9.08.2551

มะละกอจีเอมโอ ดีจริงหรือ?

น.ส.ฤดี สมานมิตร



มะละกอ เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งนอกจากเกษตรกรจำนวนมากปลูกเป็นอาชีพแล้ว ประชาชนทั่วไปยังนิยมปลูกไว้ตามบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคภายในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยจึงมีปริมาณมาก และสามารถกล่าวได้ว่ามะละกอเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิถีชิวิตของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ คำว่า“มะละกอจีเอ็มโอ”ได้กลายเป็นคำที่ผู้คนได้ยินจนเคยชิน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักรับรู้ถึงที่มาที่ไป และผลกระทบต่างๆ ที่พวกเขาอาจจะได้รับหรือได้รับไปแล้วโดยไม่รู้ตัวจากสิ่งที่เรียกว่ามะละกอจีเอ็มโอนี้เลย
มะละกอนับเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคจุดวงแหวน1 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมะละกอทั่วโลกรวมทั้ง เกษตรกรชาวไทยทางภาคอีสานต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรง การปลูกมะละกอได้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และในขณะเดียวกันการระบาดของโรคจุดวงแหวนได้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆทั่งประเทศ สาเหตุของโรคจุดวงแหวนนี้ เกิดจากเชื้อไวรัส PRSV(Papaya Ring Spot Virus)2 ทำให้มะละกอมีอาการใบเหลืองด่าง มีจุดดวงแหวนที่ผล และหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ และแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค แต่ไม่ติดไปกับเมล็ด พันธ์มะละกอที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นพันธ์แขกนวลและแขกดำ ล้วนเป็นพันธ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ทั้งสิ้น

โรคระบาดที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้ต่างกับเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่สามารถกำจัดได้โดยสารเคมีหรือวิธีธรรมชาติ จึงส่งผลให้นักวิชาการเลือกใช้วิธีการตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMOs(Genetically Modified Organisms) เป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหา โดยมีการทำการวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2535 มหาวิทยาลัยคอร์แนลและฮาวายในสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการตัดแต่งพันธุกรรมในมะละกอเป็นครั้งแรกของโลก และเผยแผ่ให้เกษตรกรในฮาวายปลูกเป็นการค้าในปี พ.ศ.2540 ในขณะที่ไทยเข้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลในการใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอสร้างมะละกอที่มีความต้านทานเชื้อไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอไทยในปีพ.ศ.2538 โดยใช้มะละกอสายพันธ์ไทยและเชื้อไวรัสของโรคสายพันธุ์ไทยจากขอนแก่น ไปทำการวิจัยจากงบกองทุนรวมเพื่อช่วนเหลือเกษตรกรของกรมวิชาการเกษตร จนเป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี และมีการนำมะละกอเหล่านั้นกลับมายังประเทศไทย 25 ต้นเพื่อปลูกทดลองที่สถานีทดลองพืชสวน ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

แต่อย่างไรก็ตามได้มีการคัดค้านและต่อต้านการปลูกมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยอย่างอย่างแข็งขันและจริงจังจากกลุ่มองค์กรเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครกรีนพีซที่มีการรณรงค์ต่อต้านและฟ้องร้องต่อการดำเนินการปลูกมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีปัญหาการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ดังจะเห็นได้จากการเปิดเผยผลการสุ่มตรวจมะละกอในแปลงของเกษตรกรตามบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับมะละกอแขกดำท่าพระจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น4โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพบว่า มะละกอในสวนของเกษตรกรในเขตอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และ อำเภอแกลง จังหวัดระยองเป็นจีเอ็มโอ ซึ่งการปนเปื้อนนี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ทางละอองเกสรจากมะละกอจีเอ็มโอต้นใกล้เคียงมายังมะละกอฟลอริด้า ทอเลอแรนท์ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่จีเอ็มโอ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการผสมข้ามพันธุ์จากมะละกอจีเอ็มโอไปสู่มะละกอปกติเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นแล้ว และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีผลยืนยันข้อมูลทางวิชาการ5ว่า มะละกอจีเอ็มโอหากนำไปปลูกรวมกับมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่น จะสามารถทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกันได้ นอกจากนี้การตรวจสอบและการทำลายการปนเปื้อนโดยวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษทางพันธุกรรมในครั้งนี้ขาดประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ติดตามตรวจสอบอย่างครอบคุลมและจริงจัง จนเป็นเหตุก่อให้เกิด การปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอดังกล่าวข้างต้น

ทั้งจังหวัดในเขตภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง เช่น ตาก พิจิตร ต่างเป็นแหล่งผลิตมะละกอเพื่อป้อนโรงงานผลไม้กระป๋องส่งออกในเขตภาคเหนือ ส่วนจังหวัดระยองก็เป็นแหล่งปลูกมะละกอเพื่อส่งออกต่างประเทศและป้อนโรงงานผลไม้กระป๋องในภาคกลาง หากไม่รีบจัดการแก้ปัญหาการปนเปื้อน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมานั้นประเทศคู่ค้าได้ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากไทย เพราะกลัวการปนเปื้อนที่อาจกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากมะละกอจีเอ็มโอเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น แม้ปัจจุบันหลายประเทศจะมีการค้าพืชจีเอ็มโอในเชิงพานิชย์แล้วก็ตาม และจากสาเหตุดังกล่าวผู้ส่งออกไทยจึงจำเป็นต้องเพื่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่มีส่วนผสมของมะละกอทุกประเภทบเพื่อเตรียมใบรับรองว่าสินค้าของบริษัทปราศจากจากจีเอ็มโอ กรณีลูกค้ามาขอใบรับรอง ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก

นอกจากนี้ มะละจีเอ็มโอยังอยู่ในระหว่างการทดลองและยังไม่มีการพิสูจน์ว่าปลอดภัย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น มะละกอจีเอ็มโออาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดใหม่ ซึ่งทางกรีนพีซได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า มีโปรตีนแปลกปลอมที่มะละกอจีเอ็มโอผลิตขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโปรตีนที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้หลายอย่างแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมทั้งการยิงยีนเข้าไปในมะละกอไม่เพียงแต่ยิงยีนไวรัสจุดด่างวงแหวนเท่านั้น ยังมียีนของสิ่งมีชีวิตรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะยีนมาร์เกอร์ในมะละกอจีเอ็มโอที่เรียกว่า npt II ที่มีคุณสมบัติต้านยาปฏิชีวนะคานามัยซินซึ่งเมื่อสะสมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์และสัตว์มากขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดอาการดื้อยาปฏิชีวนะนั้นๆ จากผลการวิจัยนี้ส่งผลยุโรปออกกฎห้ามการใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะจากมาร์กเกอร์ยีนโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 อีกทั้งองค์กรยาโลกและองค์การอนามัยโลกยังแนะนำผ่านทางคณะกรรมการโคเด็กซ์ด้านอาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพว่า ควรเลิกใช้ยีนจากสารต้านยาปฏิชีวนะนี้ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทั่วโลกไม่ยอบรับพืช จีเอ็มโอ

ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเฉพาะในเรื่องการกลายพันธ์ของไวรัส มีเอกสารทางวิทยาศาสตร์ในการประเมินความเสี่ยงพบว่า วิธีการทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้ในการทำจีเอ็มโอนี้อาจทำให้พืชชนิดอ่อนติดโรคได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เกิดพืชชนิดใหม่ อีกทั้งความแข็งแรงของไวรัสก็จะเปลี่ยนแปลงไป
และความเสี่ยงต่อเกษตรกรเนื่องจากมะละกอจีเอ็มโอนี้แม้จะเป็นสายพันธุ์ไทยแต่สหรัฐอเมริการเป็นเจ้าสิทธิบัตร8 โดย Connell Research Foundation, Inc. ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรวิธีการนำไวรัสเข้าไปในมะละกอเพื่อทำให้ต้านทานโรคเป็นที่เรียบร้อย9 ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่ามะละกอจีเอ็มโอลูกใดที่ดำเนินการมาจากการนำไวรัสเข้าไปในมะละกอตามวิธีการที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรนี้ในเชิงพาณิชย์จะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับ Connell Research Foundation สำหรับการจำหน่ายในประเทศที่จดสิทธิบัตร ซึ่งในประเด็นนี้ชี้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีในเรื่องของวิธีการ
แต่อย่างไรก็ตามการสามารถกล่าวได้ว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นหลัก ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยการดำเนินการก็จะเป็นไปโดยง่าย เพราะขณะนี้เกษตรกรมากกว่า 90% ยอบรับพืชจีเอ็มโอแล้ว โดยนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา11 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) โดยเฉพาะไทย-สหรัฐ เริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือเพื่อการวิจัยแก้ไขปัญหาโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนในมะละกอ โดยมีการนำสารพันธุกรรมและมะละกอไปจากประเทศไทย แต่ในท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ซึ่งจะกลายมาเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรและมีอำนาจตามกฎหมายไปทั่วโลก กลับจำกัดเฉพาะ Connell Research Foundation, Inc. โดยนักวิจัยไทยมีฐานะเพียงแค่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

จากการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอโดย Connell Research Foundation, Inc ชี้ชวนให้คิดว่า ประเทศไทยจะมีหลักประกันอย่างไรต่อการเคลื่อนย้ายสารพันธุกรรมของพืชพันธุ์ธัญญหารชนิดอื่นของไทย ทั้งที่เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ ดังตัวอย่างข้าวหอมมะลิ12 ที่บริษัทในสหรัฐอเมริกานำสารพันธุกรรมข้าวหอมมะลิจากไทยไปขอจดสิทธิบัตที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกับการยื่นขอต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือว่าด้วยสิทธิบัตร หรือ PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งสามารถครอบคลุมต่างประเทศได้มากกว่า 40 ประเทศ ส่งผลให้เกษตกรที่ปลูกพืชที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งในที่นี้คือข้าวหอมมะลินั้น ต้องเผชิญกับข้อกล่าวอ้างเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเผชิญกับการถูกฟ้องร้องค่าเสียหายที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และในขณะนี้การขอเข้าเป็นสมาชิกของสินธิสัญญาดังกล่าวของประเทศไทยได้ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของการสมัครเป็นสมาชิก อันจะส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้เป็นเหมือนอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สามารถให้สิทธิผูกขาดในสิ่งมีชีวิตได้ในที่สุด

ในระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้นำอนาคตของของคนไทยไปผูกติดเชื่อมโยงอยู่กับเงื่อนไขนโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่จำเป็นในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเงื่อนปมทางนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล การนำประเทศเข้าไปเป็นภาคีในสนธิสัญญา PCT และการเจรจาจัดตั้งข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา ที่ถูกบีบให้รับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและเข้าเป็นภาคีในสมธิสัญญา PCT นั้น ล้วนเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยความรู้ และแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่วางอยู่กับความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน รวมถึงการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและโลกาภิวัฒน์ โดยยึดถือผลประโยชน์ในระยะยาวของคนส่วนใหญ่ในการดำเนินนโยบายสาธารณะเป็นสำคัญ โดยผ่านกระบวนการบริหารที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนอย่างแท้จริง

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ควรต่อต้านอาหาร GMO เพราะอาหาร GMO ไม่มีอันตราย มนุษย์เราต้งใช้ความรู้เรื่องการตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นประโยชน์เช่นสร้าง พืชที่ให้ผลผลิตมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการอาหารที่มากขึ้นทุกวันตามจำนวนประชากร นอกจากนี้ในอนาคตจะต้องมีการตัดต่อสารพันธุกรรมของมนุษย์เพื่อให้กินอาหาร น้อยลงทำงานได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำเพื่อมวลมนุษย์ชาติ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อะไรก็ตามที่มันจะพยายามแหวกธรรมชาติมากๆ ก็อาจจะไม่ดีอย่างที่คิด เหมือนพืช GMO แต่นี่เป็นขั้นทดลอง ยังไม่ทราบผลกระทบในอนาคต เมื่อมนุษย์กินอาหารGMO เข้าไปแล้ว จะมีผลกระทบกับยีนมนุษย์หรือไม่ ซึ่งจะต้องมาพิสูจน์กัน เห็นด้วยกับที่ว่าพวก NGO ส่วนมากมักจะมั่วๆ ไม่รู้จริง ข้างๆคูๆ เอาความไม่รู้ของประชาชนมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะ ทางด้านวิทยาศาสตร์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

GMO ทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ หรือ แค่ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
เห็นด้วยกับความคิดที่2ที่ว่า สิ่งที่พยายามฝืนธรรมชาติก็สามารถเกิดได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทการนำเอาไปใช้ เพราะถ้าใช้ในทางการแพทย์ ช่วยเหลือคนก็อาจเป็นผลดี แต่ถ้าใช้แล้วเกิดผลเสียให้คนส่วนมากก็ไม่ควรใช้นะจ้า^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องพืชGMO เราจะต้องวิจัยให้ได้ก่อนว่า มีประโยชน์มาก และมีโทษน้อยที่สุดจึงนำออกมาเผยแพร่สู่ท้องตลาด

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมว่าเรื่อง GMO มีปัญหาทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายที่ต่อต้าน ก็มีข้อมูลด้านเดียวจนเกินไป เพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนจริงจังว่า GMO มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์หรือระบบนิเวศจริงหรือไม่

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนก็หาเหตุผลมารองรับความคิดตัวเองได้ยังไม่ดีพอ

มันเลยเหมือนเป็นการเถียงกันแบบวนเวียนไม่รู้จบ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลไม่ครบ เลยหาจุดจบไม่ได้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะบอกว่า GMO นั้นไม่มีอันตรายก็ไม่ถูกเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ข้อดีของGMO นั้นก็มี ผมคิดว่าการฝืนธรรมธาติเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น โลก และ สิ่งเเวคล้อม
การทำมะละกอGMOก็เป็นอีกก้าวของการตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไร ก็ควรจะได้รับการยืนยันจากองค์กรที่น่าเชื่อถือก่อนว่าสามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่ยังไม่ทันพิสูจน์ก็มาแจกให้ชาวบ้านแล้ว
ทุกอย่างสามารถปรับปรุงให้ดีขึนได้ จริงไหม