8.04.2551

การสะสมทุนในประเทศไทย


นางสาวบุรฉัตร พานธงรักษ์


หากเราพูดถึง การสะสมทุน ( Capital accumulation ) แล้วจะหมายถึง การเพิ่มปริมาณสินค้าประเภททุน ซึ่งทุนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการสะสมทุนนั้นสะท้อนถึงความสามารถของหน่วยผลิตที่พัฒนาขึ้นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสะสมทุนในประเทศไทยนั้นเริ่มก่อตัวให้เห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของทุนต่างชาติและการเข้ารับสัมปทานในกิจการต่างๆของรัฐของเหล่าขุนนางและข้าราชการที่แต่เดิมมักถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำและพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผลให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การกระจายตัวของทุนจึงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางตามความสามารถของนายทุนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก่อให้เกิดการสะสมทุนของนายทุนรายย่อยจนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยได้ในที่สุด

จากการศึกษารายงานการวิจัยเรื่องโครงสร้างและพลวัตทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ที่นำโดย ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นั้น มีการแยกการศึกษารายละเอียดแต่ละเรื่องโดยเน้นตัวเดินเรื่องที่มีส่วนที่ทำให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการสะสมทุนในประเทศไทยให้เห็นอย่างชัดเจนดังนี้

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นเรื่องของโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งจัดทำโดย
ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการสะสมทุนในธุรกิจครอบครัวนั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานแบบระบบกงสีที่ครอบครัวหนึ่งๆ จะรวมความมั่งคั่งทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางภายใต้การควบคุมของผู้ก่อตั้ง จากนั้นค่อยแตกแขนงออกไปเป็นบริษัทลูก อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าการสะสมทุนในประเทศไทยในยุคแรกนั้นเป็นการสะสมทุนโดยกลุ่มคนจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากกลุ่มคนจีนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างมากจากการทำสนธิสัญญาเบาว์-ริงและสืบเนื่องมาจากระบบเจ้าภาษีนายอากร ทำให้การสะสมทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกลุ่มคนจีนเหล่านี้กลายเป็นผู้ประกอบการและเป็นนายทุนในที่สุด ในยุคแห่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจกลุ่มทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ถือเป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

งานวิจัยชิ้นที่สองเป็นเรื่องของการสะสมทุนในประเทศไทยที่เน้นการศึกษาในกรณีธุรกิจสุรา
โดย ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการสะสมทุนที่ทำให้ตระกูลหนึ่งสามารถสร้างสมบัติได้อย่างมากมายในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นคนไทยที่รวยที่สุดในประเทศ ( คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ) เนื่องจากมีการสร้างสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นทางการเมืองทำให้มีอำนาจในการเข้าถึงการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐ คือ การได้ครอบครองสิทธิผูกขาดในตลาด การได้รับสัมปทานในธุรกิจสุรา การได้เงินจากค่าเช่าที่เกิดจากการโอนทรัพยากรและการผูกขาดในตลาด ชึ้ให้เห็นว่าการสะสมทุนได้อย่างมากมายในธุรกิจประเภทนี้มาจากการผูกขาดทั้งฐานอำนาจและฐานทางการเงิน อย่างไรก็ตามภายใต้กระแสสมัยใหม่ของสังคมปัจจุบัน ด้วยบทบาทที่เพิ่มขึ้นของประชาสังคมจึงเกิดแรงต้านอย่างมากในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของธุรกิจประเภทนี้ ส่งผลให้การสะสมทุนไม่สามารถดำเนินการโดยผ่านเครือข่ายแบบอุปถัมป์ได้เหมือนเดิมเนื่องจากการถูกสอดส่องดูแลจากประชาสังคมนั่นเอง

งานวิจัยชิ้นที่สามศึกษาบริษัทข้ามชาติไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 : พลวัตรการเปลี่ยนแปลงและข้อสรุป โดย ผศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกลวิธีในการสะสมทุนจากแต่เดิมที่เน้นการสร้างเครือข่ายมาเป็นการพยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยความสามารถด้านเทคโนโลยี ทำให้บริษัทข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพยากรในกระแสโลกาภิวัติน์ เท่ากับว่าเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่เครือข่ายระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติไทยในปัจจุบันได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ดุสิตธานี เอสแอนด์พี และบ้านพู อย่างไรก็ตามยังคงมีความพยามยามในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคมเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในการสะสมทุนในตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

งานวิจัยชิ้นที่สี่ศึกษาเรื่องพลวัตทุนข้ามชาติในประเทศไทยหลังวิกฤต2540โดย อ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล และ คุณอำนาจ มานะจิตประเสริฐ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าหลังวิกฤต 2540 แต่ละบริษัทในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น มีการเริ่มจะสมทุนใหม่อีกครั้งจนสามารถซื้อหุ้นคืนจากบริษัทต่างชาติได้ และในช่วงดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติก็ขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ในช่วงเศรษฐกิจเพื่อทำกำไรกลับคืนนอกจากนั้นการที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก(WTO) ก็เป็นผลทำให้เงินทุนทั่วโลกเบนความสนใจไปที่จีนมากขึ้น การสะสมทุนไทยในช่วงนี้จึงเป็นการสะสมภายในเพื่อความมั่นคงในบริษัทประกอบกับเริ่มมีการลงทุนร่วมกับต่างชาติมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นที่ห้าศึกษาเรื่องสองนคราค้าปลีกไทย : เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยพลวัตรบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติโดย คุณวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร งานชิ้นนี้เน้นพิจารณาพลวัตบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติในไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ ( Hypermarket ) หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ อาทิเช่น Tesco - Lotus, Bic –c เป็นต้น ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยผ่านนายทุนภายในประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้บรรษัทเหล่านี้เข้ามาดำเนินกิจการอย่างเต็มตัว สองนคราค้าปลีกไทยชี้ให้เห็นถึงความต่างของการเข้าไปมีอิทธิพลของ Hypermarket ในสองพื้นที่ พื้นที่แรกคือ ในเขตเมืองใหญ่ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่อื่นเป็นพิเศษ จึงมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อราคาสินค้าทำให้บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของอย่างจริงจัง เป็นผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยต้องล้มเลิกกิจการตามๆ กันไป อีกพื้นที่หนึ่งคือ พื้นที่ในระดับท้องถิ่น ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกับสังคมเมืองทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถรวมตัวกันต่อรองบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่ากรณีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกท้องถิ่น แต่ก็เห็นได้ชัดว่าแม้ทุนในท้องถิ่นจะไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่แต่ก็มีความเข้มแข็งในตัวของมันเอง

งานวิจัยชิ้นที่หกศึกษาธนาคารพาณิชย์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พลวัตการปรับตัวและการแข่งขันใหม่ โดย อ. อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และ อ. รัตพงษ์ สอนสุภาพ แบ่งการศึกษาพลวัตรของธนาคารพาณิชย์ไทยออกเป็นช่วงๆ ดังนี้ ช่วงแรก 1947 – 1973 ยุคของระบบอุปถัมป์ ( Patron – Cilent Relation ) รัฐบาลทหารและเจ้าสัวเป็นเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่ภายใต้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วงที่สอง 1973 – 1977 ยุคที่อำนาจรัฐมีบทบาทน้อยลงในขณะที่กลุ่มธนาคารเติบโตขึ้น และประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ของเจ้าสัวเติบโตและขยายสินเชื่อตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ช่วงที่สาม 1977 – ปัจจุบัน การเปิดเสรีทางการเงินซึ่งเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ทำธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการแข่งขันทั้งธนาคารภายในประเทศและภายนอกประเทศ ระบบพึ่งพาทางการเมืองจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

งานวิจัยชิ้นที่เจ็ดศึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ โดยดร. พอพันธ์ อุยยานนท์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระคลังข้างที่ (The Privy Purse Bureau) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสมัย ร.5 มีบทบาทจำกัดอยู่ในการลงทุนระยะยาว ผ่านทางการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจและให้บริษัทลงทุนลดาวัลย์ดูแลจัดการในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยปัจจัยหลายประการแสดงให้เห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินฯยังคงมีพลังและอำนาจเหนือการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นการปรับนโยบายเรื่องค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแสดงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งสะสมทุนรายใหญ่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ

งานวิจัยชิ้นที่แปดศึกษาแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสู่ทุนนิยมเสรีข้ามชาติ โดย ดร. สักรินทร์ นิยมศิลป์ เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภทนี้มีความสำคัญทั้งในแง่มูลค่าการผลิต การส่งออกและการจ้างงาน อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กลุ่มทุนไทยขาดสภาพคล่องทำให้ทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทนำ เปลี่ยนจากการผลิตภายในประเทศเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก อุตสหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์จึงถูกเปลี่ยนมือไปเป็นบริษัทโดยการลงทุนของต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
งานวิจัยชิ้นที่เก้าศึกษาบทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อในกระแสโลกาภิวัตน์ กรณีศึกษาจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออก โดย ดร. ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ และ คุณโอฬาร ถิ่นบางเดียว เน้นศึกษาบทบาทของ เจ้าพ่อซึ่งก็คือนายทุนท้องถิ่นที่ก่อรูปขึ้นมาจากการสะสมทุนเบื้องต้นก่อนเกิดระบบทุนนิยม อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้ใความหมายของคำว่า เจ้าพ่อไว้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนายทุนไทยในกระบวนการสะสมทุนไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยใช้อิทธิพลเหนือกฎหมายในการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ เป็นผลเจ้าพ่อเหล่านี้ต้องมีการสะสมทุนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมผสมผสานกับการใช้ระบบอุปถัมป์ เพื่อให้เกิดภาวะต่างตอบแทนซึ่งกันและกันอันจะทำให้สภาวะของการมี “อำนาจ” คงอยู่ต่อไป

จากการศึกษางานวิจัยทั้ง 9 ชิ้นจะเห็นได้ว่าการสะสมทุนจากหน่วยเล็กๆ ภายในครอบครัวเป็นกลไกหนึ่งที่นำสังคมเข้าสู่ระบบทุนนิยม นอกจากนั้นทุนกับรัฐไม่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพิงอาศัยกันในลักษณะที่ “รัฐพึ่งทุน ทุนพึ่งรัฐ” โดยมีกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนรูปแบบของการสะสมทุนและความสัมพันธ์ทางอำนาจให้เปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เหมาะสม และทุนที่มีอัตราการก้าวหน้าและการสะสมทุนที่เหนือกว่าทุนอื่นๆ ล้วนเกิดมาจากการใช้ “อภิสิทธิ์” ของความเหนือว่าแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่นายทุนระดับท้องถิ่นจนถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในสังคมปัจจุบันมาก เพราะว่าสังคมไทยปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธทุนนิยมได้อีกแล้ว
เพราะการฝั่งรากลึก ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ คำว่า รัฐพึ่งทุน ทุนพึ่งรัฐ สามารถนำมาใช้กับสังคมไทยได้อย่างดีที่เดียว
เพราะปัจจุบัน ไม่มีพื้นที่เหลือให้คนสร้างฐานะได้ด้วยตนเองเหมือนรุ่นบรรพบุรุษ ที่สร้างทุนได้ด้วยมือตนเอง แต่ปัจจุบัน ถ้าไม่มีการพึ่งพารัฐ ไม่ได้รับการสนุนสนุน ธุรกิจก็ไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้^^