นางสาวรติมาส นรจิตร์
จากวาทกรรมการพัฒนาที่ผู้นำไทยนำเข้ามาจากตะวันตกนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมานั้น การพัฒนาก็ได้เข้ามามีบทบาทนำในนโยบายต่างๆที่รัฐดำเนินการ ทั้งนี้การพัฒนาตามความเป็นจริงแล้วได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญก็คือ ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งเกิดจากภายใต้สังคมพัฒนาที่เน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลักและเดินในแนวทางของระบบทุนนิยมที่ยึดปรัชญาการแข่งขันโดยเสรี โดยเปิดช่องทางให้กับคนที่มีโอกาสและมีเงินทุนมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยในด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือในด้านสาธารณสุข
สามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของพรรคไทยรักไทยในการรณรงค์เลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544และเมื่อได้รับจัดตั้งเป็นรัฐบาลก็ได้สานต่อนโยบายนี้อย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อวันที่ 1เมษายน พ.ศ.2544 ซึ่งนโยบายนี้อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนถึง 47.5 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าเบื้องหลังของโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้น คือแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง ผู้ที่ริเริ่มผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยคือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจากหนังสือบนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เขียนโดยหมอสงวนเองนั้นได้ถึงพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยว่า นับตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้มีความฝันที่จะทำอย่างใดจึงจะสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีที่พึ่งพาได้ในด้านสุขภาพ จึงได้ดำเนินการผลักดันการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ในมิติต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังได้ทดลองจริงโดยการทำโครงการนำร่องในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา พะเยา สงขลา ฯลฯ ทำให้มีความมั่นใจพอสมควรว่ามีบุคลากรทางด้านนี้เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ได้มีการประสานกับองค์กรเอกชนและประชาสังคมต่างๆเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยการรวบรวมแรงสนับสนุนจากประชาชนเกิน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพต่อรัฐสภาจนสำเร็จ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545ขึ้น และเมื่อในปีพ.ศ.2543 หมอสงวนถูกชวนให้ไปเสนอนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อใช้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ซึ่งนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกให้ความสำคัญดังนั้นพรรคไทยรักไทยจึงนำนโยบายดังกล่าวมาปรับเป็นนโยบายภายใต้ชื่อ “โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค”
อย่างไรก็ตามการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะมีการกล่าวถึงกันมากในวงนักวิชาการ ข้าราชการ หรือแม้แต่ในหมู่องค์กรพัฒนาเอกชน แต่การสื่อความหมายกับประชาชนทั่วไปเมื่อใช้สื่อโดยใช้คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟังดูแล้วไม่ชัดเจนว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร จนเมื่อพรรคไทยรักไทยได้สะท้อนเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกมาเป็นโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค จึงทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของการสร้างหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนามโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค นับเป็นรูปธรรมหนึ่งของนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นรองรับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในแนวทางของความเป็นรัฐสวัสดิการ ที่จะมอบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.2545 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติ ไทย ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคคือบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ อาทิ ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้าง ประจำของส่วนราชการ และครอบครัว ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ครูโรงเรียนเอกชนในระบบและในส่วนสิทธิที่ประชาชนจะได้รับเมื่อใช้บัตรทองในโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการควบคุมโรค ได้แก่ การตรวจและดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพเด็กพัฒนาการและภาวะโภชนาการ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันโรคตามแผนงานการให้ภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง การวางแผนครอบครัว (ยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด และการทำหมันถาวร) ยาต้านไวรัสเอดส์กรณีป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก การเยี่ยมบ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว การให้คำปรึกษา (counseling) และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ รวมทั้งการเคลือบหลุมร่องฟัน ในด้านการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษาทั้งนี้ รวมถึงการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรคลอดแล้วรอดออกมามีชีวิต)โดยนับตั้งแต่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่าอาหาร และค่าห้องสามัญ การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก การรักษาโพรงประสาท ฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ประชาชนประมาณสองในสามถึงสามในสี่ของประเทศได้มีหลักประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการสวัสดิการข้าราชการ โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือ สปร.(ซึ่งครอบคลุมผู้มีรายได้น้อย ว่างงาน ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้นำศาสนาและทหารผ่านศึก) ระบบประกันสังคม และโครงการบัตรสุขภาพ ทำให้ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้มีจำนวนผู้ไร้หลักประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือระบบประกันสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชนอยู่ระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประชาชนทั้งประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเห็นต่อโครงการสามสิบบาทว่าเป็นเพียงการต่อยอดโครงการหลักประกันสุขภาพต่างๆที่ดำเนินการเป็นเวลานานแล้ว และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคได้ทั่วประเทศในระยะเวลาเพียงปีเศษ ถึงแม้ว่าจะมีกระแสความไม่เห็นด้วยต่อโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นผลของการสำรวจโพลทุกโพลจากสำนักต่างๆที่ออกมาเป็นระยะๆชี้ให้เห็นว่าประชาชนพอใจกับโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคแม้แต่ในรัฐบาลปัจจุบันที่นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจจากเอแบคโพลระบุว่าประชาชนยังสนับสนุนและเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้จะสานต่อนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคนี้ต่อถึง 93.8%
6 ความคิดเห็น:
โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นลักษณะของประชานิยมแต่ก็มีข้อดีในหลายๆประการ เนื่องจาก การรักษาพยาบาลควรจะเป็นสวัสดิการขึ้นพื้นฐานที่รัฐให้แก่ประชาชน แต่ผลของการปฏิบัติงานจากโครงการจะเป็นประโชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ก็ต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
จุติรัตน์
ถึงแม้ว่า ในช่วงแรกนั้นคนไทยจะพากันตื่นเต้นไปกับโครงการในรูปแบบใหม่ที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยตามนโยบายประชานิยม และต่างเกิดข้อกังขาว่านโยบาย รวมทั้งโครงการต่างๆที่ผู้หาเสียงต่างระดมทุนโปรโมทอย่างน่าดึงดูดใจนั้นจะทำได้จริงหรือไม่?
จนกระทั่ง...เมื่อโครงการต่างๆได้สำเร็จออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเช่น "โครงการ30บาทรักษาทุกโรค" ดังที่ผู้เขียนนำเสนอมานั้น ยิ่งทำให้ผู้คนต่างก็พากันชื่นชมในโครงการที่เกิดจากการ "คิดใหม่ ทำใหม่" เป็นอย่างมาก
แต่อย่างที่สำนวนไทยกล่าวไว้ว่า..."หว่านเมล็ดพันธุ์อะไรไป ย่อมได้ผลเช่นนั้น" ได้สะท้อนให้เห็นถึง โครงการที่ทำอย่างเร่งรีบเพื่อสร้างผลงาน ไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอเลย หรือเป็นเพราะว่า นโยบายเหล่านั้น เป็นเพียงนโยบายขายฝันให้คนจนหรือคนรากหญ้า ฝันลมๆแล้งๆไปว่า 30 บาท รักษา(หาย)ทุกโรคจริงๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หมอที่รักษาบางโรงพยาบาลแทบไม่อยากรับคนไข้พวกนี้ด้วยซ้ำ ยาที่ให้ก็ไม่ใช่ยาที่ดีเพียงพอที่จะใช้รักษา(ให้หายได้จริง)โครงการนี้จึงมักถูกพูดถึงในเชิงลบว่า ไปรักษาโรคอะไรก็ได้แต่ยาพารามาเท่านั้น
จึงจริงอยู่ที่ว่า...ผลที่ได้จากการสำรวจมานั้น แสดงให้เห็นว่า ประชาชนต่างชื่นชอบโครงการดังกล่าว และอยากให้มีโครงการดังกล่าวต่อไป แต่ก็น่าจะสำรวจความคิดเห็นต่อว่า โครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือยัง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด?...เพราะเหตุการณ์ที่ว่าบางคนได้รับการรักษาอย่างดีจากโครงการดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างหายขาดจากการใช้สิทธิพิเศษในโครงการนี้ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ฉะนั้น หากรัฐฯคิดว่าจะนำโครงการนี้มาเป็นนโยบายในการพัฒนาแล้ว น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน และมีมาตรฐานของการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย
รู้ไหมว่าใครในประเทศไม่พอใจโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมากที่สุด
เพราะโครงการนี้ได้ตัดหน้าความเป็นเทวดาของพวกเขา
เขาไม่ต้องการให้คนในประเทศนี้มีความรู้
ฉลาด
หรือมีความสุข
เพราะเมื่อใดที่ประชาชนหรือพลเมืองมีความรู้ฉลาดและมีความสุขไม่ยากจน
เมื่อนั้นเทวดาก็ไม่จำเป็นต้องมี
หากมีก็ไม่มีความหมายที่จะให้พึ่งพิงหรือบนบาน
เพราะประชาชนมีความรู้แล้ว ฉลาดแล้ว มีความสุขแล้ว
เพราะฉะนั้นต้องให้ความลำบากอยู่ประชาชนไทย อยู่คู่พลเมืองไทย
เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความหมายมากยิ่งขึ้น
มากยิ่งขึ้น
มากยิ่งขึ้น..
พวกที่คัดค้านโครงการนี้ ถามหน่อยเหอะมันไม่ดีตรงไหน
ยาย ผมเป็นมะเร็งลำไส้ ถ้าไม่มีโครงการนี้ ครอบครัวผมจ่ายค่ารักษาล่มจมแน่นอน ขนาดไป รพ.รัฐ(ไม่ได้ใช้สิทธิ์30บาท) จ่ายค่ายาทีละ 8000ขึ้นไปตลอด
แม่ผม เส้นประสาทที่มือโดนกดทับ ใช้สิทธิ์ ไม่เสียซักบาท
ตัวผม ผ่าฟันคุด ไม่เสียตังเหมือนกัน
รู้กันบ้างมั้ยล่ะว่างบประมาณประเทศชาติมันสั่นคลอนไปแค่ไหนจากโครงการนี้
รวนเร กันไปหมดทั้งระบบ เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพตนเองด้วย ไม่ใช่ใช้จ่ายในเรื่องอื่นไปหมด จนไม่เคยออมเงินเพื่อสุขภาพตัวเอง เพราะเห็นว่ารักษาฟรีอยู่แล้ว
ถ้าคุณอยู่ในวงการ คุณจะรู้ว่าระบบนี้มันเน่าเฟะขนาดไหน
30บาทรักษาทุกโรคเปรียบเสมือนได้กับแนวประชานิยมสวยหรูที่พรรคการเมืองสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกคะแนนเสียง
เพราะไม่ได้ดูว่าสภาพสังคมไทยสามารถปฏิบัติได้จริงหรือป่าว
ถ้าเปรียบเทียบด้านการจ่ายยา มีเสียงเรียกร้องเยอะมากๆๆ ว่าจ่ายยาคนละคุณภาพกัน และในบางแหล่งเช่นต่างจังหวัดหรือชานเมืองการบริการ30บาทก็ยังไม่ได้มาตราฐาน ซึ่งกรณีน้องโฟร์โมตที่ต้องเสียชีวิต เพราะการบริการ30บาทที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น
สรุปว่านโยบายสวยหรู แต่ปฏิบัติไม่ได้จริงก็เหมือนไร้ค่า
รัฐบาลควรนำมาแก้ไขอย่างเร็วๆๆๆๆๆๆๆ^^
แสดงความคิดเห็น