8.11.2551

สามสิบบาทรักษาทุกโรค ความสำเร็ขจองประชานิยม


นางสาวรติมาส นรจิตร์


จากวาทกรรมการพัฒนาที่ผู้นำไทยนำเข้ามาจากตะวันตกนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมานั้น การพัฒนาก็ได้เข้ามามีบทบาทนำในนโยบายต่างๆที่รัฐดำเนินการ ทั้งนี้การพัฒนาตามความเป็นจริงแล้วได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญก็คือ ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งเกิดจากภายใต้สังคมพัฒนาที่เน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลักและเดินในแนวทางของระบบทุนนิยมที่ยึดปรัชญาการแข่งขันโดยเสรี โดยเปิดช่องทางให้กับคนที่มีโอกาสและมีเงินทุนมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยในด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือในด้านสาธารณสุข


สามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของพรรคไทยรักไทยในการรณรงค์เลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544และเมื่อได้รับจัดตั้งเป็นรัฐบาลก็ได้สานต่อนโยบายนี้อย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อวันที่ 1เมษายน พ.ศ.2544 ซึ่งนโยบายนี้อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนถึง 47.5 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าเบื้องหลังของโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้น คือแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง ผู้ที่ริเริ่มผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยคือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจากหนังสือบนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เขียนโดยหมอสงวนเองนั้นได้ถึงพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยว่า นับตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้มีความฝันที่จะทำอย่างใดจึงจะสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีที่พึ่งพาได้ในด้านสุขภาพ จึงได้ดำเนินการผลักดันการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ในมิติต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังได้ทดลองจริงโดยการทำโครงการนำร่องในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา พะเยา สงขลา ฯลฯ ทำให้มีความมั่นใจพอสมควรว่ามีบุคลากรทางด้านนี้เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ได้มีการประสานกับองค์กรเอกชนและประชาสังคมต่างๆเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยการรวบรวมแรงสนับสนุนจากประชาชนเกิน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพต่อรัฐสภาจนสำเร็จ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545ขึ้น และเมื่อในปีพ.ศ.2543 หมอสงวนถูกชวนให้ไปเสนอนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อใช้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ซึ่งนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกให้ความสำคัญดังนั้นพรรคไทยรักไทยจึงนำนโยบายดังกล่าวมาปรับเป็นนโยบายภายใต้ชื่อ “โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค”


อย่างไรก็ตามการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะมีการกล่าวถึงกันมากในวงนักวิชาการ ข้าราชการ หรือแม้แต่ในหมู่องค์กรพัฒนาเอกชน แต่การสื่อความหมายกับประชาชนทั่วไปเมื่อใช้สื่อโดยใช้คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟังดูแล้วไม่ชัดเจนว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร จนเมื่อพรรคไทยรักไทยได้สะท้อนเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกมาเป็นโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค จึงทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของการสร้างหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนามโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นรูปธรรมหนึ่งของนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นรองรับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในแนวทางของความเป็นรัฐสวัสดิการ ที่จะมอบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.2545 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติ ไทย ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคคือบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ อาทิ ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้าง ประจำของส่วนราชการ และครอบครัว ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ครูโรงเรียนเอกชนในระบบและในส่วนสิทธิที่ประชาชนจะได้รับเมื่อใช้บัตรทองในโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการควบคุมโรค ได้แก่ การตรวจและดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพเด็กพัฒนาการและภาวะโภชนาการ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันโรคตามแผนงานการให้ภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง การวางแผนครอบครัว (ยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด และการทำหมันถาวร) ยาต้านไวรัสเอดส์กรณีป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก การเยี่ยมบ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว การให้คำปรึกษา (counseling) และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ รวมทั้งการเคลือบหลุมร่องฟัน ในด้านการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษาทั้งนี้ รวมถึงการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรคลอดแล้วรอดออกมามีชีวิต)โดยนับตั้งแต่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่าอาหาร และค่าห้องสามัญ การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก การรักษาโพรงประสาท ฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ


อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ประชาชนประมาณสองในสามถึงสามในสี่ของประเทศได้มีหลักประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการสวัสดิการข้าราชการ โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือ สปร.(ซึ่งครอบคลุมผู้มีรายได้น้อย ว่างงาน ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้นำศาสนาและทหารผ่านศึก) ระบบประกันสังคม และโครงการบัตรสุขภาพ ทำให้ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้มีจำนวนผู้ไร้หลักประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือระบบประกันสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชนอยู่ระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประชาชนทั้งประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเห็นต่อโครงการสามสิบบาทว่าเป็นเพียงการต่อยอดโครงการหลักประกันสุขภาพต่างๆที่ดำเนินการเป็นเวลานานแล้ว และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคได้ทั่วประเทศในระยะเวลาเพียงปีเศษ ถึงแม้ว่าจะมีกระแสความไม่เห็นด้วยต่อโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นผลของการสำรวจโพลทุกโพลจากสำนักต่างๆที่ออกมาเป็นระยะๆชี้ให้เห็นว่าประชาชนพอใจกับโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคแม้แต่ในรัฐบาลปัจจุบันที่นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจจากเอแบคโพลระบุว่าประชาชนยังสนับสนุนและเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้จะสานต่อนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้ต่อถึง 93.8%

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นลักษณะของประชานิยมแต่ก็มีข้อดีในหลายๆประการ เนื่องจาก การรักษาพยาบาลควรจะเป็นสวัสดิการขึ้นพื้นฐานที่รัฐให้แก่ประชาชน แต่ผลของการปฏิบัติงานจากโครงการจะเป็นประโชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ก็ต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

จุติรัตน์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงแม้ว่า ในช่วงแรกนั้นคนไทยจะพากันตื่นเต้นไปกับโครงการในรูปแบบใหม่ที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยตามนโยบายประชานิยม และต่างเกิดข้อกังขาว่านโยบาย รวมทั้งโครงการต่างๆที่ผู้หาเสียงต่างระดมทุนโปรโมทอย่างน่าดึงดูดใจนั้นจะทำได้จริงหรือไม่?

จนกระทั่ง...เมื่อโครงการต่างๆได้สำเร็จออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเช่น "โครงการ30บาทรักษาทุกโรค" ดังที่ผู้เขียนนำเสนอมานั้น ยิ่งทำให้ผู้คนต่างก็พากันชื่นชมในโครงการที่เกิดจากการ "คิดใหม่ ทำใหม่" เป็นอย่างมาก

แต่อย่างที่สำนวนไทยกล่าวไว้ว่า..."หว่านเมล็ดพันธุ์อะไรไป ย่อมได้ผลเช่นนั้น" ได้สะท้อนให้เห็นถึง โครงการที่ทำอย่างเร่งรีบเพื่อสร้างผลงาน ไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอเลย หรือเป็นเพราะว่า นโยบายเหล่านั้น เป็นเพียงนโยบายขายฝันให้คนจนหรือคนรากหญ้า ฝันลมๆแล้งๆไปว่า 30 บาท รักษา(หาย)ทุกโรคจริงๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หมอที่รักษาบางโรงพยาบาลแทบไม่อยากรับคนไข้พวกนี้ด้วยซ้ำ ยาที่ให้ก็ไม่ใช่ยาที่ดีเพียงพอที่จะใช้รักษา(ให้หายได้จริง)โครงการนี้จึงมักถูกพูดถึงในเชิงลบว่า ไปรักษาโรคอะไรก็ได้แต่ยาพารามาเท่านั้น

จึงจริงอยู่ที่ว่า...ผลที่ได้จากการสำรวจมานั้น แสดงให้เห็นว่า ประชาชนต่างชื่นชอบโครงการดังกล่าว และอยากให้มีโครงการดังกล่าวต่อไป แต่ก็น่าจะสำรวจความคิดเห็นต่อว่า โครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือยัง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด?...เพราะเหตุการณ์ที่ว่าบางคนได้รับการรักษาอย่างดีจากโครงการดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างหายขาดจากการใช้สิทธิพิเศษในโครงการนี้ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ฉะนั้น หากรัฐฯคิดว่าจะนำโครงการนี้มาเป็นนโยบายในการพัฒนาแล้ว น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน และมีมาตรฐานของการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้ไหมว่าใครในประเทศไม่พอใจโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมากที่สุด

เพราะโครงการนี้ได้ตัดหน้าความเป็นเทวดาของพวกเขา

เขาไม่ต้องการให้คนในประเทศนี้มีความรู้

ฉลาด

หรือมีความสุข

เพราะเมื่อใดที่ประชาชนหรือพลเมืองมีความรู้ฉลาดและมีความสุขไม่ยากจน

เมื่อนั้นเทวดาก็ไม่จำเป็นต้องมี

หากมีก็ไม่มีความหมายที่จะให้พึ่งพิงหรือบนบาน

เพราะประชาชนมีความรู้แล้ว ฉลาดแล้ว มีความสุขแล้ว

เพราะฉะนั้นต้องให้ความลำบากอยู่ประชาชนไทย อยู่คู่พลเมืองไทย

เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความหมายมากยิ่งขึ้น

มากยิ่งขึ้น

มากยิ่งขึ้น..

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พวกที่คัดค้านโครงการนี้ ถามหน่อยเหอะมันไม่ดีตรงไหน

ยาย ผมเป็นมะเร็งลำไส้ ถ้าไม่มีโครงการนี้ ครอบครัวผมจ่ายค่ารักษาล่มจมแน่นอน ขนาดไป รพ.รัฐ(ไม่ได้ใช้สิทธิ์30บาท) จ่ายค่ายาทีละ 8000ขึ้นไปตลอด

แม่ผม เส้นประสาทที่มือโดนกดทับ ใช้สิทธิ์ ไม่เสียซักบาท
ตัวผม ผ่าฟันคุด ไม่เสียตังเหมือนกัน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้กันบ้างมั้ยล่ะว่างบประมาณประเทศชาติมันสั่นคลอนไปแค่ไหนจากโครงการนี้
รวนเร กันไปหมดทั้งระบบ เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพตนเองด้วย ไม่ใช่ใช้จ่ายในเรื่องอื่นไปหมด จนไม่เคยออมเงินเพื่อสุขภาพตัวเอง เพราะเห็นว่ารักษาฟรีอยู่แล้ว

ถ้าคุณอยู่ในวงการ คุณจะรู้ว่าระบบนี้มันเน่าเฟะขนาดไหน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

30บาทรักษาทุกโรคเปรียบเสมือนได้กับแนวประชานิยมสวยหรูที่พรรคการเมืองสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกคะแนนเสียง
เพราะไม่ได้ดูว่าสภาพสังคมไทยสามารถปฏิบัติได้จริงหรือป่าว
ถ้าเปรียบเทียบด้านการจ่ายยา มีเสียงเรียกร้องเยอะมากๆๆ ว่าจ่ายยาคนละคุณภาพกัน และในบางแหล่งเช่นต่างจังหวัดหรือชานเมืองการบริการ30บาทก็ยังไม่ได้มาตราฐาน ซึ่งกรณีน้องโฟร์โมตที่ต้องเสียชีวิต เพราะการบริการ30บาทที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น
สรุปว่านโยบายสวยหรู แต่ปฏิบัติไม่ได้จริงก็เหมือนไร้ค่า
รัฐบาลควรนำมาแก้ไขอย่างเร็วๆๆๆๆๆๆๆ^^