เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ในหลวงภูมิพลทรงมีพระราชดำรงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ คำว่าพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ มีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยน แปลงทั้งภายนอกภายใน และเศรษฐกิจพอเพียงยังเน้นเรื่องจริยธรรมของคนไม่ว่าจะเป็นคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงประเด็นเชิงคุณค่าต่างๆ เช่น ความรอบรู้ที่เหมาะสม ความอดทน ความเพียร สติปัญญา และความรอบคอบ
เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงได้กลายมาเป็นแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศไทยโดยประกาศเป็น นโยบายรัฐบาลและเผยแพร่ต่อนานาประเทศผ่านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่อต้านทานการครอบงำของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ในฐานะที่เป็นทหารหรือคนของพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนใช้จะต้องมีนิสัยสอดคล้องกับเจ้านายของตน เราจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลนี้จะชูประเด็นเรื่องคุณธรรมมาเป็นอันดับหนึ่ง และก็สะท้อนออกมาด้วยเช่นกันจากนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ผนวกคุณค่าทางจริยธรรมไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกันนักวิชาการสายมาร์กซ์ใจ อึ๊งภากรณ์ มองว่าคณะปฏิวัติก็คือชน ชั้นนำฝ่ายเสรีนิยมกลไกตลาดที่คัดค้านสวัสดิการสำหรับคนจน เขากล่าวว่ารัฐบาลปฏิวัตินำเศรษฐกิจพอเพียงมาบังหน้าในขณะที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เซ็นสัญญาเอฟทีเอ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือกระทั่งทำ ซีแอลยาเพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐเป็นหลัก มิใช่เพื่อลดราคายาให้ประชาชน ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่นโยบายทางเศรษฐกิจเพราะเขาเห็นว่าไม่มีสาระพอ เป็นได้แค่ลัทธิทางการเมืองของชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมเพื่อใช้ประกอบกับ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อคัดค้านสวัสดิการจากรัฐในรูปแบบประชานิยมและรัฐสวัสดิการด้วย
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกล่าวถึงหลักการดำเนินชีวิตและธุรกิจที่เป็นทางสายกลาง ในเฉพาะส่วนของการดำเนินชีวิตนั้นมีส่วนเน้นอยู่ที่การพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้มีการประหยัด การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และการส่งเสริมระบบสหกรณ์ ทั้งนี้เน้นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นด้วย เช่น การส่งเสริมให้มีกลุ่มอาชีพ กลุ่มกองทุนการเงินในชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ให้พ้นความยากจนและช่วยเหลือคนยากจนด้อยโอกาส ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจเน้นเรื่องการจัดการความเสี่ยง มีแผนรองรับเพื่อความไม่ประมาท โดยเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปและพัฒนาอย่างต่อเนื่องขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคงและยั่งยืนทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกมองว่าสนใจเฉพาะการลดรายจ่าย มากกว่าการเพิ่มรายได้ ไม่ส่งเสริมให้มีการเรียกร้องใดๆ จากภาครัฐ และที่สำคัญก็คือผู้มีรายได้มากก็สามารถฟุ่มเฟือยได้ตามฐานะของตน เช่น ถ้าเศรษฐีจะซื้อเพชรสักล้านก็ถือว่าพอเพียง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าชาวนาซื้อรถมอเตอร์ไซด์มาใช้ก็อาจเป็นความฟุ่มเฟือยได้
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยมโดยสิ้นเชิงแต่เป็นการ เอาคุณธรรมมาใส่ทุนนิยม ดังที่นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้ตีความเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ กลายเป็นว่านโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลปฏิวัติอ้างในตอนนั้น สร้างความสับสนแก่นักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็คือสิ่งที่ต้องมีควบคู่ไปกับทุนนิยมต่อไป รัฐบาลต่อมาในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจึงรณรงค์ผ่านสื่อและโครงการต่างๆ แก่ประชาชนทุกวี่วัน ทำให้ในตอนนี้เศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ รัฐไทยไปแล้ว
นับได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ถูกหวังว่าให้แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากผลของการพัฒนาตามโลกสากลที่อิงอยู่กับกลไกตลาดของโลก ในหลวงภูมิพลทรงหวังดีต้องการจะแก้ปัญหาที่เกิดจากทุนนิยมนั้น หรืออาจจะทรงแค่เตือนสติผ่าน ทางปรัชญานี้ก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงอาจถูกตีความไปได้ต่างๆ นานา สิ่งที่ประชาชนจะได้จากแนวการพัฒนาตามเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลหรือชนชั้นนำยังคงต้องตั้งคำถามอยู่ เพราะตราบใดที่ยังไม่ปฏิเสธ ทุนนิยมและไม่สนับสนุนให้มีการกระจายรายได้และทรัพยากร ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือปัญหาความยากจนอาจจะยังคงอยู่คู่กับเศรษฐกิจพอเพียงตลอดไป
2 ความคิดเห็น:
เห็นด้วยกับบทความนี้มากๆครับ
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้พูดถึงกลไกตลาดว่าจะทำงานอย่างไร เน้นแค่การออมเงิน
และใช้จ่ายแบบประหยัด
เป็นการโปรโหมดอุดมการณ์ชาตินิยม-กษัตริย์นิยมมากกว่าทางออกของชาติ
คนไทยกำลังให้ความหมายกับเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าที่มันควรจะเป็นครับ
พอเพียงทำได้ถ้าเราพอใจ ใครคิดว่าทำแล้วมีประโยชน์กับตนก็ทำไปสิครับ ผมว่ามันก็เป้นเรื่องที่ดีหนิ ให้คนอดออม ทำอะไรตามความพอดี ถ้าคิดว่าทำอะไรแล้วเกิดผลดีก็ทำไปสิครับ ไม่เห้นจะต้องมาคิดว่ามันเป็นอุดมการณืชาติยม กษัตริย์นิยมอะไรเลย
แสดงความคิดเห็น