8.18.2551

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า


นาย ฉัตรชัย ใจทิยา

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า

ประเด็นการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อชนชั้นแรงงานอย่างมากและผลอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าในแต่ละครั้งว่าจะขึ้นหรือไม่นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในขณะนั้น ที่เข้าไปมีส่วนต่อการตัดสินใจดังกล่าว ก่อนจะกล่าวถึงหลักเกณฑ์ต่างๆในการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่านั้น ขอกล่าวถึง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จากจุดเริ่มต้นของการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเสียก่อนเพื่อจะได้เห็นภาพและเข้าใจถึงวิวัฒนาการของมันได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีปัจจัยและบริบทที่แตกต่างกันอย่างมาก

ในส่วนนี้จะกล่าวถึงค่าจ้างและค่าจ้างขั้นตํ่าในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ นับแต่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทันสมัยของไทยที่มีการก่อตัวขึ้นในปี 2399 หลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมีผลทำให้รัฐบาลไทยต้องเปิดประเทศทำการค้าเสรีกับต่างประเทศ ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ไทยหันมาส่งออกข้าวเป็นหลัก การขยายตัวของการค้าข้าวมีผลต่อการพัฒนาทางการเมืองในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจและรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ชนชั้นปกครองเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบท ดังงานเขียนเรื่อง การเมืองเรื่องข้าว นโยบายประเด็นปัญหา และความขัดแย้งได้กล่าวเอาไว้ จากจุดนี้ทำให้เราเห็นว่าการเลือกพัฒนาส่งผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นตํ่าในปัจจุบันให้มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกันระหว่างในเมืองที่สูงกว่าในชนบท จนเนำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มแรงงานต่างๆ ดังเช่น นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างกลางในปี 2551 ที่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 9 ระดับตั้งแต่ 2 - 11 บาท ว่า เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สมดุล และไม่สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพที่แท้จริงของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพราะบางจังหวัดปรับขึ้นแค่ 2-3 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาน้ำมันค่าครองชีพ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการค่าจ้างเอาตัวเลขอะไรมาพิจารณา เพราะเป็นการปรับขึ้นต่ำมาก และห่างกันเกินไป โดยตัวเลขที่น่าจะปรับขึ้นอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 - 7 บาท "การปรับขึ้นค่าจ้างแบบนี้ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่คณะกรรมการค่าจ้างไม่คำนึงถึงคุณค่าของคนงานที่ได้รับการปรับค่าจ้างต่ำเกินไป และน่าเป็นห่วงว่า คนงานในจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างต่ำแบบนั้นจะอยู่กันได้อย่างไร ตัวเลขที่คนงานจะอยู่ได้ ยังคงยืนยันว่าคือ 233 บาททั่วประเทศ" ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีกฎหมายค่าจ้างขั้นตํ่าก็หลังจากหมดยุคของรัฐบาลเผด็จการอันยาวนานตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับสวัสดิภาพของคนงานให้ดีขึ้น

กฎหมายแรงงานฉบับแรกของไทย มีประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2499 และได้มีการประกาศใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายดังกล่าว ค่าจ้างเฉลี่ยแรงงานไร้ฝีมือมีอัตรา 8บาทต่อวัน ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานมีฝีมือมีอัตรา 10บาทต่อวัน เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น จากการส่งออกข้าวเป็นหลัก มาเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และเน้นการส่งออกในที่สุดตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีปัจจัยหลายๆอย่างที่เข้าไปมีผลต่อการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าให้สูงขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะกล่าวต่อไปในตัวปัจจัยต่างๆเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเทศที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน ปัญหาหนี้ต่างประเทศเรื้อรัง และปัญหางบประมาณขาดดุล เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะดำเนินมาตราการ อันได้แก่ การกู้ยืมเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น การตรึงค่าจ้างแท้จริง หรือการลดค่าเงิน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่เอาสวัสดิภาพของแรงงานเข้าไปเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2516-2528 รัฐบาลก็เลือกใช้วิธีตรึงค่าจ้างขั้นตํ่าหรือกดให้ตํ่าลงเดิม เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งวิธีการนี้สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นเผด็จการซะส่วนใหญ่

การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นมาตราฐานการใช้แรงงานที่สำคัญของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ซึ่งลูกจ้างคนเดียวสมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ ปัจจุบันทั้งนี้ค่าจ้างที่ได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เป็นองค์กรสากลที่บทบาทในเรื่องของแรงงาน และได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นมาตราฐานแรงงานของการคุ้มครองแรงงานมานานแล้ว เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง โดยได้ตราอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่า แม้ว่าไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันแตก็ได้นำอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้โดยนำแทรกไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ

การกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าที่เป็นสากลเป็นอย่างไร ประเทศที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม โดยมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า โดยทั่วไป ดังนี้

1. ความจำเป็นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว หลักเกณฑ์นี้พิจารณาจากความต้องการขั้นพื้นฐานระดับการบริโภคขั้นตํ่าสุด ซึ่งจะทำให้คนยังชีพอยู่ได้ในเรื่องปัจจัยสี่ และค่าจ้างขั้นตํ่าจะต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

2. ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง การกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าตามหลักเกณฑ์นี้มีสาเหตุมาจากการที่ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันการพิจารณาจะต้องนำปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ ประกอบด้วยระดับการค่าจ้างโดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ระดับกำไรโดยส่วนรวม ระดับกำไรของสถานประกอบการขนาดเล็ก และผลกระทบของค่าจ้างขั้นตํ่าต่อการลงทุน

3. มาตราฐานความเป็นอยู่ในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจประเทศซึ่งพลเมืองมีรายได้แตกต่างกันระหว่างผู้ที่อยู่ในเขตเมืองกับชนบทหรือระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม จนทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองมากขึ้น

รัฐมักจะพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าให้มีความสัมพันธ์กับมาตราฐานความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะอพยพ เพราะมีจุดมุ่งหมายจะให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า

โดยผูกพันกับรายได้ของคนในภาคเกษตรมักจะทำให้อัตราค่าจ้างอยู่ในเกณฑ์ตํ่ามากเกินไป จึงไม่ยุติธรรมกับคนงานในเมือง ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าควรแตกต่างกันเท่าไดจึงจะเหมาะสม ประเทศที่มีการกำหนดค่าจ้าง

ขั้นตํ่าแต่ละประเทศอาจนำหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งหรือมากกว่ามาใช้ และกำหนดระบบค่าจ้างขั้นตํ่าให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความต้องการของคนขึ้นใช้

การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5คนในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2551คือ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตราฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการค่าจ้างได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าไปยังภูมิภาค โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ากรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าจังหวัดรวม 76 คณะ เป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ทำหน้าที่เสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าของจังหวัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น ปัญหาคือขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดจะเลือกใช้ข้อมูลใดเป็นตัวหลักในการพิจารณาตัดสิน ซึ่งย่อมไม่เหมือนกันในแต่ละจังหวัด

ปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ามีอะไรบ้าง ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ากลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะประกอบด้วย 3 ฝ่ายดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานที่ควรนำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า จึงควรเป็นปัจจัยกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งสามฝ่าย ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้างน่าจะได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้างน่าจะได้แก่ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพ และค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง ส่วนปัจจัยทางภาครัฐได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม

เมื่อเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าแล้ว ต่อไปมาดูระบบค่าจ้างในปัจจุบันซึ่งมี 3 รูปแบบ คือ 1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

2. ระบบค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามสถานประกอบการโดยมากไม่มีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง

3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น ส่วนใหญ่ใช้กับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งหากคำนวณชั่วโมงการทำงานกับรายได้แล้วพบว่า ค่าจ้างรายชิ้นจะต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

ปัญหาของเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าในปัจจุบันนี้ คือ ความเห็นแตกต่างกันใน 3 ประเด็น ขององค์กรไตรภาคี คือในเรื่องดังต่อไปนี้

1. ฝ่ายลูกจ้างเห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเพียงพอต่อการเลี้ยงดูคนอย่างน้อย 3 คน (พ่อ แม่ ลูก) แต่เมื่อพิจารณาฝ่ายนายจ้างมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกจ้างเพียงคนเดียว

2. ฝ่ายลูกจ้างเสนอว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนนายจ้างไม่เห็นด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะไม่มีนายจ้างใดต้องการไปลงทุนในต่างจังหวัด ความแตกต่างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค

3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ฝ่ายลูกจ้างเห็นควรให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพเพิ่งสูงขึ้นทุกปี แต่นายจ้างไม่เห็นด้วยเนื่องจากทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 3 ปีต่อ 1ครั้งและเสนอให้ปรับค่าจ้างประจำปีแทน ซึ่งต่อประเด็นดังกล่าวนี้มีข้อสังเกตว่า

1. การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาบนฐานความเป็นจริงว่า ค่าครองชีพมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่เขตเมืองกับเขตชนบท มิใช่แตกต่างกันระหว่างจังหวัด โดยจะเห็นว่าพื้นที่เขตเมืองของแต่ละจังหวัดมีอัตราค่าครองชีพใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ

2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีหรือไม่ ควรพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงภาวะค่าครองชีพ ควรปรับให้สูงขึ้นตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

3.โครงสร้างคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสีย โดยข้อดีคือทำให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค ข้อเสียคือ การเคลื่อนไหวแรงงานเพื่อเรียกร้องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำได้ยาก และลูกจ้างในส่วนภูมิภาคขาดการรวมตัว ไม่เข้มแข็ง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่ได้รับเลือกมา มิใช่ลูกจ้างที่แท้จริง ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อรองอย่างแท้จริง

4.การกำหนดอัตราค่าจ้างประจำปีของสถานประกอบการ ควรจัดทำโครงสร้างค่าจ้างชัดเจน โดยให้ถือว่าลูกจ้างที่ไร้ฝีมือ เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ควรได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด แต่เมื่อทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป ถือว่าได้มีการพัฒนาระดับฝีมือ ควรปรับค่าจ้างขึ้นตามโครงสร้างค่าจ้างของสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการควรคำนึงถึงว่าเมื่อลูกจ้างมีอายุมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพทางครอบครัวย่อมมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากต้องมีภาระครอบครัว ดังนั้นจึงควรได้รับค่าจ้างเพียงพอสำหรับการดำรงชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 2 คน เช่น ลูกจ้างที่ทำงานครบ 5-10 ปีขึ้นไปเป็นต้น

5.ปัจจุบันมีคำชี้แจง ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยกำหนดแนวทางการปรับค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งต้องมีการสอบวัดระดับฝีมือ อย่างไรก็ตามควรมีการระบุระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย

6.การคำนวณอัตราค่าจ้างรายชิ้นของแรงงานนอกระบบ หากคำนวณชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง ควรได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและควรบวกรวมต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟด้วย เนื่องจากทำงานอยู่กับบ้าน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายคงเป็นไปได้ยาก อาจต้องใช้กลไกอื่นเข้ามาช่วย เช่น การจัดตั้งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้าง

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวคือ เราจะกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ ซึ่งมีหลายแนวทางด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. สร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่ชัดเจนและมีความแตกต่างกัน คณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดใช้ข้อมูล ในการพิจารณาไม่เหมือนกัน โดยบางจังหวัดมีข้อมูลมากถึง 16 แหล่งข้อมูล แต่บางจังหวัดใช้ข้อมูลน้อยมากเพียง 1 แหล่งข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างชัดเจน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อไม่ต้องใช้การเจรจาต่อรองหรือใช้ความรู้สึกในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ด้วยเหตุที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อทุกภาคการผลิตและมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วย ดังนั้น ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานควรจัดทำแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างต่อเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินผลดีและผลเสียของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยมีผลการศึกษาวิเคราะห์รองรับและมีความเป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือไม่ต้องใช้ดุลพินิจหรืออำนาจต่อรองของภาคีต่าง ๆ แต่เกิดจากการคำนวณบนฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และข้อมูลจริงทางเศรษฐกิจ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จากบทความนี้ ดิฉันเห็นว่า ฝ่ายรัฐผู้ที่มีอำนาจควรที่จะตระหนักถึงปากท้องของชนชั้นล่าง ดังนั้นการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ก็ควรให้เพียงพอต่อการยังชีพในหนึ่งวันด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มาพูดเรื่องนี้มันจะไปมีประโยชน์อะไรครับ
มันถึงเวลาที่เราต้องปฏิวัติแล้วต่างหาก
workers of the world unite!!
ชนชั้นแรงงานอย่างเราถูกกดขี่มานานแล้ว
เราต้องทำให้พวกคนรวยเห็นพลังของเราบ้าง!!