9.08.2551

หนี้สินชาวนาและการพักชำระหนี้

พิชญ์นรี สันตีระชัยวัฒนา

ทางออกของหนี้สิน คือการพักชำระหนี้จริงหรือ???


ปัญหาหนี้สินชาวนาไทย ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในขณะที่องค์ความรู้ทางวิชาการยังศึกษาแบบแยกส่วน ขาดการวิเคราะห์แบบมีพลวัตทำให้ไม่เห็นรากเหง้าของปัญหา ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้
งานศึกษาวิจัยของสุเทพ แสนมงคล ได้ศึกษาปรากฏการณ์ในชุมชนบ้านดง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสถานการณ์ปัญหาหนี้สินรุนแรง1 จากการศึกษาทำให้ค้นพบประเด็นที่สำคัญ คือ
การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบยังชีพ สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ภายใต้ระบบทุนนิยม โดยรูปแบบระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ที่ชาวนารวยเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้แรงงานของชาวนาจนเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน โดยชาวนารวยเป็นผู้เข้าถึงการตลาด ด้วยการเป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีความสัมพันธ์กับพ่อค้าคนจีนในชุมชนเมือง ต่อมามีการเปลี่ยนจากเก็บค่าเช่าเป็นผลผลิตมาเป็นเงิน ชาวนาฐานะยากจนต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต และประสบกับภาวะขาดทุน ทำให้เกิดภาวะหนี้สินนอกระบบพร้อมกับการขยายตัวของระบบบริโภคนิยมเข้าสู่ชุมชน หลังจากชาวนาได้เข้าสู่วงจรหนี้สิน ก็ถูกระบบการจัดการเงินกู้ภายใต้ระบบการผลิตและการตลาดเชิงพาณิชย์ ที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ชาวนาขาดทุนโดยสัมพัทธ์อยู่เสมอ เนื่องจากข้อจำกัดในการไม่สามารถเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ทุนและระบบการตลาดได้ สอดคล้องกับ สันติ ธรรมประชา ที่ให้ความเห็นว่าเกษตรกรที่เป็นชาวนาชาวไร่ นับว่าเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบ ในระบบกลไกตลาดมากที่สุดความเสียเปรียบนั้นมีตั้งแต่ด้านขาดความรู้ ขาดข้อมูลข่าวสาร ไม่มีความรู้เท่าทันกลไกตลาดและขาดอำนาจต่อรอง ในขณะที่ พ่อค้า นายทุน นายเงิน มีความรู้มากกว่า มีข้อมูลข่าวสารมากกว่า เป็นผู้ที่อยู่กับกลไกตลาด ใช้กลไกตลาดและบางทีก็สามารถบิดเบือนกลไกตลาดได้ด้วยอำนาจการผูกขาด ด้วยอำนาจของการรวมตัว
ส่วนสมพันธ์ เตชะอธิก กล่าวสาเหตุของหนี้สินเกษตรกรมาจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่า ปัจจัยแรก มาจากนโยบาย/โครงการของรัฐบาล ที่ส่งเสริมอาชีพและการเป็นหนี้ เช่น สนับสนุนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ส่งเสริมการกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเสริมการเกษตรแบบพันธสัญญาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลักภาระให้เกษตรกรและผู้บริโภค ปัจจัยที่สอง มาจากภัยธรรมชาติ ปัจจัยที่สาม จากต้นทุนปัจจัยการผลิตมีราคาแพงขึ้น ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าจ้าง แรงงาน ค่ารถไถ ฯลฯ แต่ราคาผลผลิตขึ้นกับกลไกตลาดโดยพ่อค้า แม้แต่การประกันราคาโดยรัฐบาลยังเป็นประโยชน์แก่นายทุนโดยไม่ตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง ปัจจัยที่สี่ มาจากค่าใช้จ่ายในครอบครัวและการบริโภคนิยมของเกษตรกรเอง 3 ประกอบกับค่านิยมว่าการเป็นหนี้ คือ การมีเครดิตดี
ในปีพ.ศ. 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีแนวนโยบายประชานิยมต้องการหาเสียงและมองเห็นปัญหานี้ จึงริเริ่มนโยบายพักชำระหนี้สินให้แก่เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี โดยคาดหวังว่า เกษตรกรจะนำเงินที่ไม่ต้องใช้คืน ธ.ก.ส. ใน 3 ปีนี้ ไปทำการผลิตและสร้างรายได้สะสมทุนไว้ตั้งตัวได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้สินอีกในอนาคต แต่เงื่อนไขสำคัญของ ธ.ก.ส. ก็คือ หนี้ที่พักชำระนั้นจะต้องเป็นหนี้ที่กู้จาก ธ.ก.ส. ในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และในระยะเวลา 3 ปีระหว่างที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จะไม่สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพิ่มได้อีก เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ชาวนาที่กู้เงินเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนบาทไม่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ อ.พฤกษ์ เถาถวิล จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะแม้ตัวเลขในระบบจะลดลง แต่หนี้สินเกษตรกรกลับเพิ่มขึ้น แม้ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี แต่ 3 ปีนั้น ไม่ได้สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีเงินไปชำระหนี้ สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำไปชำระหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไม่ได้เป็นการลดหนี้ที่มีอยู่ แต่เป็นการเลื่อนเวลาในการชำระหนี้ออกไป 4 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลดหนี้ได้ ตามที่รัฐบาลประกาศไว้
จะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักของปัญหาหนี้สินไม่ได้อยู่ที่ระบบสินเชื่อ หรือปัญหาในครัวเรือนชาวนาแต่มาจากระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่ชาวนายากจนไม่สามารถเข้าถึงและควบคุมปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน เงินทุน และที่สำคัญคือการตลาดได้ แนวทางในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้ จะต้องแก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์ทางสังคมการผลิตภายใต้วิถีการผลิตแบบทุนนิยม โดยการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรชาวนาในการเข้าถึง และควบคุมปัจจัยการผลิตและการตลาด โดยสามารถกระทำได้สองระดับ คือ ระดับสถาบัน คือ การกำหนดองค์กรทางสังคมที่เป็นของชาวนาในการต่อรองกับองค์กรทุนและรัฐเดิม เพื่อเพิ่มอำนาจและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการควบคุมปัจจัยการผลิต และรูปแบบการหมุนเวียนและการตลาดให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และรัฐโดยในทางรูปธรรมคือสนับสนุนให้สภาเกษตรเกิดผลในทางกฎหมาย และแนวปฏิบัติให้มีความเข้มแข็ง ในการควบคุมปัจจัยการผลิต และมีอำนาจต่อรองในด้านราคาผลผลิตในระบบตลาดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ควบคุมราคาสินค้าบริโภคและต่อรองเพื่อเพิ่มสวัสดิการของรัฐให้ทั่วถึง และระดับบุคคล คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่พึ่งปัจจัยทุน ปัจจัยการผลิต และระบบตลาดให้น้อยลง เช่น แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการระดมทุนในรูปกองทุนชุมชน โดยสังคมจะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานองค์กรของชาวนาอย่างจริงจัง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การพักหนี้ชาวนามันก็ดีตรงที่ไปช่วยเค้าแต่เราว่ามันจะช่วยชาวนาเหล่านั้นได้นานแค่ไหนหละ ต่อไปเค้าก็พึ่งตัวเองไม่ได้ มันเปนแค่โครงการประชานิยมอันนึงนะแหละ เราว่านะ