9.08.2551

พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ

นายวิน จิตรไกรสร


พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุม ดูแล การใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม การจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 โดยคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพมี 10 หมวด 103 มาตรา ประกอบด้วย การให้คำจำกัดความคำศัพท์ที่สำคัญๆ อาทิ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ และการประเมินความเสี่ยง รวมทั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ การควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งการนำเข้าและส่งออก การใช้ประโยชน์ในสภาพควบคุม การปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างจงใจ และการขนส่งและการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตลอดจน ความรับผิดและการเยียวยา และบทกำหนดโทษ เป็นต้น


ปัจจุบันการทดลองวิจัยจีเอ็มโอมีอยู่ตามห้องแลปหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีความพยายามจะทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การนำผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอออกสู่ตลาด ซึ่งโดยหลักการทั่วไปก่อนจะถึงกระบวนการจัดจำหน่ายสู่ตลาด จะต้องมีการทดลองในภาคสนามเพื่อดูเรื่องผลกระทบต่างๆ ก่อน ด้วยเหตุนี้กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการเปิดให้ทดลองจีเอ็มโอในระบบเปิด ต้องการพิสูจน์ว่าจีเอ็มโอไม่มีโทษ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยไม่ให้มีการทดลองในระดับไร่นา โดยเหตุผลว่า เนื่องจากก่อนหน้านั้นภาคราชการได้ให้มั่นว่ามีกฎเกณฑ์เข้มงวดพอที่จะควบคุมไม่ให้พืชจีเอ็มโอหลุดรอดหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทดลอง แต่ผลก็คือมีการหลุดรอดออกมา ดังกรณีของฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี 2538 และเมื่อปี 2547 มะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น หลุดลอดผสมปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกรที่ปลูกมะละกอ กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบตัวอย่างมะละกอที่มีการปนเปื้อน 329 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร 85 รายและครั้งนั้นเองที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องไม่ให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา หรือระบบเปิด จนกว่าจะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งความมุ่งหมายก็คือการมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ


ปัจจุบันแรงผลักดันของฝ่ายที่ต้องการให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นามีสูงมาก ทั้งนี้ก็เพื่อขยับขั้นตอนไปสู่การจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเบื้องหลังสำคัญคือบริษัทต่างชาติที่มีผลประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านนี้ ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการของเราหลายส่วน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้า จนมองข้ามผลกระทบทางด้านสังคมและชีวภาพ เพราะฉะนั้นหน่วยงานเหล่านี้ก็พยายามที่จะผลักดันและให้ข้อมูลในบางด้านเท่านั้น
กฎหมายฉบับนี้อยู่ภายใต้พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยหลักการสำคัญคือการระมัดระวังล่วงหน้า เนื่องจากจีเอ็มโอยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลอดภัยจริง หากมีการหลุดรอดออกมาแล้วอาจทำให้เกิดเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นในพิธีสารคาร์ตาเฮนาจึงคำนึงว่าหากมีความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่ยินยอมให้มีการปล่อยจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม


ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีของ (CBD) จึงต้องทำตามพิธีสารคาร์ตาเฮนา แต่การใช้หลักการนี้อย่างเคร่งครัดจะสร้างความไม่สะดวกกับผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการใดๆ ที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอ เพราะผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่ส่งสินค้าจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทยจะถูกปฏิเสธ ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าปลอดภัยจริง หรือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งกระทบกับการค้าขายสินค้าจีเอ็มโอโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายที่ผลักดันโดยเฉพาะประเทศอเมริกา ต้องการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากสินค้าจีเอ็มโอ แต่ประเด็นของไทยอยู่ที่เรื่องความปลอดภัย ไทยจึงควรจะมีกฎหมายที่สามารถห้าม หรือสร้างกลไกระมัดระวังภายในก่อน เพราะไทยเป็นประเทศเกษตร ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าประเทศอุตสาหกรรม เรามีการปลูกพันธุ์พืชจำนวนมาก ดังนั้นการปลอดภัยไว้ก่อนจึงน่าจะเหมาะสม และการที่เราเป็นเกษตรกรรม มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยิ่งควรจะใช้หลักการนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น


ในส่วนของภาคประชาสังคม อย่างคนทำเกษตรอินทรีย์ โยเฉพาะคนส่งออกข้าวมีความกังวลมาก ตอนนี้เราไม่มีสินค้าจีเอ็มโอ แต่หากเราเปิดให้มีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามา ปัญหาต่อไปก็คือการขายสินค้าให้สหภาพยุโรป หรือประเทศที่มีต้องสินค้าอินทรีย์แล้วเขาจะเชื่อได้อย่างไรว่าสินค้าไทยปลอดจีเอ็มโอ แล้วภาระที่เกิดขึ้นต่อมาอย่างแรกคือการไม่สั่งสินค้า อย่างกรณีการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองที่จ.ขอนแก่น สหภาพยุโรปก็ยกเลิกการนำเข้ามะละกอจากไทยทันที ดังนั้นหากกรณีนี้เกิดขึ้นกับข้าวไทย ย่อมส่งผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล

ไม่มีความคิดเห็น: