8.18.2551

ผู้หญิง-ประสิทธิภาพหรือความมักง่ายของโรงงานอุตสาหกรรม???

น.ส.นภสร สิงหวณิช

การเข้ามาของระบบทุนนิยมทำให้ประเทศไทยพยายามผันตัวเองให้เป็น “เสือตัวที่ห้า” หรือ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ( Nics) ดังนั้น “การผลิตภาคอุตสาหกรรม” จึงกลายเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักแทนที่ “การผลิตภาคเกษตรกรรม” จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดร้านค้าและบริการประเภทต่างๆขึ้นในหลายๆพื้นที่ ต่างก็ต้องใช้แรงงานหญิงเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “แรงงานสตรี” ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด จบการศึกษาระดับประถมศึกษาลงมา บิดา-มารดา มีอาชีพเป็นเกษตรกร ต่างเดินทางเข้าเมืองเพื่อหวังว่าจะมีงานที่ทำเงินได้ไปกว่าการทำไร่ไถนาที่บ้านเกิด

ในงานวิจัยของ น.ส. สุจินตนา สิงหโกวินท์ ที่ได้เข้าไปศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป แห่งหนึ่ง ย่าน ปากเกร็ด-นนทบุรี ในปี พ.ศ. 2538 ได้ชี้ให้เห็นถึงแรงงานสตรีในขณะนั้นว่า พวกเธอมีความเป็นอยู่ที่อัตคัต ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม หรือ ห้องส้วม ที่ไม่เพียงพอ อาหารกลางวันที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่มีแพทย์-พยาบาลคอยรักษาเวลาเจ็บป่วย ไม่มีวันลาหยุด เนื่องจาก ความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิต กอปรกับ นายจ้างเป็นชนชั้นที่ต่อรองกับกฎหมายได้อย่างไม่หวั่นเกรง การได้มาซึ่งผลผลิตโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ และความเป็นอยู่ของลูกจ้าง อีกทั้ง สภาพสังคมไทยยกให้ “เพศชาย” เป็นใหญ่ ทำให้แรงงานหญิงไม่ได้รับสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตามที่กฏหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานหญิงในโรงงานแห่งนี้ ส่วนมากมีสถานภาพโสด หากสมรสแล้วก็มักจะปิดบังไว้ เพราะเกรงว่านายจ้างจะไม่รับเข้าทำงาน เนื่องจากต้องจ่ายค่าแรงในวันลาคลอด และการใช้แรงงานหญิงที่สมรสแล้วเกินเวลาปกติ ทำให้เสียค่าแรงไปโดยใช่เหตุ นอกจากนี้สตรีที่สมรสแล้วด้วยความที่ต้อง “ทำงานแข่งกับเวลา” เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามที่นายจ้างต้องการรวมทั้งเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว พวกเธอต้องทำงานห่ามรุ่งห่ามค่ำ ทำให้ไม่มีเวลาได้อบรมดูแลลูก นอกจากนั้นพวกเธอยังขาดแรงจูงใจในการทำงาน ที่แม้ว่าจะทำงานมานานเท่าไร แต่พวกเธอก็ยังคงตำแหน่งเดิมอยู่เหมือนวันแรกที่เข้ามาในโรงงานแห่งนี้ เพราะตำแหน่งสูงมีน้อย และนายจ้างมักเข้าใจ ว่าพวกเธอเมื่อเป็นงานก็จะออกไปรวมไปถึงสิทธิเล็กๆน้อยๆ ในกิจกรรมที่สุนทรีย์ เช่น การออกกำลังกาย การดูโทรทัศน์ ฟังข่าวสาร และรายการบันเทิงจากวิทยุ ก็ถูกห้าม เพราะ มองว่าจะทำให้เป็นการเสียเวลาและขาดสมาธิในการทำงาน หากจากพูดถึงสาเหตุแล้ว เราได้กล่าวถึงนายจ้างไปในข้างต้นแล้วว่า คิดถึงแต่รายได้และผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ทางด้าน แรงงานสตรี อย่างที่รู้กันพวกเธอ มีฐานะยากจน ความรู้น้อย ไม่รู้กฎหมายการทำงาน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาพวกเธอจึงไม่อาจตอบโต้ เพราะเธอไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอะไร สถาบันที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในภาครัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่น้อย ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของแรงงานหญิง อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บังคับบัญชาอีกด้วย ซึ่งมักก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาเสียเท่าไร ส่วนหน่วยงานเอกชนนั้นที่มีเพียง 4 แห่งใน กรุงเทพฯ มักไม่เคยเข้าถึงโรงงานเลย เพราะถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง

นี่คือหนึ่งกรณีศึกษาของสภาพแรงงานหญิงในสมัยนั้นว่า พวกเธอถูกกดขี่มากเพียงใดจากนายจ้าง ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเวลาต่อมา เนื่องจากต่างชาติมักเอาเรื่องมาตราฐานแรงงานมาอ้างในการกีดกันการค้า ดังนั้น “กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานหญิง และริเริ่มโครงการตรวจคุ้มครองแรงงานหญิง เพื่อสนับสนุนการส่งออก ในปี พ.ศ. 2542 โดยมีการตรวจสอบสถานประกอบการส่งออกที่เข้าร่วมโครงการว่ามีการใช้แรงงานหญิงได้ตามมาตราฐาน และถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ หากผ่าน สถานประกอบการนั้นๆก็จะได้รับ “ประกาศเกียรติคุณ” เพื่อเป็นเครื่องการันตี ว่าได้มาตราฐานจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปรากฏว่าได้มีสถานประกอบการถึง 183 แห่ง เข้าร่วมโครงการ และผ่านเกณฑ์ถึง 134 แห่ง และในปีถัดมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 162 จึงเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแรงงานหญิง ที่กำลังจะสดใสขึ้น พร้อมกันนี้ได้มี “โรงเรียนเพื่อผู้ใช้แรงงานใหม่” ที่พัฒนามาจาก โครงการฝึกอาชีพแรงงานในภูมิภาคเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานของแรงงานหญิง เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้กับแรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายสามัญ เพิ่มพูนทักษะในสายงานในระดับที่สูงขึ้น เพื่อพวกเธอจะได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทำให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีความสามารถ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นการไม่ให้หันเข้าหา ยาเสพติด และ การค้าประเวณี ซึ่งจะเป็นปัญหาสังคมต่อมา

ในปีพ.ศ. 2545 ได้มี แผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545-2549) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสตรี รวม 5 ยุทธศาสตร์ โดยมีสาระสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพสตรี การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ และ ความเสมอภาคทางเพศ จะเห็นได้ว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับ แรงงานหญิง มากขึ้นจากสมัยก่อนมาก สืบเนื่องจากการที่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงานสตรี และการให้สิทธิสตรีในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการถือกำเนิดขึ้นของ โครงการฝึกอาชีพ ที่ส่งเสริมการศึกษาสตรีผู้ด้อยโอกาส ทำให้กลุ่มแรงงานหญิงทั้งหลาย เริ่มที่จะมีสิทธิ์มีเสียง เพราะ พวกเธอมีความรู้ทางกฎหมาย บ้างแล้ว จึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายแรงงานกัน เข้าร่วมกับองค์กรเพื่อสิทธิสตรีต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พวกเธอพึงมีหรือในยามที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อย่างล่าสุด ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีนำคณะเครือข่ายแรงงานหญิง 44 เครือข่าย อาทิ แรงงานหญิงอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น แรงงานหญิงจากจังหวัดสระบุรี เช่น แรงงานอุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น ร่วมกันชุมนุมด้านหน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ จากนั้นเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องทวงสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ในการบริหารจัดการไตรภาคีในกระทรวงแรงงาน และการให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผู้หญิงที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงลูกด้วยในเวลาเดียวกัน

นางเพลินพิศ ศรีสิริ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีก่อน กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐกำหนดวันลาคลอดของแรงงานหญิง 90 วันได้สำเร็จ แต่สำหรับสภาพเศรษฐกิจ ประเทศไทยขณะนี้ ผู้หญิงต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย จึงมีความจำเป็นต้องหาที่เลี้ยงเด็กในระหว่างทำงาน และพบว่าเกิดปัญหาถูกหักค่าแรง เนื่องจากต้องลางานไปรับส่งลูกที่สถานเลี้ยงเด็ก เพราะสถานเลี้ยงเด็กของเอกชนจะเปิดทำการเวลาเดียวกับเวลาทำงานจึง อยากเรียกร้องเรื่องศูนย์เลี้ยงเด็กในวันนี้

ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่า แรงงานสตรีจะมีความรู้ มีทักษะการทำงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิได้แล้ว แต่ว่าก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆด้านอยู่ แต่ก็นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากสมัยก่อน และคาดว่าในอนาคต ปัญหาแรงงานสตรีคงจะลดน้อยลง หรืออาจะหมดไป ถ้าหากว่าพวกเราต่างให้ความร่วมมือและเล็งเห็นความสำคัญของ แรงงานหญิง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และ ในฐานะ เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เราควรจะมีการรณรงค์ต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงไทยให้มากกว่านี้ค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่าในปัจจุบันศักยภาพของผู้หญิงก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าผู้ชายเลย ถ้าภาครัฐและสังคมช่วยกันส่งเสริมเรื่อง สิทธิทางเพศ เหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะสวีเดนที่เน้นเรื่องนี้มากๆ ปัญหาเรื่องการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงก็น่าจะหมดไปได้ค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คือผู้หญิงต้องรวมกันและแสดงพลังกันให้มากกว่านี้ และควรทำอย่างเป็ทนทางกการ ให้รัฐและสื่อมวลชนเข้ามาสนใจคะ