ทุนนิยมแบบไทย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงคำว่าทุนนิยมก่อน ซึ่งคำว่าทุนนิยมนั้นมีลักษณะสำคัญดังนี้
มีการดำเนินงานตามระบบกลไกแห่งราคา ซึ่งหมายความว่า การที่ระบบเศรษฐกิจจะผลิตสิ่งใด ในประมาณใด และแจกจ่ายผลิตผลนั้นให้แก่ผู้ใด ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะดีมานด์และซับพลายของสินค้าชนิดนั้นเป็นสำคัญ โดยไม่มีการบังคับจากส่วนกลาง ราคาในตลาดจึงเป็นราคาที่เคลื่อนไหวได้ แล้วแต่สภาพความต้องการของผู้ซื้อและต้นทุนการผลิต ซึ่งจุดหมายคือกำไรสูงสุด โดยในการผลิตจะเน้นที่ต้นทุนต่ำสุดซึ่งสามารถผลิตในประมาณที่คาดว่าจะได้กำไรสูงสุด ทำให้ผู้ผลิตต้องตื่นตัวต่อเทคนิคการผลิตหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาของปัจจัยการผลิตเพื่อปรับสภาพการผลิตของเขา ให้นำมาซึ่งกำไรสูงสุดเสมอ ในด้านผู้บริโภคก็ย่อมเปรียบเทียบความต้องการของเขาระหว่างสินค้าชนิดต่าง ๆ กับราคาของผู้ผลิตคนต่าง ๆ และเลือกซื้อสิ่งที่จะนำความพอใจมาสู่เขาสูงสุดต่อราคาขายที่ต่ำสุด
บทบาทของรัฐที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ จะมีน้อยซึ่งส่วนใหญ่บทบาทของรัฐจะมีมากในด้านอื่น ๆ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ เป็นต้น เนื่องจากทฤษฏีตลาดและแนวคิดที่ว่าถ้าปล่อยให้ระบบตลาดดำเนินไปตามกลไกของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐแล้ว ประโยชน์จะเกิดแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในตลาด การขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจและเสรีภาพส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้เต็มที่โดยมีการแทรกแซงและการกดขี่จากรัฐบาลน้อยที่สุด ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยอมรับอำนาจอธิปไตย ของผู้บริโภคและอิสรภาพในการเลือกงานทำ อำนาจอธิปไตยของผู้บริโภคหมายถึงสภาพการที่หน่วยการผลิตคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญที่สุด ผู้บริโภคจึงมีอิสรภาพในการเลือกบริโภค ซึ่งสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าชนิดใดก็ได้ และในระบบเศรษฐกิจนี้ บุคคลย่อมมีอิสรภาพที่จะเลือกงานของเขา จะมีข้อจำกัดก็แต่ความสามารถ การศึกษาอบรม และสภาพตลาดแรงงาน ส่วนทางด้านกรรมสิทธิ์ส่วนตัวก็สามารถมีได้ และไม่ได้มีเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยในการผลิตซึ่งก็คือทุนและที่ดินด้วย ส่งผลให้การตัดสินการผลิตย่อมขึ้นอยู่กับเอกชนผู้มีกรรมสิทธิ์แต่ละบุคคล มิใช่ขึ้นกับรัฐ กรรมสิทธิ์ส่วนตัวจึงเป็นการส่งเสริมและทำให้การดำเนินงานของกลไกแห่งราคาเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาถึงความเป็น ทุนนิยมในรูปแบบของคำว่าแบบไทย เราจะพบว่าลักษณะดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ อันเนื่องมาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในประเทศไทย การแยกตัวของรัฐออกจากสังคม เช่น การยกเลิกความสัมพันธ์ไพร่กับขุนนางก็ดี การก่อเกิดของระบบราชการสมัยใหม่ก็ดี การรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลางทั้งทางด้านการคลังและการปกครองก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขหักล้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่าซึ่งยืดหยุ่นและมีเนื้อหาทางวัฒนธรรม และนำไปสู่จินตภาพแห่งความเสมอภาคทางกฎหมายที่เข้มงวดตายตัว เสมอหน้า และเหมาะสำหรับสังคมที่แตกออกเป็นปัจเจกบุคคลไร้สังกัด
แต่ในความเป็นจริงราษฏรส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในสภาพไพร่ไร้นาย ไม่ได้รับความเสมอภาคตามกระบวนยุติธรรมสมัยใหม่มาชดเชย เนื่องจากในทางประวัติศาสตร์ที่รัฐราชการแบบใหม่กำลังก่อรูปขึ้นมานั้น แนวคิดเรื่องสิทธิทางการเมืองของประชาชนมิได้เกิดขึ้นมาควบคู่กัน ทำให้ตัวองค์กรของรัฐกลายเป็นบ้านใหม่ของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ค้ำจุนโดยจำกัดเฉพาะคนในหน่วยราชการหรืออเฉพาะราษฏรส่วนที่ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้กุมอำนาจระดับต่าง ๆ แม้ว่าหลังกรณี 2475 จะมีการเสนอสิทธิทางการเมืองให้ประชาชนทั่วไป แต่ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่กึ่งดิบกึ่งสุกแบบนี้ก็ตกผลึกเสียแล้ว
อีกทั้งการที่รัฐไทยมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างประเทศโลกที่สามอื่น ๆ ทำให้วัฒนธรรมอุปถัมถ์ค้ำจุนในรัฐไทยยังคงความเข้มแข็งอยู่ได้ นอกจากนี้ชนชั้นนายทุนยุคแรคกของไทยเป็นชาวจีนอพยพเข้ามามิใช่นายทุนพื้นเมือง จึงไม่มีอุดมการณ์ของตัวเองที่เด่นชัดอย่างชนชั้นนายทุนยุโรป ทำให้ตกอยู่ภายใต้การนำของชนชั้นศักดินายหรือเจ้านาย ดังนั้นระบบทุนนิยมในประเทศไทยช่วงนั้นจึงต้องทำงานภายใต้โครงสร้างของรัฐศักดินาไทย
หลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตเมือง ส่งผลให้ ประการแรก ประชาชนในชนบทถูกลดบทบาทลง เป็นหนี้สินจำนวนมาก ประการที่สอง ผู้มีอำนาจได้รับความรุ่งเรืองในการใช้อำนาจนั้น มีการผนวกนโยบายรัฐเข้ากับความรุ่งเรืองส่วนตัวของกลุ่มผู้กุมอำนาจ ทำให้ผู้นำประเทศระดับสูงเกือบทุกคนมีเครือข่ายธุรกิจของตนเอง และนักธุรกิจกับคนชั้นกลางก็เกิดขึ้นมาในประเทศไทยมากมาย จนในที่สุดกลุ่มคนพวกนี้ก็ขึ้นมามีบทบาทในทางการเมืองเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยออกนโยบายที่เน้นเรื่องการเติบโตมากกว่าการกระจายรายได้ เน้นเมืองมากกว่าชนบท และเน้นการรวมศุนย์อำนาจการเมืองการปกครองมากกว่าการกระจายอำนาจอย่างมีนัยสำคัญแท้จริง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าทุนนิยมแบบไทยมีนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการอุปถัมถ์ค้ำจุน โดยเปลี่ยนนอำนาจจากชนชั้นศักดินามาเป็นกลุ่มทุน ทั้งนี้ทั้งนั้นพัฒนาการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติแต่อย่างใด กลับกันมันก่อให้เกิดผลเสียต่อคนในชาติ และยังคงต้องคอยพึ่งการอุปถัมภ์จากผู้มีอำนาจต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น