8.11.2551

กองทุนเงินทดแทน

นายวัชรพล คัคโนภาส

กองทุนเงินทดแทน การช่วยหลือสำหรับลูกจ้าง


กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นกองทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งกองทุนเงินทดแทนนั้นมีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้หลักประกันลูกจ้าง ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เฉพาะที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน


สำหรับกองทุนเงินทดแทน จะแตกต่างจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งนายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงรัฐบาล ต้องเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร่วมกัน แต่กองทุนเงินทดแทนนั้น นายจ้างต้องมีหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับแต่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จ่ายเงินสมทบประจำปี ปีละ 2 ครั้ง และต้องแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้าง ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบเหตุ โดยวิธีการในการจ่ายเงินสมทบครั้งที่ 1 จะจัดเก็บภายใน 31 มกราคมของทุกปี ซึ่งเรียกว่า “เงินสมทบประจำปี” ส่วนครั้งที่ 2 จัดเก็บภายใน 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเรียกว่า “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง” เนื่องจากเงินสมทบที่จัดเก็บเมื่อต้นปี คำนวณมาจาก ค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้า X อัตราเงินสมทบ และในระหว่างปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม หรือลดค่าจ้าง ดังนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างจึงมีหน้าที่แจ้งจำนวนค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งปีที่แล้ว ไปให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทราบอีกครั้ง เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี หากค่าจ้างที่ประมาณไว้เดิมน้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มภายในเดือนมีนาคม เว้นแต่ค่าจ้างที่ประมาณการไว้สูงกว่าค่าจ้างจริง นายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไป และหากนายจ้างจ่ายเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับ 3% ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย โดยที่อัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ที่จัดเก็บจากนายจ้าง จะแตกต่างกันตามลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 131 ประเภทกิจการ อัตราเงินสมทบจะอยู่ระหว่าง 0.2% - 1.0% ของค่าจ้าง เช่น กิจการขายอาหาร ต้องจ่ายเงินสมทบ 0.2% ของค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นกิจการก่อสร้างต้องจ่ายเงินสมทบ 1.0% ของค่าจ้าง เป็นต้น


ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนแล้ว ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานให้กับนายจ้างจะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนทันที โดยแบ่งเป็นกรณีดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วย ลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท ต่อการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย 1 ครั้ง หากเกินเบิกเพิ่มได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงอีกไม่เกิน 200,000 บาท และจะได้ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง หากแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
2.กรณีสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง ตามประเภทการสูญเสียอวัยวะและระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจะได้รับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ของสำนักงานประกันสังคม โดยค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์และอาชีพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท
3.กรณีทุพพลภาพ ลูกจ้างจะรับได้ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี
4.กรณีตายหรือสูญหาย ลูกจ้างจะได้รับค่าทำศพจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (ปัจจุบันจ่าย 18,100 บาท) และค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง เป็นเวลา 8 ปี แก่ทายาท


กองทุนเงินทดแทน ถือเป็นกองทุนที่มุ่งให้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับลูกจ้าง เป็นแนวนโยบายของรัฐที่พัฒนาขึ้นจากกองทุนประกันสังคมที่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างเฉพาะที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน โดยมุ่งเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานของลูกจ้าง ซึ่งถ้าลูกจ้างต้องประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ในขณะปฏิบัติงาน ลูกจ้างและครอบครัวจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งกองทุนเงินทดแทนจะสามารถแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้างได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนากองทุนดังกล่าว เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นกับลูกจ้าง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับลูกจ้าง และลดการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนากองทุนดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป เพราะได้เกิดกรณีของโรงพยาบาลเอกชนถอดตัวจากกองทุนเงินทดแทน โดยมีสาเหตุเพราะกองทุนเงินทดแทนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโรงพยาบาล โดยที่โรงพยาบาลได้ทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างไปก่อน แล้วไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมทีหลัง แต่ด้วยกฎเกณฑ์การพิจารณาของสำนักงานประกันสังคมที่ตั้งมาอย่างซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไว้เอง ดังนั้นแนวทางการพัฒนากองทุนเงินทดแทน แม้จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างให้ได้รับสิทธิที่พึงมีจากการปฏิบัติงาน แต่ก็ได้ส่งผลกระทบถึงโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นต้องเป็นภาระของกองทุนเงินทดแทนที่มีวัตถุประสงค์ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนากองทุนดังกล่าว จึงควรศึกษาและวางกรอบในการจัดการบริหารเงินในกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับลูกจ้างด้วย

สวัสดิการข้าราชการ

นายรณกฤษ ศรีเปรมหทัย

ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการ

การจัดสวัสดิการ หมายถึง กิจกรรมหรือกิจการใดๆที่คณะกรรมการสวัสดิการจัดให้มีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือและอํานวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการเพื่อประโยชน์ในการดํารงชีวิต หรือเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติราชการหรือที่คณะกรรมการสวัสดิการเห็นสมควรให้จัดเพิ่มขึ้นสําหรับส่วนราชการต่างๆ


วัตถุประสงค์
1.สร้างขวัญกําลังใจในการปฏิบัติงาน
2.ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน (เศรษฐกิจ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สิ่งอํานวยความสะดวกพื้นฐาน)
3.เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานกับผู้ปฏิบัติงานและระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน
4.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน


ผลการสำรวจภาวการณ์เจ็บป่วยของข้าราชการ,ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญ และบุคคลในครอบครัว ทำการสำรวจใน 12 จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทย โดยสุ่มเลือกข้าราชการและลุกจ้างประจำจำนวน 7,260 ราย ข้าราชการบำนาญ 7,060 ราย โดยใช้แบบสอบถามที่ตอบโดยตัวอย่าง (self administered questionnaire) ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2537 ถึงมิถุนายน 2538 จากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางในปี 2538 มีจำนวนข้าราชการและลูกจ้างประจำทั้งสิ้นจำนวน 1.85 ล้านราย การสำรวจพบว่าจำนวนบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิ์ในสวัสดิการ เฉลี่ยคนละ 2.577 ราย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์มีจำนวน 6,634 ล้านราย ส่วนข้าราชการบำนาญในปี 2538 ล้านราย การสำรวจพบว่ามีบุคคลในครอบครัวเฉลี่ยคนละ 0.616 ถึง 0.856 ราย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์มีจำนวน 0.322 ถึง 0.37 ล้านราย รวมเป็นผู้มีสิทธิ์ทั้งในกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญ และครอบครัว 6.69 ล้านราย ถึง 7 ล้านราย 2. ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว มีอัตราป่วย (ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) เท่ากับ 4.85 ครั้งต่อคนต่อปี ใช้บริการผู้ป่วยนอกในภาครัฐที่เบิกได้เท่ากับ 40% ใช้บริการที่ไม่สามารถเบิกเท่ากับ 58% และอื่น ๆ อีก 2% 3. ข้าราชการบำนาญและคู่สมรสมีอัตราป่วย (ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) เท่ากับ 8.2 ครั้งต่อคนต่อปี ใช้บริการผู้ป่วยนอกในภาครัฐที่เบิกได้เท่ากับ 48% ใช้บริการที่ไม่สามารถเบิกได้เท่ากับ 48% และอื่น ๆ อีก 4% 4. ข้าราชการและบุคคลในครอบครัวมีอัตรานอนโรงพยาบาลในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 0.146 ครั้งต่อคนต่อปี ผู้ป่วยเลือกใช้รพ.รัฐ 56% รพ. เอกชน 44% วันนอนเฉลี่ยในภาครัฐ 7 วัน ภาคเอกชน 4 วัน 6. อัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้มีสิทธิ์ในสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าประชาชนไทยทั่วไปที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ 2539) โดยกลุ่มอายุ 0-6 ปีมีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 2.8 เท่า กลุ่มอายุ 30-34 ปี มีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 2.2 เท่า และกลุ่มอายุ 60+ มีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 1.5 เท่า ส่วนกลุ่มอายุ 15-19 ปี อัตรานอนโรงพยาบาลใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไป


จากสถิติจะเห็นว่ามีผู้ที่ใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลมากถึงประมาณ 7 ล้านคน โดยบุคคลเหล่านั้นเข้าใช้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ทราบว่าบุคคลเหล่านี้มิได้ใช้เพียงสิทธิจากสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ยังจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าสวัสดิการนี้สร้างให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันก็ยังมีสวัสดิการสังคมและหลักประกันสุขภาพมีไว้สำหรับผู้ยากไร้ ซึ่งผู้ที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างของรัฐไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ สวัสดิการข้าราชการเป็นตัวเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ


เมื่อสังคมและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อวาทกรรมการพัฒนาของตะวันตก การพัฒนาดังกล่าวทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องออกระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการ ภายในส่วนราชการขึ้นใหม่ให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะมีผลในการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัวเขาเหล่านั้นเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆของรัฐ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับข้าราชการเป็นอันดับแรก เพราะ ข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐและนำนโยบายไปใช้กับประชาชน มิเช่นนั้นแล้วนโยบายจะไม่สัมฤทธิ์ผล


ปัญหาที่เกิดจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในหน่วยงานของรัฐ ตัวข้าราชการ พ่อแม่ หรือ ครอบครัวของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐ จะมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้ไป จากหน่วยงานต้นสังกัดได้ โดยในแบบเดิม คือ การที่ข้าราชการ หรือ ครอบครัวใช้จ่ายค่ารักษาไปเท่าไหร่ ก็สำรองจ่ายไปเองก่อนแล้วค่อยมาขอเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง
แต่ในปัจจุบัน หน่วยราชการส่วนใหญ่จะใช้ระบบ DRG4 คือ ราชการจะกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายให้เราเอง และไม่ให้ใช้เกินกว่านี้ เช่น ถ้าเราเป็นหวัด ต้นสังกัดจะจ่ายให้เราแค่ X บาท โรงพยาบาลอยากใช้วิธีการรักษายังไงก็ได้ ตามสบาย วิธีนี้จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินของสิทธิเบิกได้ดีขึ้น ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบานปลาย แต่จะส่งผลให้เกิดปํญหา คือ ถ้าเราไปโรงพยาบาล เค้าก็ต้องพยายามรักษาเราโดยให้ค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับ DRG มากที่สุด หรือถ้าคิดเลวร้ายกว่านั้น ถ้าคนที่จ่ายเงินไม่สนใจว่าจะจ่ายน้อยหรือมากกว่า DRG ของผู้ป่วย ก็จะกลายเป็นว่า จะรักษาเราโดยให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้กำไรจากการรักษามากที่สุด และให้ขาดทุนน้อยที่สุด
และในส่วนของการกรอกข้อมูลและเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายเงินเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมากสำหรับผู้ที่พ่อแม่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เพราะราชการจะมิให้เบิกจ่าย จึงจะต้องมีหลักฐานให้เรียบร้อยและครบถ้วน


สิทธิซ้ำซ้อนที่ใช้ในการเบิกค่ารักษาพยาบาล
ในอดีต ปัญหาเรื่องสิทธิซ้ำซ้อน เป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยผู้ที่ได้รับสิทธิจากสวัสดิการข้าราชการก็อาจมีสิทธิจากประกันสังคม หรือ อาจมีสิทธิจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ จึงทำให้สิทธิต่างๆถูกกระจุกตัวที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึงทุกคน และทำให้งบประมาณที่รัฐจัดสรรไว้ให้บานปลายและไม่เพียงพอ รวมทั้งความเข้าใจที่ว่าการออกบัตรซ้ำซ้อนเพื่อหวังงบประมาณรายหัว
แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้รับการแก้ไขแล้ว คือเมื่อมีสิทธิหลายทาง ตามหลักเจ้าของสิทธิควรมีสิทธิเลือก แต่เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จึงบังคับว่าหากมีสิทธิทางอื่นด้วย ให้ใช้สิทธิทางอื่นก่อน แต่ถ้าสิทธิทางอื่นๆนั้น ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกา จึงมีสิทธินำมาเบิกจากสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเฉพาะส่วนต่างเท่านั้น
ความคิดเห็นเพิ่มเติม


แนวคิดเรื่องสวัสดิการข้าราชการ สามารถนำมาเป็นพื้นฐานคิดอันนำไปสู่การต่อยอดให้เป็นสวัสดิการของบุคคลทั่วไปได้ เพราะหลักการของแนวคิดสวัสดิการ คือ การสร้างความเท่าเทียมกันให้บังเกิดขึ้น ดังนั้นสวัสดิการที่จำกัดในหมู่ข้าราชการฯลฯ จึงเป็นการจำกัดสิทธิ์อยู่ที่คนบางกลุ่ม โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีสวัสดิการอย่างอื่นที่รัฐจัดให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการอุดช่องว่างการจำกัดสิทธิ์ ดังกล่าวที่เห็นได้ในปัจจุบันสามารถนำมาใช้เป็นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการในอนาคต

ประกันสังคม

นายพีระวัฒน์ อัฐนาค

ประกันสังคม คือ การใช้เครื่องมือทางสังคม เพื่อป้องกันบุคคลจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่ว่าการตกลงมาอยู่ในสภาพดังกล่าวจะเป็นการชั่วคราว หรือถาวร

การประกันสังคมในประเทศไทย ระบบประกันสังคมไทยมีลักษณะเป็นร่ม 3 ชั้น คือ ร่มชั้นแรก เป็นการคุ้มครองแบบสังคมสงเคราะห์ หรือให้เปล่าโดยงบประมาณแผ่นดิน, ร่มชั้นที่สอง เป็นระบบประกันภาคบังคับที่ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐจ่ายเงินสมทบร่วมกัน และ ร่มชั้นที่สาม เป็นการประกันแบบสมัครใจ
ประเภทของระบบประกันสังคมในประเทศไทย เช่น กองทุนเงินทดแทน นับเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมไทยที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยกรมแรงงานเป็นผู้ควบคุมและบริหารกองทุนนี้ และเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน, โครงการบัตรสุขภาพ เป็นการมุ่งคุ้มครองการเจ็บป่วย การคลอดบุตร ซึ่งหน่วยงานที่ให้บริการ คือ กระทรวงสาธารณสุข, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การคุ้มครองประเภทนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกับการประกันชราภาพของการประกันสังคม ปัจจุบันรัฐได้มีการส่งเสริมโดยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเป็นเครื่องจูงใจ ขอบข่ายความคุ้มครองจึงจำกัดเฉพาะนายจ้าง และลูกจ้างที่ตกลงกันเพื่อร่วมรับผิดชอบ กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ข้อจำกัดของระบบประกันสังคมในประเทศไทย
ระบบประกันสังคมมีความเสี่ยงในเสถียรภาพระยะยาว สามารถอธิบายได้ดังนี้ ปัจจุบันมีการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อีกทั้งมีแรงกดดันทางการเมือง ที่ได้นำกองทุนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือเพื่อสนองนโยบายอื่นๆ เช่น พยุงตลาดหลักทรัพย์ และฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ กฎระเบียบของกองทุนก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก ทำให้กองทุนมีการปรับตัวเข้ากับปัญหาใหม่ได้ช้า และสนองความต้องการของผู้ประกันตนได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีปัญหาการให้บริการไม่ทั่วถึงแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล ประกอบกับจำนวนประชากรในภาคนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ตลอดจนสถานประกอบการขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ยังไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคม และผู้ประกันตนส่วนใหญ่ ยังมีหลักประกันไม่เพียงพอ รัฐจึงต้องยกเครื่องระบบประกันสังคม และสร้างโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสร้างระบบกองทุนสวัสดิการ ช่วยเหลือคนยากจนในหมู่บ้าน โดยรัฐจ่ายเงินสมทบกองทุนตามผลงาน ในส่วนกองทุนประกันสังคม ก็ต้องเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของกองทุน ด้วยการเพิ่มอัตราเงินสมทบควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเบี้ยบำนาญชราภาพให้ผู้ชรายังชีพอยู่เหนือเส้นความยากจนให้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรงบประมาณ และทรัพยากร เพื่อกระจายบุคลากรทางการแพทย์ ไปสู่พื้นที่ที่ไม่เจริญเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงในอนาคตของการประกันสังคมไทยคือ ปัญหาฐานะการคลังของรัฐที่จะต้องจุนเจือกองทุนต่างๆ มากขึ้น

ปัญหาของแรงงานนอกระบบในประเทศไทย
จากการเสวนาเพื่อผลัดดันนโยบาย เรื่อง ‘ร่วมคิด เร่งสร้าง การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ: ชีวิตและงานที่มีคุณค่า’ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ สสส. ได้ร่วมพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบ โดยในการเสวนาดังกล่าว ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. ได้กล่าวถึงจำนวนแรงงานนอกระบบที่มีมากถึง 21.8 ล้านคน จากจำนวนผู้มีงานทำ 35.5 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ เช่น งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง เนื่องจาก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ครอบคลุมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และในขณะเดียวกันก็มิได้มีกฎหมายเฉพาะๆ ที่จะคุ้มครองแรงงานนนอกระบบอย่างเพียงพอ จากการสำรวจพบว่า แรงงานนอกระบบประสบอุบัติเหตุจากการทำงานถึง 2.9 ล้านคน ซึ่งการรักษาโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายและอุบัติเหตุหรือโรคที่เกิดจากการทำงานทั้งหมด

ดังนั้น จึงสมควรจัดสวัสดิการที่จำเป็นได้แก่ 1) เงินชดเชย การขาดรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถทำงานได้ 2) กรณีทุพพลภาพ 3) กรณีเสียชีวิต ได้ค่าทำศพและเงินสงเคราะห์บุตรของผู้เสียชีวิต และ 4) กรณีชราภาพ และสำนักงานประกันสังคมต้องออกแบบการบริหารกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นนี้โดยเน้นการมีส่วนร่วมของแรงงานนนอกระบบในฐานะเจ้าของกองทุนที่แท้จริง
แรงงานนอกระบบ และกฎหมายคุ้มครอง ในระบบประกันสังคม

ปัจจุบันแรงงานนอกระบบ ได้มีการเรียกร้องสิทธิของตนเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอย่างรอบด้าน โดยเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้นำเสนอข้อเสนอให้กระทรวงแรงงานเร่งออก พ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... รวมทั้งระบุให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ โดยยึดหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทุกคนจ่ายเงินสมทบตามความสามารถและได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ โดยมีแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ดังนี้

1. พ.ร.บ. คุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ที่ผ่านมามีร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ (ฉบับกระทรวงแรงงาน และ ฉบับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ) ขับเคลื่อนคู่ขนานกัน แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทิศทางในระยะต่อไป คือ ขับเคลื่อนและผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับเครือข่ายใหม่ และในขณะเดียวกันจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันร่วมกับแกนนำเครือข่ายและช่องทาง Lobbing กับแกนนำคนสำคัญของพรรคการเมืองและเลขาธิการรัฐมนตรี
2. นโยบายขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ สถานการณ์ที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ผ่านคณะทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะของแผนงาน และผลักดันผ่านคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายประกันสังคมแรงงานนอกระบบ และ ได้กำหนดแนวทางร่วมกันดังนี้ 1). จัดตั้งคณะทำงานศึกษาและแก้ไขมาตรา 39 และมาตรา 40 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ 2). นิยามสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการปัญหาของแรงงานนอกระบบและจัดทำระบบสิทธิประโยชน์พร้อมกับอัตราเงินสมทบและเงินอุดหนุน 3). ริเริ่มกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในลักษณะ Action Research เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแรงงานนอกระบบ
3. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันความปลอดภัย (ฉบับบูรณาการ) สถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อ โดยมีเครือข่ายแรงงานนอกระบบร่วมด้วยเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ แต่จากการวิเคราะห์ของคณะทำงานนโยบายพบว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและในหลายประเด็น เช่น การนำเงินกองทุนทดแทน มาบริหารเอง และอื่นๆ ยังไม่เหมาะสมหรือเป็นไปได้ยาก ทิศทางในระยะต่อไป คือ การวิเคราะห์ช่องว่างและศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รวมถึงการปรับปรุงบางมาตราดังตัวอย่างที่กล่าวถึงให้มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้
4. นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม : ได้เข้าร่วมกระบวนการขับเคลื่อนกับกลุ่มนโยบายการออม กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักหนึ่งของการสร้างระบบการออมในระยะยาวเพื่อเป็นบำเหน็จบำนาญชราภาพ แต่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เพราะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน 3 นโยบาย คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ นโยบายบำนาญชราภาพ และนโยบายขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ
5. ในส่วนของเกษตรพันธสัญญา มุ่งเน้นการพัฒนามาตรการเชิงบริหาร เพื่อการคุ้มครองสัญญาที่เป็นธรรม

สรุป
ระบบประกันสังคมในประเทศไทยนั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการพัฒนา ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เนื่องจากมีการออกนโยบายจากฝ่ายบริหาร และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามารับผิดชอบ ซึ่งในการดำเนินการจริงนั้น ได้เกิดปัญหาจำนวนมาก อาทิ ฐานะทางการเงินของรัฐบาลอาจไม่เพียงพอต่อระบบประกันสังคมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งบริการของระบบประกันสังคมนั้นยังมีความไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ ปัญหาของแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกจับตามอง และได้มีการริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น หากต้องการพัฒนาระบบประกันสังคมให้เข้มแข็ง ควรเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน และตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาต่อไปอย่างมีคุณภาพ

สามสิบบาทรักษาทุกโรค ความสำเร็ขจองประชานิยม


นางสาวรติมาส นรจิตร์


จากวาทกรรมการพัฒนาที่ผู้นำไทยนำเข้ามาจากตะวันตกนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมานั้น การพัฒนาก็ได้เข้ามามีบทบาทนำในนโยบายต่างๆที่รัฐดำเนินการ ทั้งนี้การพัฒนาตามความเป็นจริงแล้วได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญก็คือ ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งเกิดจากภายใต้สังคมพัฒนาที่เน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลักและเดินในแนวทางของระบบทุนนิยมที่ยึดปรัชญาการแข่งขันโดยเสรี โดยเปิดช่องทางให้กับคนที่มีโอกาสและมีเงินทุนมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยในด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือในด้านสาธารณสุข


สามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของพรรคไทยรักไทยในการรณรงค์เลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544และเมื่อได้รับจัดตั้งเป็นรัฐบาลก็ได้สานต่อนโยบายนี้อย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อวันที่ 1เมษายน พ.ศ.2544 ซึ่งนโยบายนี้อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนถึง 47.5 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าเบื้องหลังของโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้น คือแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง ผู้ที่ริเริ่มผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยคือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจากหนังสือบนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เขียนโดยหมอสงวนเองนั้นได้ถึงพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยว่า นับตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้มีความฝันที่จะทำอย่างใดจึงจะสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีที่พึ่งพาได้ในด้านสุขภาพ จึงได้ดำเนินการผลักดันการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ในมิติต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังได้ทดลองจริงโดยการทำโครงการนำร่องในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา พะเยา สงขลา ฯลฯ ทำให้มีความมั่นใจพอสมควรว่ามีบุคลากรทางด้านนี้เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ได้มีการประสานกับองค์กรเอกชนและประชาสังคมต่างๆเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยการรวบรวมแรงสนับสนุนจากประชาชนเกิน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพต่อรัฐสภาจนสำเร็จ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545ขึ้น และเมื่อในปีพ.ศ.2543 หมอสงวนถูกชวนให้ไปเสนอนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อใช้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ซึ่งนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกให้ความสำคัญดังนั้นพรรคไทยรักไทยจึงนำนโยบายดังกล่าวมาปรับเป็นนโยบายภายใต้ชื่อ “โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค”


อย่างไรก็ตามการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะมีการกล่าวถึงกันมากในวงนักวิชาการ ข้าราชการ หรือแม้แต่ในหมู่องค์กรพัฒนาเอกชน แต่การสื่อความหมายกับประชาชนทั่วไปเมื่อใช้สื่อโดยใช้คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟังดูแล้วไม่ชัดเจนว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร จนเมื่อพรรคไทยรักไทยได้สะท้อนเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกมาเป็นโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค จึงทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของการสร้างหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนามโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นรูปธรรมหนึ่งของนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นรองรับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในแนวทางของความเป็นรัฐสวัสดิการ ที่จะมอบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.2545 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติ ไทย ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคคือบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ อาทิ ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้าง ประจำของส่วนราชการ และครอบครัว ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ครูโรงเรียนเอกชนในระบบและในส่วนสิทธิที่ประชาชนจะได้รับเมื่อใช้บัตรทองในโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการควบคุมโรค ได้แก่ การตรวจและดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพเด็กพัฒนาการและภาวะโภชนาการ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันโรคตามแผนงานการให้ภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง การวางแผนครอบครัว (ยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด และการทำหมันถาวร) ยาต้านไวรัสเอดส์กรณีป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก การเยี่ยมบ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว การให้คำปรึกษา (counseling) และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ รวมทั้งการเคลือบหลุมร่องฟัน ในด้านการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษาทั้งนี้ รวมถึงการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรคลอดแล้วรอดออกมามีชีวิต)โดยนับตั้งแต่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่าอาหาร และค่าห้องสามัญ การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก การรักษาโพรงประสาท ฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ


อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ประชาชนประมาณสองในสามถึงสามในสี่ของประเทศได้มีหลักประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการสวัสดิการข้าราชการ โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือ สปร.(ซึ่งครอบคลุมผู้มีรายได้น้อย ว่างงาน ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้นำศาสนาและทหารผ่านศึก) ระบบประกันสังคม และโครงการบัตรสุขภาพ ทำให้ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้มีจำนวนผู้ไร้หลักประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือระบบประกันสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชนอยู่ระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประชาชนทั้งประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเห็นต่อโครงการสามสิบบาทว่าเป็นเพียงการต่อยอดโครงการหลักประกันสุขภาพต่างๆที่ดำเนินการเป็นเวลานานแล้ว และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคได้ทั่วประเทศในระยะเวลาเพียงปีเศษ ถึงแม้ว่าจะมีกระแสความไม่เห็นด้วยต่อโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นผลของการสำรวจโพลทุกโพลจากสำนักต่างๆที่ออกมาเป็นระยะๆชี้ให้เห็นว่าประชาชนพอใจกับโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคแม้แต่ในรัฐบาลปัจจุบันที่นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจจากเอแบคโพลระบุว่าประชาชนยังสนับสนุนและเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้จะสานต่อนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้ต่อถึง 93.8%