9.08.2551

แปลงสินทรัพย์เป็นทุน

นายภูริพงศ์ มงคลหัตถี

แปลงสินทรัพย์เป็นทุน คือ การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันจะเป็นการสร้างโอกาสแก่ประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงเป็นทุน เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงานสร้างรายได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการสร้างความมั่งคงตามเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน(องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2546

นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มีที่มาแนวคิดจากนายเฮอร์ นานโด เดอร์โซโต ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศเปรู ซึ่งเขามองว่าเงินทุนจากต่างประเทศที่มาสู่ประเทศของเขา เมื่อรวมกันแล้วน้อยกว่าหลายสิบเท่าของสินทรัพย์คนจนที่มีอยู่ในประเทศ แต่ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันได้ ขณะที่ประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่า สินทรัพย์ของคนจน และสินทรัพย์ของนักธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ก็มีอยู่มากเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยการนำทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะคนจน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งผลให้มีการพัฒนาที่ยังยืน

แนวทางการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมีหลักการพื้นฐาน คือ เอกสารสิทธิแบบมีเงื่อนไขและสามารถกำกับดูแลการโอนสิทธิได้ โดยมีแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติในสินทรัพย์ 5 ประเภท คือ
1. ที่ดินและทรัพย์สินติดกับที่ดิน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้บริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องดังนี้ สปก. กรมที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
2. ทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
3. เครื่องจักร โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
4. หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณะ โดยกรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
5. สัญญาเช่า เช่าซื้อ โดย กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และการเคหะแห่งชาติ
โดยที่มีธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารออมสิน เป็นหลักในการกระจายสินเชื่อ ซึ่งมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำศูนย์ข้อมูลกลาง
ตัวอย่าง สัญญาเช่าที่ดินของรัฐถ้าเพื่อการเกษตร นำไปเข้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ถ้าเช่าที่ดินของรัฐเพื่ออยู่อาศัย ต้องนำไปเข้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ และถ้าเช่าที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจ ต้องนำไปเข้าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME BANK) เป็นต้น

กรอบนโยบาย ทิศทาง และแนวทางการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

  • เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ สัญญาเช่า หนังสืออนุญาต

  • มีการประเมินสินทรัพย์ที่ถูกต้องและเป็นธรรม
    มีระบบระงับข้อพิพาทนอกศาล (Clearing House)

  • ให้มีฐานข้อมูลกลาง

  • มีข้อตกลงกับสถาบันการเงิน
    การแก้ไขระเบียบและกฎหมาย

  • การจัดทำแผ่นปฏิบัติการ

  • ให้มีการศึกษานโยบายระยะยาว

  • ขั้นตอนการร่วมโครงการ มีดังนี้ ผู้ประกอบการยื่นคำขอ พร้อมหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน สถาบันการเงินพิจารณาคำขอ โครงการ และประเมินราคา สถาบันการเงินอนุมัติและทำสัญญาหลักประกัน แจ้งบันทึกข้อมูล และเบิกเงินกู้

  • กรณีลูกหนี้ผิดสัญญา สถาบันการเงินออกหนังสือเตือนลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตาม ดำเนินการดังนี้ สถาบันการเงินเจรจากับลูกหนี้ โดยระบบระงับข้อพิพาทนอกศาล หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามก็จะเข้าสู่กระบวนการศาลต่อไป

ในมุมมองของเกษียร เตชะพีระได้มองนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนว่า นับเป็นการผลักไสที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของรัฐของหลวงที่เหลือก้อนสุดท้ามอยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ยิ่งกลายเป็นสินค้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ในตลาดทุนนิยมถลำลึกเข้าไปอีก (further privatization & commodification of public properties) โดยผลักมันผ่านมือคนจนรากหญ้า ที่ดินสาธารณะถูกนำมาแจกให้แก่คนจนจริงๆ แต่แจกให้ในระบบตลาด (market-led land reform) โดยรับเป็นปัจเจกบุคคลไม่ใช่ชุมชนสหกรณ์ รับเป็นกรรมสิทธิ์ที่นำไปวางค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันเงินพาณิชย์ภาคเอกชน ทำให้เข้าถึงทุนได้ เสี่ยงได้ ถ้าสำเร็จก็รวยได้ ถ้าล้มเหลวก็ล้มละลายได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินจากการปฏิรูปนั้นก็อาจหลุดมือได้ อาจสรุปได้ เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า

“การเอาที่ดินจากรัฐจากหลวงมาให้คนจนในตลาดซึ่งคนจนอาจสูญเสียที่ดินไปให้คนรวยในท้ายที่สุด”

(Take it from the public & give it to the poor in the market who may lose it to the rich in the end)


ผลลัพธ์รวมของนโยบายนี้ เป็นแกนหลักของแนวทางการพัฒนาแบบประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ สอดคล้องลงตัวกับตรรกะเป้าหมายของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นั่นคือ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า และทำให้ชาวนาไม่เป็นชาวนา หลุดพ้นจาพันธะชุมชนที่ปกป้อง กลายเป็นปัจเจกที่ต้องลงสนามแข่งขันกับผู้ที่เข็มแข็ง จะประสบความสำเร็จน้อยราย ส่วนใหญ่พ่ายแพ้ กลายสภาพเป็นแรงงานรับจ้างหรือ กรรมาชีพในที่สุด (proletarianization)ซึ่งเสริมโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า ในกรณี การแปรที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นทุนในที่สุดก็จะทำให้ที่ดินนั้นหลุดจากมือของเกษตรกรรายย่อย แม้จะมีข้อบังคับว่าผู้ที่จะรับที่ดินโอนจากสถาบันการเงินนั้นต้องเป็นเกษตรกร แต่ก็มีคำถามว่า ซีพี เป็นเกษตรกรหรือไม่ ในที่สุดเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่และเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว

สรุป นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตามแบบตะวันตกที่เป็นทุนนิยมโดยแท้ ซึ่งถูกครองงำโดยวาทกรรมการพัฒนาซึ่งเป็นแนวคิดการครอบงำของโลกตะวันตก ซึ่งส่งผลกระทบที่มีปัญหาต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เป็นต้น เห็นได้จากผลลัพธ์ของนโยบายนี้

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดิฉันเห็นด้วยกับบทความนี้คะ
การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน คือการก้าวตามประเทศตะวันตกทั้งหลาย ที่จะนำพาให้ชาติเราล่มจมนั่นเองคะ
ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นกันแล้ว
ทำไมไม่รู้จักจำ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บทความนี้เป็นบทความที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะถ้าอ่านตอนแรกจะเห็นว่า นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้ น่าสนใจ น่าลงทุนมากแต่เมื่อดูถึงการดำเนินนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตามแบบตะวันตกที่ก็นับได้ว่าเป็นทุนนิยมโดยแท้ ซึ่งถูกครองงำโดยวาทกรรมการพัฒนาซึ่งเป็นแนวคิดการครอบงำของโลกตะวันตกอย่างแท้จริง
ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงจากแนวนโยบายดังกล่าว^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณ สำหรับ comment นะครับ

จากประสบการณ์ตรงนะครับ(ได้คุยกับข้าราชการที่ทำเรื่องนี้อยู่) นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
จะสร้างผลได้ 2 แบบ

1. ผู้ประกอบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ(คนส่วนน้อย)คือ ผูที่บริหารจัดการในระบบตลาดเป็น คือ เอาเงินไปใช้ทำทุนจริงๆ และผู้ที่มีกิจการอยู่แล้วนำเงินไปพัฒนากิจการให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

2. ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากโครงการนี้(คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ) คือ เมื่อคนเหล่านี้นำทรัพย์สินไปเข้าโครงการแล้ว นำเงินออกมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น นำไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ทีวี มอเตอร์ไซด์ ก็ไม่ทำให้เกิดรายได้ขึ้น กลับเป็นการสร้างหนี้ และทำให้ทรัพย์สินนั้นหลุดจากการครอบครอง กลายเป็นคนจนที่ยิ่งจนมากขึ้นอีก

ขอบคุณทุกคนมากครับ
ภูริพงศ์(ผู้เขียนบทความ)