8.18.2551

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า


นาย ฉัตรชัย ใจทิยา

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า

ประเด็นการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อชนชั้นแรงงานอย่างมากและผลอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าในแต่ละครั้งว่าจะขึ้นหรือไม่นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในขณะนั้น ที่เข้าไปมีส่วนต่อการตัดสินใจดังกล่าว ก่อนจะกล่าวถึงหลักเกณฑ์ต่างๆในการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่านั้น ขอกล่าวถึง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จากจุดเริ่มต้นของการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเสียก่อนเพื่อจะได้เห็นภาพและเข้าใจถึงวิวัฒนาการของมันได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีปัจจัยและบริบทที่แตกต่างกันอย่างมาก

ในส่วนนี้จะกล่าวถึงค่าจ้างและค่าจ้างขั้นตํ่าในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ นับแต่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทันสมัยของไทยที่มีการก่อตัวขึ้นในปี 2399 หลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมีผลทำให้รัฐบาลไทยต้องเปิดประเทศทำการค้าเสรีกับต่างประเทศ ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ไทยหันมาส่งออกข้าวเป็นหลัก การขยายตัวของการค้าข้าวมีผลต่อการพัฒนาทางการเมืองในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจและรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ชนชั้นปกครองเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบท ดังงานเขียนเรื่อง การเมืองเรื่องข้าว นโยบายประเด็นปัญหา และความขัดแย้งได้กล่าวเอาไว้ จากจุดนี้ทำให้เราเห็นว่าการเลือกพัฒนาส่งผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นตํ่าในปัจจุบันให้มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกันระหว่างในเมืองที่สูงกว่าในชนบท จนเนำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มแรงงานต่างๆ ดังเช่น นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างกลางในปี 2551 ที่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 9 ระดับตั้งแต่ 2 - 11 บาท ว่า เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สมดุล และไม่สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพที่แท้จริงของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพราะบางจังหวัดปรับขึ้นแค่ 2-3 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาน้ำมันค่าครองชีพ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการค่าจ้างเอาตัวเลขอะไรมาพิจารณา เพราะเป็นการปรับขึ้นต่ำมาก และห่างกันเกินไป โดยตัวเลขที่น่าจะปรับขึ้นอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 - 7 บาท "การปรับขึ้นค่าจ้างแบบนี้ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่คณะกรรมการค่าจ้างไม่คำนึงถึงคุณค่าของคนงานที่ได้รับการปรับค่าจ้างต่ำเกินไป และน่าเป็นห่วงว่า คนงานในจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างต่ำแบบนั้นจะอยู่กันได้อย่างไร ตัวเลขที่คนงานจะอยู่ได้ ยังคงยืนยันว่าคือ 233 บาททั่วประเทศ" ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีกฎหมายค่าจ้างขั้นตํ่าก็หลังจากหมดยุคของรัฐบาลเผด็จการอันยาวนานตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับสวัสดิภาพของคนงานให้ดีขึ้น

กฎหมายแรงงานฉบับแรกของไทย มีประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2499 และได้มีการประกาศใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายดังกล่าว ค่าจ้างเฉลี่ยแรงงานไร้ฝีมือมีอัตรา 8บาทต่อวัน ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานมีฝีมือมีอัตรา 10บาทต่อวัน เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น จากการส่งออกข้าวเป็นหลัก มาเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และเน้นการส่งออกในที่สุดตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีปัจจัยหลายๆอย่างที่เข้าไปมีผลต่อการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าให้สูงขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะกล่าวต่อไปในตัวปัจจัยต่างๆเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเทศที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน ปัญหาหนี้ต่างประเทศเรื้อรัง และปัญหางบประมาณขาดดุล เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะดำเนินมาตราการ อันได้แก่ การกู้ยืมเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น การตรึงค่าจ้างแท้จริง หรือการลดค่าเงิน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่เอาสวัสดิภาพของแรงงานเข้าไปเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2516-2528 รัฐบาลก็เลือกใช้วิธีตรึงค่าจ้างขั้นตํ่าหรือกดให้ตํ่าลงเดิม เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งวิธีการนี้สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นเผด็จการซะส่วนใหญ่

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นมาตราฐานการใช้แรงงานที่สำคัญของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ซึ่งลูกจ้างคนเดียวสมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ ปัจจุบันทั้งนี้ค่าจ้างที่ได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เป็นองค์กรสากลที่บทบาทในเรื่องของแรงงาน และได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นมาตราฐานแรงงานของการคุ้มครองแรงงานมานานแล้ว เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง โดยได้ตราอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่า แม้ว่าไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันแตก็ได้นำอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้โดยนำแทรกไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ

การกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าที่เป็นสากลเป็นอย่างไร ประเทศที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม โดยมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า โดยทั่วไป ดังนี้

1. ความจำเป็นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว หลักเกณฑ์นี้พิจารณาจากความต้องการขั้นพื้นฐานระดับการบริโภคขั้นตํ่าสุด ซึ่งจะทำให้คนยังชีพอยู่ได้ในเรื่องปัจจัยสี่ และค่าจ้างขั้นตํ่าจะต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

2. ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง การกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าตามหลักเกณฑ์นี้มีสาเหตุมาจากการที่ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันการพิจารณาจะต้องนำปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ ประกอบด้วยระดับการค่าจ้างโดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ระดับกำไรโดยส่วนรวม ระดับกำไรของสถานประกอบการขนาดเล็ก และผลกระทบของค่าจ้างขั้นตํ่าต่อการลงทุน

3. มาตราฐานความเป็นอยู่ในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจประเทศซึ่งพลเมืองมีรายได้แตกต่างกันระหว่างผู้ที่อยู่ในเขตเมืองกับชนบทหรือระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม จนทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองมากขึ้น

รัฐมักจะพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าให้มีความสัมพันธ์กับมาตราฐานความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะอพยพ เพราะมีจุดมุ่งหมายจะให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า

โดยผูกพันกับรายได้ของคนในภาคเกษตรมักจะทำให้อัตราค่าจ้างอยู่ในเกณฑ์ตํ่ามากเกินไป จึงไม่ยุติธรรมกับคนงานในเมือง ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าควรแตกต่างกันเท่าไดจึงจะเหมาะสม ประเทศที่มีการกำหนดค่าจ้าง

ขั้นตํ่าแต่ละประเทศอาจนำหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งหรือมากกว่ามาใช้ และกำหนดระบบค่าจ้างขั้นตํ่าให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความต้องการของคนขึ้นใช้

การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5คนในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2551คือ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตราฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการค่าจ้างได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าไปยังภูมิภาค โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ากรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าจังหวัดรวม 76 คณะ เป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ทำหน้าที่เสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าของจังหวัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น ปัญหาคือขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดจะเลือกใช้ข้อมูลใดเป็นตัวหลักในการพิจารณาตัดสิน ซึ่งย่อมไม่เหมือนกันในแต่ละจังหวัด

ปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ามีอะไรบ้าง ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ากลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะประกอบด้วย 3 ฝ่ายดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานที่ควรนำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า จึงควรเป็นปัจจัยกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งสามฝ่าย ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้างน่าจะได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้างน่าจะได้แก่ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพ และค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง ส่วนปัจจัยทางภาครัฐได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม

เมื่อเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าแล้ว ต่อไปมาดูระบบค่าจ้างในปัจจุบันซึ่งมี 3 รูปแบบ คือ 1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

2. ระบบค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามสถานประกอบการโดยมากไม่มีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง

3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น ส่วนใหญ่ใช้กับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งหากคำนวณชั่วโมงการทำงานกับรายได้แล้วพบว่า ค่าจ้างรายชิ้นจะต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

ปัญหาของเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าในปัจจุบันนี้ คือ ความเห็นแตกต่างกันใน 3 ประเด็น ขององค์กรไตรภาคี คือในเรื่องดังต่อไปนี้

1. ฝ่ายลูกจ้างเห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเพียงพอต่อการเลี้ยงดูคนอย่างน้อย 3 คน (พ่อ แม่ ลูก) แต่เมื่อพิจารณาฝ่ายนายจ้างมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกจ้างเพียงคนเดียว

2. ฝ่ายลูกจ้างเสนอว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนนายจ้างไม่เห็นด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะไม่มีนายจ้างใดต้องการไปลงทุนในต่างจังหวัด ความแตกต่างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค

3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ฝ่ายลูกจ้างเห็นควรให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพเพิ่งสูงขึ้นทุกปี แต่นายจ้างไม่เห็นด้วยเนื่องจากทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 3 ปีต่อ 1ครั้งและเสนอให้ปรับค่าจ้างประจำปีแทน ซึ่งต่อประเด็นดังกล่าวนี้มีข้อสังเกตว่า

1. การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาบนฐานความเป็นจริงว่า ค่าครองชีพมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่เขตเมืองกับเขตชนบท มิใช่แตกต่างกันระหว่างจังหวัด โดยจะเห็นว่าพื้นที่เขตเมืองของแต่ละจังหวัดมีอัตราค่าครองชีพใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ

2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีหรือไม่ ควรพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงภาวะค่าครองชีพ ควรปรับให้สูงขึ้นตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

3.โครงสร้างคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสีย โดยข้อดีคือทำให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค ข้อเสียคือ การเคลื่อนไหวแรงงานเพื่อเรียกร้องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำได้ยาก และลูกจ้างในส่วนภูมิภาคขาดการรวมตัว ไม่เข้มแข็ง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่ได้รับเลือกมา มิใช่ลูกจ้างที่แท้จริง ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อรองอย่างแท้จริง

4.การกำหนดอัตราค่าจ้างประจำปีของสถานประกอบการ ควรจัดทำโครงสร้างค่าจ้างชัดเจน โดยให้ถือว่าลูกจ้างที่ไร้ฝีมือ เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ควรได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด แต่เมื่อทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป ถือว่าได้มีการพัฒนาระดับฝีมือ ควรปรับค่าจ้างขึ้นตามโครงสร้างค่าจ้างของสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการควรคำนึงถึงว่าเมื่อลูกจ้างมีอายุมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพทางครอบครัวย่อมมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากต้องมีภาระครอบครัว ดังนั้นจึงควรได้รับค่าจ้างเพียงพอสำหรับการดำรงชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 2 คน เช่น ลูกจ้างที่ทำงานครบ 5-10 ปีขึ้นไปเป็นต้น

5.ปัจจุบันมีคำชี้แจง ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยกำหนดแนวทางการปรับค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งต้องมีการสอบวัดระดับฝีมือ อย่างไรก็ตามควรมีการระบุระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย

6.การคำนวณอัตราค่าจ้างรายชิ้นของแรงงานนอกระบบ หากคำนวณชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง ควรได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและควรบวกรวมต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟด้วย เนื่องจากทำงานอยู่กับบ้าน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายคงเป็นไปได้ยาก อาจต้องใช้กลไกอื่นเข้ามาช่วย เช่น การจัดตั้งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้าง

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวคือ เราจะกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ ซึ่งมีหลายแนวทางด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. สร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่ชัดเจนและมีความแตกต่างกัน คณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดใช้ข้อมูล ในการพิจารณาไม่เหมือนกัน โดยบางจังหวัดมีข้อมูลมากถึง 16 แหล่งข้อมูล แต่บางจังหวัดใช้ข้อมูลน้อยมากเพียง 1 แหล่งข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างชัดเจน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อไม่ต้องใช้การเจรจาต่อรองหรือใช้ความรู้สึกในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ด้วยเหตุที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อทุกภาคการผลิตและมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วย ดังนั้น ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานควรจัดทำแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างต่อเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินผลดีและผลเสียของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยมีผลการศึกษาวิเคราะห์รองรับและมีความเป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือไม่ต้องใช้ดุลพินิจหรืออำนาจต่อรองของภาคีต่าง ๆ แต่เกิดจากการคำนวณบนฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และข้อมูลจริงทางเศรษฐกิจ

ผู้หญิง-ประสิทธิภาพหรือความมักง่ายของโรงงานอุตสาหกรรม???

น.ส.นภสร สิงหวณิช

การเข้ามาของระบบทุนนิยมทำให้ประเทศไทยพยายามผันตัวเองให้เป็น “เสือตัวที่ห้า” หรือ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ( Nics) ดังนั้น “การผลิตภาคอุตสาหกรรม” จึงกลายเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักแทนที่ “การผลิตภาคเกษตรกรรม” จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดร้านค้าและบริการประเภทต่างๆขึ้นในหลายๆพื้นที่ ต่างก็ต้องใช้แรงงานหญิงเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “แรงงานสตรี” ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด จบการศึกษาระดับประถมศึกษาลงมา บิดา-มารดา มีอาชีพเป็นเกษตรกร ต่างเดินทางเข้าเมืองเพื่อหวังว่าจะมีงานที่ทำเงินได้ไปกว่าการทำไร่ไถนาที่บ้านเกิด

ในงานวิจัยของ น.ส. สุจินตนา สิงหโกวินท์ ที่ได้เข้าไปศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป แห่งหนึ่ง ย่าน ปากเกร็ด-นนทบุรี ในปี พ.ศ. 2538 ได้ชี้ให้เห็นถึงแรงงานสตรีในขณะนั้นว่า พวกเธอมีความเป็นอยู่ที่อัตคัต ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม หรือ ห้องส้วม ที่ไม่เพียงพอ อาหารกลางวันที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่มีแพทย์-พยาบาลคอยรักษาเวลาเจ็บป่วย ไม่มีวันลาหยุด เนื่องจาก ความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิต กอปรกับ นายจ้างเป็นชนชั้นที่ต่อรองกับกฎหมายได้อย่างไม่หวั่นเกรง การได้มาซึ่งผลผลิตโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ และความเป็นอยู่ของลูกจ้าง อีกทั้ง สภาพสังคมไทยยกให้ “เพศชาย” เป็นใหญ่ ทำให้แรงงานหญิงไม่ได้รับสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตามที่กฏหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานหญิงในโรงงานแห่งนี้ ส่วนมากมีสถานภาพโสด หากสมรสแล้วก็มักจะปิดบังไว้ เพราะเกรงว่านายจ้างจะไม่รับเข้าทำงาน เนื่องจากต้องจ่ายค่าแรงในวันลาคลอด และการใช้แรงงานหญิงที่สมรสแล้วเกินเวลาปกติ ทำให้เสียค่าแรงไปโดยใช่เหตุ นอกจากนี้สตรีที่สมรสแล้วด้วยความที่ต้อง “ทำงานแข่งกับเวลา” เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามที่นายจ้างต้องการรวมทั้งเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว พวกเธอต้องทำงานห่ามรุ่งห่ามค่ำ ทำให้ไม่มีเวลาได้อบรมดูแลลูก นอกจากนั้นพวกเธอยังขาดแรงจูงใจในการทำงาน ที่แม้ว่าจะทำงานมานานเท่าไร แต่พวกเธอก็ยังคงตำแหน่งเดิมอยู่เหมือนวันแรกที่เข้ามาในโรงงานแห่งนี้ เพราะตำแหน่งสูงมีน้อย และนายจ้างมักเข้าใจ ว่าพวกเธอเมื่อเป็นงานก็จะออกไปรวมไปถึงสิทธิเล็กๆน้อยๆ ในกิจกรรมที่สุนทรีย์ เช่น การออกกำลังกาย การดูโทรทัศน์ ฟังข่าวสาร และรายการบันเทิงจากวิทยุ ก็ถูกห้าม เพราะ มองว่าจะทำให้เป็นการเสียเวลาและขาดสมาธิในการทำงาน หากจากพูดถึงสาเหตุแล้ว เราได้กล่าวถึงนายจ้างไปในข้างต้นแล้วว่า คิดถึงแต่รายได้และผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ทางด้าน แรงงานสตรี อย่างที่รู้กันพวกเธอ มีฐานะยากจน ความรู้น้อย ไม่รู้กฎหมายการทำงาน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาพวกเธอจึงไม่อาจตอบโต้ เพราะเธอไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอะไร สถาบันที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในภาครัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่น้อย ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของแรงงานหญิง อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บังคับบัญชาอีกด้วย ซึ่งมักก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาเสียเท่าไร ส่วนหน่วยงานเอกชนนั้นที่มีเพียง 4 แห่งใน กรุงเทพฯ มักไม่เคยเข้าถึงโรงงานเลย เพราะถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง

นี่คือหนึ่งกรณีศึกษาของสภาพแรงงานหญิงในสมัยนั้นว่า พวกเธอถูกกดขี่มากเพียงใดจากนายจ้าง ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเวลาต่อมา เนื่องจากต่างชาติมักเอาเรื่องมาตราฐานแรงงานมาอ้างในการกีดกันการค้า ดังนั้น “กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานหญิง และริเริ่มโครงการตรวจคุ้มครองแรงงานหญิง เพื่อสนับสนุนการส่งออก ในปี พ.ศ. 2542 โดยมีการตรวจสอบสถานประกอบการส่งออกที่เข้าร่วมโครงการว่ามีการใช้แรงงานหญิงได้ตามมาตราฐาน และถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ หากผ่าน สถานประกอบการนั้นๆก็จะได้รับ “ประกาศเกียรติคุณ” เพื่อเป็นเครื่องการันตี ว่าได้มาตราฐานจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปรากฏว่าได้มีสถานประกอบการถึง 183 แห่ง เข้าร่วมโครงการ และผ่านเกณฑ์ถึง 134 แห่ง และในปีถัดมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 162 จึงเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแรงงานหญิง ที่กำลังจะสดใสขึ้น พร้อมกันนี้ได้มี “โรงเรียนเพื่อผู้ใช้แรงงานใหม่” ที่พัฒนามาจาก โครงการฝึกอาชีพแรงงานในภูมิภาคเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานของแรงงานหญิง เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้กับแรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายสามัญ เพิ่มพูนทักษะในสายงานในระดับที่สูงขึ้น เพื่อพวกเธอจะได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทำให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีความสามารถ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นการไม่ให้หันเข้าหา ยาเสพติด และ การค้าประเวณี ซึ่งจะเป็นปัญหาสังคมต่อมา

ในปีพ.ศ. 2545 ได้มี แผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545-2549) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสตรี รวม 5 ยุทธศาสตร์ โดยมีสาระสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพสตรี การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ และ ความเสมอภาคทางเพศ จะเห็นได้ว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับ แรงงานหญิง มากขึ้นจากสมัยก่อนมาก สืบเนื่องจากการที่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงานสตรี และการให้สิทธิสตรีในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการถือกำเนิดขึ้นของ โครงการฝึกอาชีพ ที่ส่งเสริมการศึกษาสตรีผู้ด้อยโอกาส ทำให้กลุ่มแรงงานหญิงทั้งหลาย เริ่มที่จะมีสิทธิ์มีเสียง เพราะ พวกเธอมีความรู้ทางกฎหมาย บ้างแล้ว จึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายแรงงานกัน เข้าร่วมกับองค์กรเพื่อสิทธิสตรีต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พวกเธอพึงมีหรือในยามที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อย่างล่าสุด ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีนำคณะเครือข่ายแรงงานหญิง 44 เครือข่าย อาทิ แรงงานหญิงอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น แรงงานหญิงจากจังหวัดสระบุรี เช่น แรงงานอุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น ร่วมกันชุมนุมด้านหน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ จากนั้นเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องทวงสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ในการบริหารจัดการไตรภาคีในกระทรวงแรงงาน และการให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผู้หญิงที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงลูกด้วยในเวลาเดียวกัน

นางเพลินพิศ ศรีสิริ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีก่อน กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐกำหนดวันลาคลอดของแรงงานหญิง 90 วันได้สำเร็จ แต่สำหรับสภาพเศรษฐกิจ ประเทศไทยขณะนี้ ผู้หญิงต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย จึงมีความจำเป็นต้องหาที่เลี้ยงเด็กในระหว่างทำงาน และพบว่าเกิดปัญหาถูกหักค่าแรง เนื่องจากต้องลางานไปรับส่งลูกที่สถานเลี้ยงเด็ก เพราะสถานเลี้ยงเด็กของเอกชนจะเปิดทำการเวลาเดียวกับเวลาทำงานจึง อยากเรียกร้องเรื่องศูนย์เลี้ยงเด็กในวันนี้

ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่า แรงงานสตรีจะมีความรู้ มีทักษะการทำงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิได้แล้ว แต่ว่าก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆด้านอยู่ แต่ก็นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากสมัยก่อน และคาดว่าในอนาคต ปัญหาแรงงานสตรีคงจะลดน้อยลง หรืออาจะหมดไป ถ้าหากว่าพวกเราต่างให้ความร่วมมือและเล็งเห็นความสำคัญของ แรงงานหญิง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และ ในฐานะ เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่

การควบคุมแรงงานต่างด้าว

นางสาวกิตยาพรรณ ทองมาก

แรงงานต่างด้าวและทางแก้ปัญหา

ปัจจุบัน มีคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแรงงานพม่า กัมพูชา ลาว ที่พากันลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จุดประสงค์ที่เข้ามาคือการเข้ามาทำงานซึ่งอาชีพที่ทำมักจะเป็น แรงงานตามงานก่อสร้างหรืองานที่ใช้แรงงานหนักๆ ในปัจจุบันนี้ได้มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวโดยยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมและ ออกใหม่เป็น พระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว2551 ตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดไว้ว่า คนต่างด้าว หมายถึงบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยภายในพระราชบัญญัติ มีการกำหนดกฎระเบียบของคนต่างด้าวไว้ด้วย โดยระบุไว้เป็น 6 หมวด คือ
หมวดที่ 1 การทำงานของคนต่างด้าว

หมวดที่ 2 กองทุนเพื่อส่งเสริมคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

หมวดที่ 3 คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว

หมวดที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การทำงานของคนต่างด้าว

หมวดที่ 5 กำกับดูแล

หมวดที่ 6 บทกำหนดโทษ

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งมีการตั้งสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว(สบต.) ซึ่ง สังกัดกรมจัดหาแรงงาน กระทรวงแรงงานขึ้นมาเพื่อดูแลงานในด้านควบคุมหรือจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และมีการแบ่งส่วนราชการเป็นการเฉพาะ โดยงานควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว เป็นแผนกหนึ่งของ “แผนกควบคุมอาชีพคนต่างด้าว”โดยในปี2516ได้รับการจัดตั้งเป็นขึ้นเป็น“กองงานคนต่างด้าว”โดยมีหน้าที่รับผิดชอบตามประกาศของคณะปฏิวัติ โดยจะพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ภายในปีในปี 2546สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวจัดแบ่งส่วนราชการเสียใหม่โดยมีการแบ่งงานออกเป็น 6 กลุ่มและ1 งาน คือ
-งานบริหารงานทั่วไป

- กลุ่มพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว

-กลุ่มพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวในระบบ

-กลุ่มพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวนอกระบบ

-กลุ่มพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมการลงทุน

-กลุ่มพิจารณาการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว”


โดย ในแต่ละปีมีคนต่างด้าวจำนวนมากที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งมีทั้งคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายคือมีการมาขอใบอนุญาตทำงานและอีกประเภท เป็นแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายคนเข้า เมือง ดังนั้นรัฐไทยจึงต้องจัดให้มีหน่วยงานดูแลงานในส่วนนี้โดยเฉพาะ ทั้ง นี้กลุ่มพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว คือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงซึ่งมีอำนาจหน้าที่คือ ศึกษาและวิเคราะห์และเสนอแนะนโยบายด้านแรงงานต่างด้าว พัฒนารูปแบบและกระบวนการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว จัดทำทะเบียนคนต่างด้าวและเครือข่ายสารสนเทศแรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงาน ดำเนินการเกี่ยวกับเลขานุการของคณะกรรมการคณะอนุกรรมการและคณะทำงานซึ่งได้ รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทำ งานของคนต่างด้าว

คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพในจะมีไทยจะถูกควบคุมโดยในบัญชี ท้ายของพระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ.2543 และ มีจำนวนอาชีพที่ห้ามทำทั้งสิ้น39รายการเช่น งานก่ออิฐ งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเขิน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการ “ส่งเสริมและคุ้มครองการประกอบอาชีพของคนไทย” คน ต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะพากันลักลอบเข้ามาตามเขตชายแดนต่างๆของไทยซึ่งรัฐสามารถจับกุม คนเหล่านั้นได้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ดังนั้น การ ควบคุมของรัฐต้องสร้างกรอบกติกาที่ชัดเจน กฎหมายก็ต้องมีความรัดกุมซึ่งถ้าหากเกิดช่องโหว่ของกฎหมายแล้วจะนำมาซึ่ง กลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์ และผลท้ายที่สุดก็จะเกิดเป็นขบวนการค้ามนุษย์ขึ้นมา โดยในการจัดการกับปัญหาหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบนั้นต้องยึดหลักของ กฎหมายและหลักเมตตาธรรมควบคู่กันไป แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ คำนึงถึงการให้สิทธิของคนในชาติมีงานทำและให้การดูแลคุ้มครองแรงงานของเราก่อน “โดยวิธีปฏิบัติการในการควบคุมแรงงานต่างด้าวนั้นจะต้องดูทั้งสองด้านคือsupply sideและdemand side ซึ่งsupply side ก็คือด้านของแรงงานที่เข้ามาอยู่ภายในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงด้านdemand side ว่า นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องการแรงงานมากน้อยเพียงใดและแรงงานใดที่ควรจะ ให้แรงงานไทยทำหรือแรงงานใดที่คนไทยไม่ทำแล้วซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตาม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คนไทยจะทำงานที่เป็นลักษณะที่ใช้ความชำนาญมากขึ้น ส่วนแรงงานไร้ฝีมือจึงต้องอาศัยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทนนับได้ว่า เป็นวัฏจักรของขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ” ดังนั้นหากทุกคนมีทัศนคติดังกล่าวร่วมกันแล้วก็จะทำให้การแก้ปัญหาในเรื่องแรงงานง่ายขึ้น

หาก มองในภาคปฏิบัติแล้ว แรงงานต่างด้าวมักได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทั้งในเรื่องค่าตอบแทน การประกันสุขภาพ และการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าคนต่างด้าวจำพวกนี้เป็นประเภทที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และก็ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนั้นวิธีการที่จะขจัดปัญหาดังกล่าวก็คือ แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายต้องได้รับใบอนุญาตในการทำงานโดยต้องมาขึ้น ทะเบียนทั้งนี้เพราะป็นการดึงให้คนเหล่านั้นขึ้นมาอยู่ภายใต้การดูแลและคุ้ม ครองจากรัฐตามหลักของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
ในการนี้ปัญหาที่คนต่างด้าวต้องการเรียกร้องจากอำนาจรัฐก็คือ

-มีการเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนคนต่างด้าวได้ตลอดเวลายกเลิกระบบการประกันตัวและให้จัดทำเอกสาร หรือสื่อที่เป็นภาษาของแรงงานข้าม ชาติเหล่านั้น

- พัฒนากลไกคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานและสามารถเข้า ระบบประกันสังคมมีมาตรฐานอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจน

-มีนโยบายคุ้มครองแรงงานไม่ให้นายจ้างถูกยึดบัตรอนุญาตการทำงาน เป็นต้น

โดย เหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของแรงงานข้ามชาติหรือแรง งานต่างด้าวที่ต้องการศักดิ์ศรีความเท่าเทียมในฐานะแรงงานประเภทหนึ่งซึ่ง พวกเขาก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

กฎหมาย ต่างๆที่ใช้ควบคุมแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันมีมากมายหลายฉบับที่เข้ามาดูแล เช่นกฎกระทรวงทั้ง10กว่าฉบับ หรือระเบียบต่างๆของการเข้าเมืองและการขอวีซ่า เป็นต้น แต่ทั้งนี้กฎหมายหลายฉบับก็มีความไม่เสมอภาคมากนัก เช่น ปี2551 นี้ได้มีการออกพรบ.การทำงานคนต่างด้าวเพื่อดูแลควบคุมแรงงานต่างด้าวในไทย แต่เมื่อมีการตรวจสอบเนื้อหาสาระของพรบ.ดังกล่าว ได้มีการเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายการปฏิบัติการด้านแรงงานข้ามชาติ(ANM) ได้มีการเรียกร้อง 6ประเด็นทั้งนี้เพื่อให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูความถูกต้องและชอบธรรมตามหลัก สิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติที่ควรจะได้รับ ตัวอย่างเช่นเรื่องการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถ กระทำได้ ฉะนั้นต้องมีการเปลี่ยนสาระสำคัญ

กล่าว คือ ประเทศไทยมีการควบคุมแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบโดยมีการจัดตั้งตามที่ กระทรวงแรงงานกำหนด อีกทั้งมีหน่วยงานเฉพาะที่กำกับดูแล นั่นคือสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ซึ่งสังกัดกรมจัดหาแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดย การแก้ปัญหาในเรื่องของคน ต่างด้าวนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสิทธิของคนไทย ทั้งนี้องค์กรของรัฐจะกระทำการเพื่อมนุษยธรรมและเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหากว่าคนต่างด้าวเหล่านั้นยังเป็นคนไม่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ ก็ล้วนแต่จะเกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น โรคติดต่อ อาชญากรรม การกดขี่แรงงาน การค้ามนุษย์ ปัญหาความมั่นคง เป็นต้นซึ่งถือว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติอย่างแน่แท้ ดังนั้นในการแก้ปัญหาจึงต้องมองอย่างเป็นระบบ อย่ามองเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่ กระนั้นก็ตามประเด็นที่สำคัญในการควบคุมแรงงานต่างด้าวคือต้องคำนึงในเรื่อง หลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง ด้วยเพราะอย่างไรก็แล้วแต่แรงงานต่างด้าวเหล่า นั้นก็เป็นเพื่อนมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเราทุกคน

แรงงานเด็ก "ปัญหาที่คุณไม่ควรมองข้าม"



แรงงานเด็กภาษาอังกฤษเรียกว่า Child Labour โดยความหมายของแรงงานเด็ก หมายถึง การใช้เด็กทำงานในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อเด็กหรือมีการเอารัดเอาเปรียบเด็กจนเกินไป แรงงานเด็กถือได้ว่าเป็นแรงงานของเด็กอายุที่ต่ำกว่าขั้นที่กำหนดไว้คือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15ปีตามองค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้นิยามความหมาย สำหรับงานนั้นเป็นการใช้งานที่มีอันตรายต่อเด็กหรือส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจหรือศีลธรรมของเด็ก และ รูปแบบของแรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การค้ามนุษย์ แรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ การบังคับเกณฑ์ แรงงานเพื่อการสงคราม การค้าประเวณี การผลิตสื่อลามก และกิจกรรมต่างๆที่ผิดกฎหมาย สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งไม่ครอบคลุมลูกจ้างภาคเกษตรกรรม และลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของ ลูกจ้างคือ 15 ปี แรงงานเด็กตามกฎหมายคือ ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่15ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง18 ปีบริบูรณ์
จากความหมายของแรงงานเด็ก จะเห็นว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือว่าเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย โดยสภาพของเด็กแล้วอยู่ในสภาวะการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย ความคิดความรู้ หากเมื่อเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดอาหารที่เพียงพอต่อโภชนาการ ขาดสภาพแวดล้อมที่ดีนั้น เด็กก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบของการทำงานในการใช้แรงงานแทนที่การหาความรู้ การหาความสนุกสนานตามวัยเด็กๆนั้น กระบวนการใช้ความคิดหรือวิธีการดำเนินชีวิตก็เปลี่ยนไป จากที่เด็กควรนอนหลับอย่างเพียงพอก็ต้องออกไปทำงานอดหลับอดนอน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน เพื่อเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจเด็ก เมื่อยังไม่ถึงวัยในการใช้แรงงานย่อมจะมีภาวะกำลังที่อ่อน การทำงานซึ่งอาจจะขัดแย้งต่อการบังคับกำลังของนายจ้างทำให้เกิดการทำร้ายทารุณร่างกายเพื่อให้เกิดความพอใจในผลผลิตที่ได้ เด็กเมื่อเกิดความตึงเครียดทุกวันแตกต่างจากเด็กอื่นๆที่ควรมีความคิดความเป็นเด็กที่ร่าเริงก็จะมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก เด็กจะเกิดความไม่สมดุลของร่างกายและอารมณ์


สืบเนื่องมาจากนโยบายที่เร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และ การจ้างแรงงานไร้ฝีมือ นำไปซึ่งวัฏจักรของความยากจนป็นผลมาจากแรงงานในระดับหัวหน้าครอบครัวทั้งชายและหญิงมีการศึกษาต่ำ ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำ ส่งผลให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กในครอบครัวน้อยลงตามไปด้วย และมีแนวโน้มที่เด็กเหล่านี้จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในรูปของแรงงานเด็ก นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานอาจกดดันให้มีการจ้างแรงงานเด็กแทนแรงงานต่างชาติที่รัฐบาลต้องการให้ลดจำนวน ทำให้แรงงานที่เติบโตมาจากแรงงานเด็ก มักจะตกอยู่ในสภาพของคนด้อยโอกาสต่อไปตลอดชีวิต เนื่องจากแรงงานเด็กจะได้รับค่าจ้างต่ำ ขาดโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้ไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตนได้ในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวลดลง การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ช้า เนื่องจากแรงงานขาดทักษะและประชาชนมีระดับการศึกษาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และส่งผลกระทบต่อสังคมในแง่ปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากมีประชากรที่มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก และเกิดช่องว่างมากระหว่างผู้ด้อยโอกาสและประชาชนส่วนอื่นในสังคม

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก
พิจารณาจากภาพรวม
ความยากจน กระบวนการพัฒนาประเทศส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจของประชากรในประเทศมากขึ้นทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน โดยความยากจนของครอบครัวนี้เอง แม้รัฐจะจัดการศึกษาภาคบังคับให้เปล่า ทำให้มีเด็กบางส่วนที่ไม่อาจได้รับประโยชน์ดังกล่าวได้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พบว่าในปี 2531 ยังมีเด็กกลุ่มอายุ 4-11 ปีอยู่นอกระบบโรงเรียนถึง 549,502 คน หรือ 7.27% ของกลุ่มอายุ และเด็กอายุ 12-14 ปี อยู่นอกระบบโรงเรียนถึง 2,477,917 คน 66.99% ของกลุ่มอายุ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกผลักดันให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ในลักษณะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เมื่อรวมทั้งเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสจะเรียนต่อ ไม่มีทางจะทำมาหากินในหมู่บ้านของตนเอง ก็จะเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจานี้ด้านสภาพการณ์อันเป็นข้อจำกัดต่างๆ กฎหมายแรงงานของไทยเราจึงยอมให้เด็กอายุ 13 ปี ( เดิม 12 ปี ) แต่ยังไม่ถึง 15 ปี ทำงานบางประเภทได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ประกอบกับกลไกการควบคุมดูแลของทางราชการ ยังกระทำไม่ได้อย่างเข้มงวดและทั่วถึง อีกทั้งสังคมโดยทั่วไปก็ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อเด็ก และผลเสียโดยส่วนรวมของคุณภาพประชากรของประเทศ การใช้แรงงานเด็กจึงเป็นเรื่องที่ยังไม่อาจป้องกันและแก้ไขให้ได้ผลเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ กำหนดไว้แล้วมากมาย
พิจารณาจากครอบครัวและตัวเด็ก
- การเร่งรัดการผลิตเพื่อจำหน่าย ทำให้ครอบครัวเกษตรกรต้องลงทุนเพิ่มขึ้นในการใช้เทคโนโลยีตามคำแนะนำของทางราชการ และเมื่อประสบกับภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความแห้งแล้ง ที่เกษตรกรต้องเสี่ยงภัยเองทั้งสิ้น ทำให้ครอบครัวและเกษตรกรหมดตัว เป็นหนี้สิ้น บางครอบครัวไม่มีข้าวกินเพียงพอตลอดปี เด็ก ๆ ก็ต้องมีบทบาทช่วยตนเองและช่วยครอบครัวด้วยในที่สุดด้วยการเดินทางจากบ้านไปหางานทำ
- นอกจากปัจจัยความยากจนที่เป็น ปัจจัยผลักดัน แล้ว ยังมีปัจจัยดึง ที่จะมองข้ามความสำคัญไปไม่ได้ คือ การอยากมาเที่ยวหรือแสวงหาประสบการณ์ อยากมีเงินใช้ส่วนตัวตามอิทธิพลของ บริโภคนิยม ที่ผ่านทางสื่อมวลชนหรือทางพี่น้อง เพื่อนฝูงที่เคยไปเผชิญโชคมาแล้ว
พิจารณาจากด้านนายจ้าง
- เด็กปกครองง่าย ใช้และสอนง่ายกว่าผู้ใหญ่ ไม่รู้และเรียกร้องสิทธิ
- ค่าจ้างถูกกว่าผู้ใหญ่ ( ทั้ง ที่ต้องจ่ายเท่ากันตามกฎหมาย แม้แรงงานผู้ใหญ่เองก็ไม่ค่อยจะได้รับตามอัตราที่กฎหมายกำหนด)
- ลักษณะงานบางอย่างเหมาะกับเด็ก เช่น งานง่าย ๆ แต่ทำว้ำวาก
- เด็กติดตามพ่อแม่ซึ่งมาทำงานและไม่มีอะไรจะทำ
พิจารณาจากกระบวนการผลิตและบริการ
- การขยายภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดกระบวนการผลิตอันหลากหลาย ที่สามารถแบ่งออกเป็นช่วงเป็นตอนแล้วทำการจ้างเหมาช่วยงานกันต่อๆ ไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกบางอย่าง เช่น กิจการตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง ดอกไม้ประดิษฐ์ เจียระไนพลอย ฯลฯ และกิจการเหล่านี้มีงานจุกจิกบางอย่าง เช่น การบรรจุห่อของ ตัดขี้ด้าย ติดกระดุม ทากาว พับผ้า ตัดหนัง พันก้านดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งเด็ก ๆ ทำได้เพราะไม่ต้องการทักษะฝีมืออะไรมากมายนัก
- หน่วยงานผลิตและบริการจำนวนมากยังมีขนาดเล็ก ต้องการลดต้นทุนเป็นหัวใจ จึงนิยมการใช้แรงงานเด็กซึ่งราคาถูก สามารถใช้งานอื่น เช่น งานบ้านผสมผสานไปด้วยได้ ลักษณะการจ้างทำนองนี้จะมีกระจายอยู่ทั่วไป
- แม้แต่งานเกษตรกรรมก็มีเยาวชนรับจ้างมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย เช่น ในงานประมง สวนยาง การทำไร่อ้อย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชไร่ ฯลฯ
พิจารณาจากกระบวนการจัดหางาน
- สำนักจัดหางาน เมื่อมีความต้องการจากตลาดแรงงานเด็กมากขึ้น สำนักจัดหางานเหล่านี้จะมีรายได้สูงขึ้น
- ในทางปฏิบัติ จะมีนายหน้าซึ่งมักจะเป็นคนในพื้นที่เอง นำเด็กมาส่งให้โดยรับค่าบริการจากสำนักจัดหางานในอัตราที่จะตกลงกัน
- ปัจจุบันนี้จะมีนายหน้าซึ่งเคยเป็นคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้วหรือเป็นแรงงานเด็กเองได้มีบทบาทเป็นนายหน้า ไปนำเด็กมาป้อนโรงงานที่ตนรู้จักหรือเคยทำงานด้วยโดยตรง เป็นการตัดสำนักจัดหางานออกไป หรือแม้แต่พ่อแม่หรือญาติของเด็ก ก็อาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าเสียเองก็มี
- ปรากฏการณ์ล่าสุดที่ต้องติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิด คือ การติดโปสเตอร์หาคนงานเสมือนหนึ่งเป็นโรงงานจัดหางานเอง แต่เมื่อติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ได้ ก็พบว่าเป็นสำนักจัดหางานมิใช่โรงงานโดยตรง และมักจะนัดหมายให้ไปพบ ณ สถานที่บางแห่ง ซึ่งมิใช่สำนักจัดหางานหรือโรงงาน ในบางกรณีก็มีการเรียกร้องค่าบริการสูงโดยอ้างว่างานที่จัดหาให้มีรายได้ดีมีความมั่นคง ฯลฯ ปรากฏการณ์นี้มีร่องรอยของความไม่ชอบมาพากลบอยู่มาก เป็นที่น่าวิตกกว่าอาจเกิดภัยแก่เด็กที่ไม่รู้เท่าทันได้ และจะติดตามกรณีได้ยาก


สถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศไทย
1. การกระจายของแรงงานเด็ก
ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ณ เดือนธันวาคม 2541 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน แรงงานเด็กที่ทำงานในสถาน ประกอบการ อายุตั้งแต่ 15 - 17 ปี มีประมาณ 1.25 แสนคน ส่วนใหญ่ทำงานกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า เย็บกระเป๋า รองเท้า เจียระไนพลอย ทำเครื่องประดับ ซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และร้านอาหาร จากการตรวจ แรงงานเด็กของเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า แรงงานเด็กที่ทำงานในสถานประกอบการ ร้อยละ 85 จะมีอายุระหว่าง 15 - 17 ปี สำหรับสถานประกอบการขนาดใหญ่ไม่พบว่า มีการใช้ แรงงานเด็ก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกระบวนการผลิต และการใช้เทคโนโลยีการผลิตจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีวุฒิภาวะ และสรีระทางร่างกายที่แตกต่างจากเด็ก
2. การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย สถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้แรงงานเด็ก โดยพบว่า แรงงานเด็กในสถานประกอบ การภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่คาดว่ามีแรงงานเด็กในภาคเกษตรกรรมและบริการเพิ่มขึ้น และกระจายตัวสู่ชนบทมากขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่อการ ใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยที่สำคัญคือ
แรงกดดันจากประชาคมโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม มีผลกระทบต่อทั้ง ด้านการค้าระหว่างประเทศและภาพลักษณ์ของประเทศ
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการพยายามลดต้นทุน โดยการจ้าง งานแบบเหมาช่วงและให้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งอาจทำ ให้มีการใช้แรงงานเด็กมากขึ้น ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการและกฎหมายในการคุ้มครองอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การ ที่เศรษฐกิจ ถดถอยยังมีผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัว ทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น
มีการใช้แรงงานเด็กต่างชาติชาว พม่า เขมร และลาว ซึ่งเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างในสถานประกอบ การขนาดเล็ก และงานรับใช้ตามบ้าน เด็กหญิงมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกชักนำเข้าสู่งานบริการทางเพศ
สังคมส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาแรงงานเด็กมากขึ้น การร่วมมือประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน ตลอดจนนายจ้างและลูกจ้างมีมากขึ้น
3. การป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก
ปัญหาแรงงานเด็กเป็นปัญหาที่สังคมที่มีผลกระทบมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ขาดความสมดุล การป้องกัน และ แก้ไขจึงต้องมีมาตรการที่เป็นระบบและครบวงจรตั้งแต่การรณรงค์มิให้เด็กต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร การสร้าง โอกาสและทาง เลือกในการศึกษาและการประกอบอาชีพแก่แรงงานเด็ก การป้องกันมิให้ถูกหลอกลวง จนถึงการคุ้มครอง มิให้มี การใช้ แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นการดำเนินมาตรการทั้งในเชิงป้องกัน คุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนา และเน้นการประสาน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนดึงเอาชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา