9.08.2551

สหกรณ์การเกษตรกับการพัฒนาชนบทไทย


นายดลภัทร์ โตนาม


แนวคิดเรื่องสหกรณ์ในประเทศตะวันตกนั้นมีมูลเหตุมาจากความยากจนหรือความอัตคัดขัดสน อันมีผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับใช้แทนแรงงานคนในการผลิตสินค้าและบริการ ส่งผลให้นายจ้างต้องการลงทุนเพื่อหากำไรให้ได้มากๆ ซึ่งในการผลิตสินค้าหรือบริการให้มีต้นทุนต่ำ นายจ้างจึงต้องลดอัตราค่าจ้างให้ต่ำลง ส่งผลให้ลูกจ้างมีรายได้ไม่พอแก่การครองชีพ ความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงมีนักคิดหลายท่านที่พยายามคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา นักคิดที่สำคัญคนหนึ่งคือ โรเบอร์ต โอเวน โดยโอเวนได้แนะนำให้คนงานเหล่านั้นไปรวมตัวกันอยู่ในรูปชมรมชนิดหนึ่งซึ่งโอเวนเรียกว่า “ชมรมสหกรณ์”

สำหรับความคิดเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เกิดขึ้นในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2457 ซึ่งมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจาก การที่ประเทศไทยได้เริ่มมีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้นประกอบกับการทำสนธิสัญญาการค้าต่าง ๆ ที่นำประเทศไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยม ส่งผลต่อภาคการผลิตในชนบทโดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะต้องขยายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออก ระบบเศรษฐกิจชนบทจึงเปลี่ยนจากระบบเลี้ยงตนเองมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการเงินทุนในการขยายการผลิต ทำให้การกู้ยืมเงินทุนจากนายทุนท้องถิ่นที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง นอกจากนี้เกษตรกรยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางในการขายผลผลิต เกษตรกรจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา

จากสภาพปัญหาความยากจนและหนี้สินดังกล่าว ทำให้ทางราชการพยายามหาทางแก้ไข ดังนั้นต่อมารัฐบาลได้เชิญ เซอร์เบอร์นาร์ดฮันเตอร์ (Sir Benard Hunter) หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราส ประเทศอินเดีย เข้ามาสำรวจหาลู่ทางช่วยเหลือเกษตรกรและได้เสนอว่าควรตั้ง “ธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ” ดำเนินการให้กู้ยืมแก่ราษฎรโดยมีที่ดินและหลักทรัพย์อื่นเป็นประกัน เพื่อมิให้เกษตรกรที่กู้ยืมเงินหลบหนีหนี้สิน พร้อมทั้งแนะนำให้จัดตั้งสมาคมเรียกว่า “โคออเปอร์เรทีพ โซไซตี้” (Cooperative Society) เพื่อควบคุมการกู้เงิน และการเรียกเก็บเงินกู้ โดยใช้หลักการร่วมมือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งคำนี้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “สมาคมสหกรณ์” และได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้”

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีสภาพปัญหาที่เป็นปัญหาภายใต้ระบบกลไกตลาดซึ่งเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนได้แก่ การขาดแคลนเงินทุน เงินทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพไม่เพียงพอ ต้องกู้ยืมจากพ่อค้า หรือนายทุน ทำให้เสียดอกเบี้ยแพง การขาดแคลนที่ดินทำกิน เกษตรกรบางรายมีที่ดินทำกินน้อย บางรายไม่มีที่ดินเป็นของตนเองต้องเช่าที่ดินผู้อื่นทำกิน โดยเสียค่าเช่าแพง และถูกเอารัดเอาเปรียบจากการเช่า ปัญหาในเรื่องการผลิต เกษตรกรขาดความรู้เกี่ยวกับการผลิตสมัยใหม่ที่ถูกต้อง ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ขาดปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบชลประทาน การคมนาคมขนส่ง ไม่มีที่เก็บรักษาผลผลิต เป็นต้น ปัญหาการตลาด ความจำเป็นต้องจำหน่ายผลผลิตตามฤดูกาล ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องการชั่ง ตวง วัด และปัญหาสังคม จากปัญหาทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อชุมชนในสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตและฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าคนประกอบอาชีพอื่น ขาดการศึกษา การอนามัย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกผู้มีอาชีพทางการเกษตรดำเนินกิการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิกและช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้นซึ่งปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศไทยมีทั้งสิ้น 3,885 แห่ง ประกอบด้วยสมาชิกผู้มีอาชีทางการเกษตรจำนวน 5,995,263 คน โดยดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ และสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก โดยสหกรณ์จะทำการสำรวจความต้องการของสมาชิกก่อน แล้วจึงจะจัดหามาจำหน่าย เพราะการรวมกันซื้อในปริมาณมากจะทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง และเมื่อถึงสิ้นปีหากสหกรณ์มีกำไร ก็จะนำเงินนี้มาเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิก นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรยังจัดหาตลาดจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์ของสมาชิก โดยการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกมาจัดจำหน่าย ทำให้ไม่ถูกกดราคาในการรับซื้อผลผลิต และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการชั่ง ตวง วัด ยิ่งไปกว่านั้นสหกรณ์การเกษตรยังสามารถจะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ เนื่องจากการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปได้ ทำให้สมาชิกมีเงินกู้เพื่อนำไปลงทุนเพื่อการเกษตร รวมทั้งสหกรณ์การเกษตรยังรับฝากเงิน เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และเป็นการระดมเงินทุนในสหกรณ์โดยสหกรณ์จะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกอีกด้วย นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรยังอาจจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางการเกษตรคอยให้ความรู้ คำแนะนำแก่สมาชิก ตลอดจนวางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพตรงความต้องการของตลาด และส่งเสริมความรู้ทางเกษตรแผนใหม่

จากการกู้เงินสหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาประกอบอาชีพ ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินทำกินมากกว่าเดิม ทั้งยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ตั้งแต่การใช้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การใช้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การเก็บรักษาผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ผลิตผลที่ได้จึงเป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์และบุคคลในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ดังนั้นสหกรณ์การเกษตรจึงช่วยให้เกษตรกรที่มีอยู่ในชุมชน หรือสังคมนั้นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมมีความสงบสุขบุตรหลานสมาชิกได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีสุขภาพอนามัยที่ดีเนื่องจากเกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทยยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคงพอที่จะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เหมือนอย่างกิจการสหกรณ์ของประเทศอื่นๆ เนื่องจากสหกรณ์ของประเทศไทยที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2459 เป็นต้นมานั้น เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยรัฐ และควบคุมโดยรัฐอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะมีการเรียกหุ้นจากสมาชิก และน่าจะเป็นของสมาชิกและดำเนินการโดยสมาชิกอย่างอิสระ แต่กฎหมายทุกฉบับที่ออกมาใช้ก็ได้พยายามบิดเบือนหลักการให้อิสระและเสรีภาพของการดำเนินงานของสหกรณ์มาตลอด โดยมีเหตุผลว่าเกษตรกรยังโง่ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ข้ออ้างดังกล่าวทำให้สหกรณ์การเกษตรไม่สามารถพัฒนาไปได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกษตรกรผู้ที่เป็นสมาชิกรู้สึกว่าสหกรณ์การเกษตรนั้นเป็นเรื่องของทางราชการไม่ใช่เรื่องของตน ตนเองเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ไปกู้ยืมเงินเขาเท่านั้น ทำให้ไม่กระตือรือร้นที่จะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของตนเองในงานสหกรณ์ นอกจากนี้การที่สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เสมือนผู้อำนวยความสะดวกในการรวบรวมสินค้า และกระจายเงินทุน ทำให้สหกรณ์การเกษตรไม่ใช่หน่วยเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ โดยทั่วไปสหกรณ์การเกษตรเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก หรือสามารถจัดหาอุปกรณ์ทางเกษตร และขายผลิตผลได้ในราคาที่เหมาะสมได้ยาก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เกษตรกรหรือสมาชิกสหกรณ์จะมีแนวโน้มให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของตนเองที่ได้รับจากสหกรณ์มากกว่าที่จะสนใจว่าสหกรณ์ในฐานะองค์กรควรจะได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินได้อย่างไร นอกจากนั้นสหกรณ์ยังอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้กดดันจากการแข่งขัน ไม่มีมาตรฐานเพื่อเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างสหกรณ์ เป็นผลให้สหกรณ์มีต้นทุนการดำเนินงานมากกว่าที่ควรจะเป็น อาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์ภาคการเกษตรเองไม่ได้มองว่าตนเองว่าเป็นองค์กรที่ต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี ดังนั้นการที่ขบวนการสหกรณ์การเกษตรจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลการดำเนินงาน การพิจารณาถึงจำนวนสมาชิกหรือปริมาณธุรกิจ ตัวอย่างการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรที่ประสบความสำเร็จ คือสหกรณ์การเกษตรของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเกษตรกรชาวดัตซ์ได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของตน โดยสหกรณ์การเกษตรจะจัดหาสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องจักรเกษตร และน้ำมันมาจำหน่ายแก่สมาชิกเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้สหกรณ์ยังขายผลิตผลเกษตร เช่น ผักสด ดอกไม้ ผลไม้ ซึ่งเป็นประเภทเสียเร็วแก่พ่อค้าคนกลาง โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่ต่อรองกับพ่อค้าซึ่งทำให้สมาชิกได้รายได้สูงกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นสหกรณ์การเกษตรของชาวดัตซ์ยังสามารถแปรสภาพวัตถุดิบเกษตรให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปก่อนขายไปในท้องตลาดได้อีกด้วย

จากตัวอย่างสหกรณ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์จะเห็นข้อแตกต่างกับสหกรณ์ในประเทศไทยในประเด็นเรื่องการจัดตั้ง กล่าวคือในประเทศเนเธอร์แลนด์ การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเป็นความต้องการของเกษตรกรเอง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขณะที่การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรของไทยนั้นเป็นสิ่งที่รัฐเป็นผู้ที่เข้าไปแก้ปัญหา มิได้เกิดจากจิตสำนึกร่วมกันเพื่อต่อสู้ของเกษตรกรอย่างแท้จริง เกษตรกรจึงมิได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสหกรณ์ดังที่กล่าวไปแล้ว การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของเกษตรกรจึงเป็นการเคลื่อนไหว รวมตัวกันอย่างเฉพาะกิจ ในการต่อสู้กับประเด็นต่างๆ เป็นกรณีๆ มิได้มีการต่อสู้เรียกร้องผ่านการร่วมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ ฉะนั้นเพื่อที่จะได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร การดำเนินการจัดตั้งควรเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่สนใจ ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอยากตั้ง ไม่ควรเอางานสหกรณ์ไปยัดเยียดให้ประชาชนที่ยังไม่พร้อม แต่ควรส่งเสริมและช่วยเหลือผู้นำท้องถิ่นในการจัดตั้งกลุ่ม หรือสหกรณ์ของเขาขึ้นเองหากประชาชนส่วนใหญ่ไร้การศึกษา ท้องถิ่นขาดผู้นำ รัฐจึงควรต้องพยายามดำเนินงานสหกรณ์เสียเอง แต่ต้องเป็นระยะชั่วคราวเท่านั้น หน่วยงานของรัฐด้านสหกรณ์ควรทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำในฐานะพี่เลี้ยง ไม่ใช่ให้มีอำนาจระงับยับยั้งขบวนการสหกรณ์

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สหกรณ์การเกษตร คือประชาสังคม รูปแบบหนึ่ง
ประชาชนต้องเข้มแข็ง รวมตัวกัน เป็นพลังต่อสู้กับรัฐและนายทุนให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกกลืนโดยทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สหกรณ์ในไทย ไม่เคยทำอะไรได้จริงๆจังๆ
ไม่รู้ว่าจะยังมีอยู่ทำไม

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สหกรณ์มีจุดประสงค์สร้างมาเพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชน
แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันสหกรณ์ไทยจะช่วยพัฒนาชนบทได้จริงหรือเป็นแค่แนวทางประชานิคมซึ่งพรรคการเมืองต่างปั่นแต่งขึ้น เพื่อให้เป็นการเรียกคะแนนเสียง???????
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลว่าจะสร้างสหกรณ์ให้เป็นเพียงแนวประชานิยม หรือ ว่าจะสร้างขึ้นเพื่อช่วยประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง^^