8.04.2551

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

นายกิติคุณ ตั้งคำ

"ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาใหญ่ในสังคมไทย"

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย นั้นได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การกระจายรายได้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสรียุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจนจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคมไทย ซึ่งในบริบททางเศรษฐศาสตร์แล้วต้องถือว่าความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่สำเร็จในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่ง

สาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ มีดังต่อไปนี้ 1) ความแตกต่างในความสามารถของมนุษย์แต่ละคน 2) ความแตกต่างในทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ 3) โอกาสในการศึกษาแตกต่างกัน 4) การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล 5) การว่างงาน 6) ภาวะเงินเฟ้อ และ 7) นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค

ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ
การวัดการกระจายรายได้หรือความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ เป็นการวิเคราะห์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม สิ่งที่ใช้เป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันมาก มี 2 วิธี คือ การหาค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) และการหาสัดส่วนรายได้ในแต่ละขั้นรายได้ (Income Share)2
การหาค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือ สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ ซึ่งเป็นตัวที่ใช้อธิบายในกลุ่ม Lorenz Curve ค่าจินีถูกกำหนดจากพื้นที่ระหว่าง Lorenz Curve กับเส้นการกระจรายรายได้สัมบูรณ์ หารด้วยพื้นที่ใต้เส้นทแยงมุมทั้งหมด โดยสัมประสิทธิ์จีนี จะมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดยหากมีค่าเข้าใกล้ศูนย์ หมายถึงมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมในสังคม แต่หากค่าเข้าใกล้หนึ่งนั้นหมายถึงการกระจายรายได้ยังไม่เป็นธรรม3
การหาสัดส่วนรายได้แต่ละขั้นรายได้ จะทำโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Quintile Analysis คือ การแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 5 กลุ่มเท่า ๆ กัน จำแนกตามรายได้จากจนที่สุด (ชั้นรายได้ที่ 1) จนถึงรวยที่สุด (ชั้นรายได้ที่ 5) และพิจารณาสัดส่วนรายได้ในแต่ละกลุ่ม กลุ่มไหนมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ข้อเสนอแนะ/แนวคิดทฤษฎีของนักวิชาการ
ในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยสาเหตุสำคัญว่าผู้ประกอบการที่ลงทุนทำการผลิตจะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือกำไรที่สูงพอให้เป็นเหตุจูงใจในการลงทุนต่อไป ทำให้ความมั่งคั่งไปกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ และเมื่อการพัฒนาดำเนินต่อไปถึงระดับหนึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะลดลงก็จริง แต่การลดลงความเหลื่อมล้ำอาจจะใช้เวลานานเกินไป สร้างผลเสียให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ และที่น่าวิตกไปกว่านั้นก็คือหากความเหลื่อมล้ำขึ้นสูงมาก โอกาสที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะทำได้ยากขึ้น โดยปกติเรามักจะให้หน้าที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือรัฐบาล ด้วยเหตุที่ว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการบังคับให้ปฏิบัติตาม และอำนาจในการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แนวนโยบายที่รัฐบาลจะทำได้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อาจจะประกอบด้วย 3 แนวนโยบาย คือ 1) การอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการสร้างการแข่งขัน 2) การใช้นโยบายการคลังโดยผ่านนโยบายภาษีอากรและการใช้จ่ายสาธารณะ 3) การใช้นโยบายทางด้านอื่นๆ ที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพหรือโอกาสของกลุ่มคนยากจน
นักวิชาการหลายท่านเสนอทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายปรากฏการณ์ของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ โดยสรุปใจความได้ว่า กระแสโลกาภิวัตน์อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย/คนจนเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำวิจัยเพื่อติดตามสถานการณ์ความยากจน พร้อมกับอธิบายสาเหตุของความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ดังนี้
ทฤษฎีที่ 1 อคติของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี - ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนรวม แต่ว่าไม่ได้เพิ่มการจ้างงานได้มากนัก นอกจากนี้ยังมีอคติที่จะเลือกจ้างบุคคลที่มีความรู้สูงไปทำงานด้วย โดยจ่ายเงินเดือนให้สูง แต่ว่าเปิดรับคนจำนวนน้อยมาก ในขณะที่แรงงานของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา ถูกผลักให้จำเป็นต้องรับงานที่ ใช้แรง และมีค่าจ้างต่ำ หรือการรับงานไปทำที่บ้านเป็นชิ้น โดยปราศจากสวัสดิการจากโรงงาน ปรากฏการณ์นี้รวมเรียกสั้นๆ ว่า biased technological progress
ทฤษฎีที่ 2 การย้ายแรงงานข้ามประเทศ กระแสโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้ทุน-เทคโนโลยี-แรงงาน เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ซึ่งมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ในด้านการผลิตนั้นเป็นเรื่องดีและยอมรับว่า มีประโยชน์ อย่างชัดเจน เพราะว่าผู้ประกอบการมีหนทางเลือกในการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะอย่างสำหรับ แรงงานระดับล่าง คือเลือกจ้างแรงงานคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลลัพธ์ต่อค่าจ้างแรงงานระดับล่างจึงเป็นทางลบ แรงงานระดับล่างขาดพลังในการต่อรองค่าจ้างแรงงาน อาจจะมีการปรับปรุงค่าจ้างเป็นครั้งคราว โดยสรุปคือกระแสโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหนึ่งของ การกดค่าจ้าง สำหรับแรงงานขั้นต่ำ แรงงานไทยซึ่งมีจำนวนนับสิบล้านคน จึงตกในสภาพจำยอม รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกด ยังดีกว่าการตกงาน
ทฤษฎีที่ 3 การรุกของทุนขนาดใหญ่ โลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้เกิดการจับมือของทุนขนาดใหญ่ ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ โดยอาศัยความได้เปรียบจากขนาดต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทุนขนาดใหญ่ได้เบียดพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินของทุนขนาดเล็ก โรงงานอุตสาหกรรมไฮเทคที่ถือว่าเป็นชั้นนำระดับโลกมีโอกาสกระจายการผลิตออกไปประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ตั้งใกล้กับแหล่งปัจจัยการผลิต
อนึ่ง การที่โรงงานมีสเกลการผลิตขนาดใหญ่ยิ่งเปิดโอกาสให้ใช้เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และ หุ่นยนต์ มาทำงานแทนแรงงานมากขึ้น โลกาภิวัตน์ยังหมายความถึงการถ่ายเททางด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่ลัทธิบริโภคนิยม - ศิลปินชั้นนำและนักกีฬาชั้นนำซึ่งในอดีตมี แฟนคลับ ภายในเมืองหรือในประเทศของตนเอง ปัจจุบันนี้ แฟนคลับ ได้ขยายออกไปทั่วโลก
ทฤษฎีที่ 4 ความสำเร็จและความล้มเหลวของสาขาการเกษตรและการผลิตขั้นปฐม ความจริงต้องยอมรับว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาการเกษตรเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่ประจักษ์ได้ชัดคือ พื้นที่การเกษตรลดลงอย่างมาก แต่ว่ายังสามารถผลิตได้เท่าเดิมหรือแม้แต่เพิ่มขึ้น เพราะใช้พันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ย หรือผลิตหลายฤดูกาลภายในปีเดียว
ทฤษฎีที่ 5 ความล้มเหลวของนโยบายภาครัฐ - ซึ่งจำแนกออกเป็นสองส่วน ความล้มเหลวในส่วนแรก (ย่อว่า รลล1) หมายถึง ความไม่สามารถของภาครัฐในการปรับปรุงนโยบายภาษีอากร ให้มีลักษณะก้าวหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือของการกระจายรายได้ โครงสร้างภาษีของไทยนั้นกว่าร้อยละ 60 เป็นการเก็บภาษีทางอ้อม จากภาษีมูลค่าเพิ่ม จากภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นการเก็บจากฐานการบริโภคเป็นสำคัญ

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาตามแนวทางของชาติตะวันตกและส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: