก็พบปัญหาอุปสรรคหลายประการเช่นกัน เป็นต้นว่า ชุมชนไม่เข้าใจหลักการสำคัญของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และเข้ามามีส่วนร่วมน้อย บางชุมชนมีข้อมูลของแผนชุมชนไม่เรียบร้อย ไม่ได้ทำจากข้อมูลของพื้นที่จริง การจัดสรรงบลงสู่หมู่บ้านและชุมชนไม่ทั่วถึง ขณะที่หมู่บ้านและชุมชนบางแห่ง นำงบประมาณไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าโครงการอยู่ดีมีสุข จะมีแนวความคิดและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้โครงการอยู่ดีมีสุขกำลังประสบปัญหาอยู่เสียเอง ดังนั้น นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ จะต้องรีบคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้
คนไทยต้องรู้จักพอเพียง ไม่โลภจนเกินไป ไม่งั้นจะเป็นเหมือนอเมริกา ที่การเงินล่มทั้งประเทศ