ข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้านคลิตี้ล่าง
ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง ตอนบน
จำนวนพื้นที่ : 60,650ไร่
ประเภทป่าตามกฎหมาย : เขตป่าสงวนแห่งชาติ
สภาพพื้นที่ : ภูเขาหินปูน ป่าดิบแล้งสลับเบญจพรรณ
จำนวนครัวเรือน : 46 หลังคาเรือน ประชากร 228 คน แบ่งเป็น หมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ 18 หลังคาเรือน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ 28 หลังคาเรือน
คลิตี้เป็นคำไทยที่เพี้ยนมาจากภาษากระเหรี่ยงว่าคี่ถี่ แปลว่าเสือโทน (เสือเมื่อโตเป็นหนุ่มจะแยกไปอยู่ลำพังตัวเดียว เรียกว่าเสือโทน) ภาษาไทยจึงเรียกว่าทุ่งเสือโทน ในสมัยก่อนบริเวณทุ่งแห่งนี้มีเสืออาศัยอยู่จำนวนมาก แต่มีเสือโทนตัวหนึ่งใหญ่ที่สุดพบเห็นรอยเท้าขนาดเท่าช้าง อาณาบริเวณการหากินครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ลำคลองงู แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อย
ความเป็นมาและปัญหาการปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้
การปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ บริเวณลำห้วยระหว่างหมู่บ้านคลิตึ้บนถึงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และไหลต่อลงไปยังลำคลองงู ซึ่งเป็นส่วนบนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ ต. ชะแล อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี มีหลักฐานว่าเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการแต่งแร่โดยวิธีการลอยแร่ จากโรงแต่งแร่คลิตี้ ที่บริเวณใกล้กับหมู่บ้านคลิตี้บน ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงแต่งแร่สินแร่ตะกั่วประเภทตะกั่วคาร์บอเนต หรือแร่ cerrussite (PBCO3 ) ที่ระบุว่าเป็นสินแร่ที่ได้จากการขุดทำเหมืองแบบเหมืองเปิด ที่เหมืองบ่องาม บริเวณภูเขาห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากโรงแต่งแร่ประมาณ 6 กิโลเมตร เหมืองบ่องาม และโรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณีมีประกาศให้โรงแต่งแร่หยุดทำการเนื่องจากตรวจสอบพบ ว่ามีการปล่อยน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ (Tailing pond) ลงห้วยคลิตี้ ตามคำประกาศของทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 และเหมืองบ่องามได้หยุดดำเนินการเนื่องจากหมดอายุประทานบัตรตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2539 (แต่ในความเป็นจริงทางเหมืองฯ ยังมีการดำเนินการต่อมาโดยอ้างว่าเป็นสินแร่เก่า) ส่วนโรงแต่งแร่ได้สิ้นสุดอายุการแต่งแร่ไปแล้วเมื่อ 3 ตุลาคม 2543 (ตามใบอนุญาตแต่งแร่ เลขที่ 2/2537)
แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธานและมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมป่าไม้ นักวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน แต่คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทร่วมกันเพียงแค่ร่วมให้ความคิดเห็นกับการดำเนิน การของกรมควบคุมมลพิษ และมีการประชุมเพียง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และลักษณะการทำงานเป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทของหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ต่างมีลักษณะการปกป้องการทำงานของหน่วยงานของตนเองโดยขาดลักษณะการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง ดังเห็นได้จากความล่าช้าของความคืบหน้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ยังไม่ปรากฏผลจน ถึงปัจจุบัน
กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาล
วันที่ 30 มกราคม 2546 ชาวบ้านจำนวน 8 คน จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของบริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประ เทศไทย)จำกัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 119,036,400 บาท และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้พิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 4,260,000 บาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรด (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวม เป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และยังได้มีการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร ไม่เข้าดำเนินการประสานงานและฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากพิษตะกั่วที่ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ของลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งมีการพิพากษาไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ให้ฝ่ายชาวบ้านชนะคดีและกรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน รวม 743,226 บาท
แม้ปัจจุบันโรงแต่งแร่จะปิดไปแล้ว แต่ได้ทิ้งมรดกร้ายที่ชาวบ้านไม่ต้องการไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะการได้รับสารตะกั่วสะสมมานาน ลูกหลานบางคนเกิดมามีนิ้วเกิน บางคนพิการ ต้องล่ามโซ่ บางคนตาบอด ไตวาย มิหนำซ้ำชาวบ้านแทบทุกคนมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมของรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถหากินน้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ ทั้งที่การดำรงชีวิตของชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติ จับปลาในลำห้วย หาของป่า แต่ตอนนี้ทุกคนจำเป็นต้องซื้อหาอาหาร อีกทั้งอาการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพายารักษา ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงิน ที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ให้สัมปทานเหมืองแร่ และยังไม่มีแพทย์คนไหนระบุว่าชาวคลิตี้ล่างป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพิษตะกั่วเลย
ชัยชนะของ "หลักการ" ในคดีคลิตี้
"คดีคลิตี้" หรือคดีการลักลอบปล่อยสารตะกั่ว จากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนไทย-กะเหรี่ยง "คลิตี้ล่าง" มาร่วมหลายสิบปีเพิ่งได้รับชัยชนะ หลังจากใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี (ฟ้องปี 2546) ในเนื้อหาของคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 นอกจากจะชี้ชัดว่าเอกชนผู้ประกอบการแต่งแร่มีความผิดและจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว คำพิพากษาฉบับดังกล่าวยังได้สร้างอาการชื่นชมและความประทับใจต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง เพราะกล่าวได้ว่าสถาบันตุลาการได้วาง "หลักการใหม่ๆ" หรือบรรทัดฐานใหม่ๆ ในการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพอนามัยที่ดีและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัย โดยมีสาเหตุจาก "มลพิษ" ให้กับสังคมไทย
ประการแรก เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 นั้น ไม่ได้มีการกำหนดถึงอายุความการฟ้องร้องคดีเอาไว้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงอายุความการฟ้องร้องในคดีสิ่งแวดล้อมที่เป็นการละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย การมีสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดแก่สุขภาพอันเนื่องมาจาก "มลพิษ" ซึ่งคำพิพากษาในคดีนี้ ชี้ชัดว่า อายุความในการฟ้องร้องคดีตามตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ควรเป็น "10 ปี นับแต่วันทำละเมิด" มิใช่ 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ก่อมลพิษตามที่เอกชนผู้ก่อมลพิษกล่าวอ้าง โดยศาลได้ชี้เอาไว้ว่า "ผลกระทบต่ออนามัย และชีวิต (จากมลพิษ) นั้น ต้องการระยะเวลาในการพิสูจน์" เพื่อเป็นการคุ้มครองเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกละเมิดอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย ดังนั้น แม้ชาวบ้านจะเห็นท่อที่ถูกต่อจากบ่อกักตะกอนเพื่อระบายน้ำเสียลงห้วยคลิตี้ตั้งแต่ปี 2537 และเริ่มมีอาการเจ็บป่วย รวมถึงวัวควายล้มตายในช่วงปี 2541-2542 จนนำไปสู่คำสั่งจากกรมทรัพยากรธรณีให้ปิดโรงแต่งแร่ในปี 2541 (ปีที่อายุความเริ่มต้นนับหนึ่ง) แต่ชาวบ้านเพิ่งตัดสินใจที่จะพึ่งอำนาจศาลในการบังคับให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ในปี 2546 นั้น "เป็นการใช้สิทธิในเวลาอันสมควร เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน" จึงควรใช้อายุความตามหลักทั่วไปคือ 10 ปี จึงเป็นฟ้องที่ยังไม่ขาดอายุความ
ประการที่สอง กำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายที่ไม่มีใบเสร็จ ภายใต้หลักการนำสืบที่ต้องพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงความเสียหายเกิดขึ้น พยานเอกสารพื้นฐานที่ผู้เสียหายมักถูกเรียกร้องให้ต้องแสดงและยืนยัน ก็คือ "ใบเสร็จรับเงิน" แต่ถามว่าในชีวิตจริง จะมีใครสักกี่คนที่เมื่อรู้สึกปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ไม่มีแรง ฯลฯ แล้วจะเก็บใบเสร็จรับเงินทุกครั้งที่ซื้อยา หรือไปหาหมอ คำพิพากษาในคดีนี้ เชื่อว่าผู้เสียหายย่อมต้องซื้อยา หาหมอเพื่อเยียวยารักษาตามอาการ โดยไม่ได้เก็บใบเสร็จ "เพราะไม่คาดว่าจะต้องใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี" ประเด็นนี้ศาลกำหนดให้เอกชนผู้ก่อมลพิษชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 20,000 บาทต่อคน
ประการที่สาม การใช้สิทธิตามบัตรทอง 30 บาท เป็น "สิทธิ" หรือ "ทางเลือก" ของผู้เสียหาย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาท ถูกผู้ก่อมลพิษหยิบขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ว่าหน่วยงานรัฐก็มีบริการสาธารณสุขพื้นฐานนี้ให้กับประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ทำไมผู้เสียหายต้องไปหาหมอที่เรียกค่าตรวจ-วินิจฉัย-รักษาที่แพงกว่า 30 บาท คำพิพากษาชี้ว่า การเลือกหมอเป็น "สิทธิของโจทก์"
นอกจากนี้ คำพิพากษานี้ยังได้เอ่ยถึงหลักการที่น่าสนใจอีกเช่น
ในตอนท้ายของคำพิพากษา ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่กล่าวถึงจำนวนเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย โดยกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่คนละ 345,000 บาท ผู้เสียหายที่เป็นเด็กได้รับคนละ 620,000 บาท และผู้เสียหายที่เป็นเด็กเล็ก (ได้รับสารตะกั่วในขณะที่แม่อุ้มท้อง) ได้รับคนละ 820,000 บาท รวมผู้เสียหายทั้งหมด 8 คน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,260,000 บาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย)
อย่างไรก็ดี ภายใต้หลักการใหม่ๆ ที่รับรองและประกันถึงสิทธิในการมีสุขภาพอนามัยที่ดี และเยียวยาความเสียหายจากมลพิษที่สร้างผลกระทบแก่สุขภาพอนามัย ยังมี ประเด็นสำคัญที่ควรตั้งเป็นคำถาม เพื่อคลี่คลายและนำไปสู่ความชัดเจนของการชดเชยความเสียหายต่อสุขภาพในคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก "มลพิษ" นั่นก็คือ การคิดคำนวณค่าเสียหายนั้นควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
แม้ใครหลายคนจะพูดคล้ายๆ กันว่า เงินค่าชดเชย 4 ล้านเศษในคดีคลิตี้นี้นับว่า "สูง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่าเงินค่าชดเชยในคดีโคบอลต์-60 ที่ผู้เสียหายทั้งหมด 11 คน ได้รับเงินชดเชยทั้งสิ้นประมาณ 6 แสนบาท อย่างไรก็ดี การที่ชาวบ้านธรรมดาๆ หรือคนชายขอบอย่างชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่าง ที่ต้องกลายมาเป็นคนป่วย ต้องรักษาตัวซึ่งการไปหาหมอแต่ละครั้งหมายถึงการต้องละทิ้งการทำไร่ ปลูกผัก ต้องเสียเงินค่ารถมากกว่า 2 ต่อ และใช้เวลามากกว่า 1 วัน ต้องทุกข์ กังวลใจต่อปัญหาสุขภาพของตัวเองไปอีกนานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เสียหายที่เป็นเด็กไม่ถึง 10 ขวบสองคนนั้น ฯลฯ กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณความเสียหายดังกล่าวนี้เป็นตัวเงิน ที่สำคัญ กรณีแบบนี้จะสะเทือนเลือนลั่นไปวางมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำต้องมีสำนึกรับผิดชอบ และจะกลายเป็นตัวแบบสำหรับการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งเป็นโรคที่ยากจะมองเห็น ยากจะชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร และจำต้องอาศัยการวินิจฉัยทางการแพทย์