8.04.2551

EXIM Thailand (Export-Import Bank of Thailand)


นายวิชพัฒน์ องค์ทองคำ



ในสภาพของโลกยุคปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นสภาพสังคมสมัยใหม่ และมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นปัจจัยหลักของสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นกระแสแนวคิดหลักที่เปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากสังคมโบราณอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับผลของการที่มีตัวชี้วัดระดับของการพัฒนาของแต่ละประเทศมาผูกอยู่กับสภาพความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จึงทำให้แต่ละประเทศพยายามหายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สามารถทำให้ประเทศของตนได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบใหม่(Liberalism) เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศจึงถูกยกเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างระดับการพัฒนาในด้านอื่นๆของสังคมต่อไป

สำหรับในประเทศไทยระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีหลายๆอย่างในกระบวนการผลิตในหลายๆภาคส่วน ได้เป็นส่วนในการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เป็นฐานในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขอัตราของการส่งออกของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากช่วงปี2506ที่คิดอัตราส่งออกได้เพียง13.0ของผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ29.7ในปี2536 ดังนั้นภาคการส่งออกของไทยจึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทความสำคัญ

แต่กระนั้นด้วยเหตุของการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า ประกอบกับยังไม่มีสถาบันทางการเงินที่ให้บริการด้านการส่งออกโดยเฉพาะ แม้จะมีอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของวงเงินบริการกู้ยืมที่จำกัดมากจึงไม่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้ส่งออกได้ครบถ้วน อีกทั้งยังขาดปัจจัยบริการทางการเงินอื่นๆที่มีความจำเป็นต่อผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยอย่างมีประสิทธิภาพเช่น บริการสินเชื่อ เป็นต้น

ผลจากข้อจำกัดต่างๆดังกล่าว รัฐบาลจึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะเข้ามาดูแลโดยตรงในเรื่องการให้บริการทางการเงินเพื่อธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่นำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นในปี2536จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยพ.ศ.2536 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่7กันยายน2536 เพื่อจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)” หรือ “EXIM Thailand”ขึ้น โดยมีฐานะเป็นสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ด้วยทุนประเดิม2500ล้านบาทจากงบประมาณของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังในวันที่17กุมภาพันธ์2537 EXIMจึงได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งEXIM ก็เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคการส่งออก การนำเข้าเพื่อส่งออก และการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ มากไปกว่านั้นEXIMยังมีหน้าที่ในการพยายามขยายฐานการค้าของไทยให้เจริญเติบโตด้วยการขยายฐานกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มั่นคงอีกด้วย

ในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้กำหนดขอบเขตอำนาจในการทำธุรกิจเอาไว้อย่างกว้างขวาง โดยEXIMสามารถให้สินเชื่อได้ทุกรูปแบบเช่นสินเชื่อระยะสั้น สินเชื่อระยะยาว สินเชื่อในประเทศสินเชื่อต่างประเทศ โดยสามารถทำธุรกิจได้ทั้งที่เป็นสกุลเงินบาท และสกุลเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทุกประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย EXIMยังสามารถออกตราสารการเงินระยะสั้นและระยะยาว เพื่อทำการขายให้แก่สถาบันการเงินและประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าEXIMสามารถทำธุรกิจทุกประเภทที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ ยกเว้นเพียงการรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปเท่านั้น ที่ไม่ได้ถือเป็นหน้าที่ของEXIM bank

ต่อมาในปี2542 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยฉบับที่สอง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจของEXIMเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนให้ชัดเจนและกว้างขึ้น เพื่อให้EXIMเป็นธนาคารที่สามารถสนับสนุนนักลงทุนไทยในต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้EXIMสามารถขยายการสนันสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนในประเทศที่ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลดการสูญเสียหรือสนับสนุนให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ

ระบบการบริหารงานของธนาคารจะตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับกิจการดูแลกิจการที่ดี(Good Corporate Governance) โดยจะมีคณะกรรมการธนาคารซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้นคอยเป็นผู้กำกับนโยบายการบริหารและกำกับดูแลกิจการของธนาคาร และยังมีหน้าที่ดูแลให้มีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายและภารกิจของธนาคารตามระยะเวลาที่คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้คณะกรรมการธนาคารยังต้องมอบหมายให้ฝ่ายจัดการนำเสนอนโยบายดังกล่าวไปกำหนดแนวทางปฎิบัติ พร้อมทั้งมีระบบรายงานผลการกำกับดูแลกิจการไว้ในรายงานประจำปี และนำเอาผลสำเร็จของภารกิจไปเผยแพร่ในเวปไซต์ของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงภารกิจของธนาคารที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราคงเห็นได้ว่าEXIM bankได้มีบทบาทในการร่วมสนับสนุนส่งเสริมภาคธุรกิจการส่งออกและการลงทุนเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศ จนทำให้หลายๆธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี อีกทั้งEXIMยังเป็นสถาบันหนึ่งที่คอยช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้มั่นคงและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันทางธุรกิจจากนานาประเทศได้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กรนี้

เราจึงไม่สามารถปฎิเศสได้ว่าEXIM bankถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างฐานความมั่นคงของภาคธุรกิจของไทยให้เติบโตแข็งแรง และสามารถไปยืนอยู่บนเวทีแข่งขันธุรกิจของโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งจากผลของเหตุนี้เอง จึงเป็นการส่งเสริมให้สภาพเศรษฐกิจของไทยมีความเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าระดับการพัฒนาในสังคมไทยก็ย่อมมีอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะเรามีทุนสำหรับทำการพัฒนามากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีองค์กรส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่ดีอยู่ในประเทศดังเช่นEXPORT-IMPORT bank of Thailandจึงถือเป็นแนวทางการสร้างระดับการพัฒนาในสังคมรูปแบบหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน




ไม่มีความคิดเห็น: