8.11.2551

กองทุนเงินทดแทน

นายวัชรพล คัคโนภาส

กองทุนเงินทดแทน การช่วยหลือสำหรับลูกจ้าง


กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นกองทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งกองทุนเงินทดแทนนั้นมีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้หลักประกันลูกจ้าง ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เฉพาะที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน


สำหรับกองทุนเงินทดแทน จะแตกต่างจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งนายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงรัฐบาล ต้องเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร่วมกัน แต่กองทุนเงินทดแทนนั้น นายจ้างต้องมีหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับแต่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จ่ายเงินสมทบประจำปี ปีละ 2 ครั้ง และต้องแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้าง ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบเหตุ โดยวิธีการในการจ่ายเงินสมทบครั้งที่ 1 จะจัดเก็บภายใน 31 มกราคมของทุกปี ซึ่งเรียกว่า “เงินสมทบประจำปี” ส่วนครั้งที่ 2 จัดเก็บภายใน 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเรียกว่า “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง” เนื่องจากเงินสมทบที่จัดเก็บเมื่อต้นปี คำนวณมาจาก ค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้า X อัตราเงินสมทบ และในระหว่างปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม หรือลดค่าจ้าง ดังนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างจึงมีหน้าที่แจ้งจำนวนค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งปีที่แล้ว ไปให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทราบอีกครั้ง เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี หากค่าจ้างที่ประมาณไว้เดิมน้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มภายในเดือนมีนาคม เว้นแต่ค่าจ้างที่ประมาณการไว้สูงกว่าค่าจ้างจริง นายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไป และหากนายจ้างจ่ายเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับ 3% ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย โดยที่อัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ที่จัดเก็บจากนายจ้าง จะแตกต่างกันตามลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 131 ประเภทกิจการ อัตราเงินสมทบจะอยู่ระหว่าง 0.2% - 1.0% ของค่าจ้าง เช่น กิจการขายอาหาร ต้องจ่ายเงินสมทบ 0.2% ของค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นกิจการก่อสร้างต้องจ่ายเงินสมทบ 1.0% ของค่าจ้าง เป็นต้น


ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนแล้ว ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานให้กับนายจ้างจะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนทันที โดยแบ่งเป็นกรณีดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วย ลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท ต่อการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย 1 ครั้ง หากเกินเบิกเพิ่มได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงอีกไม่เกิน 200,000 บาท และจะได้ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง หากแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
2.กรณีสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง ตามประเภทการสูญเสียอวัยวะและระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจะได้รับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ของสำนักงานประกันสังคม โดยค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์และอาชีพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท
3.กรณีทุพพลภาพ ลูกจ้างจะรับได้ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี
4.กรณีตายหรือสูญหาย ลูกจ้างจะได้รับค่าทำศพจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (ปัจจุบันจ่าย 18,100 บาท) และค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60 % ของค่าจ้าง เป็นเวลา 8 ปี แก่ทายาท


กองทุนเงินทดแทน ถือเป็นกองทุนที่มุ่งให้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับลูกจ้าง เป็นแนวนโยบายของรัฐที่พัฒนาขึ้นจากกองทุนประกันสังคมที่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างเฉพาะที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน โดยมุ่งเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานของลูกจ้าง ซึ่งถ้าลูกจ้างต้องประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ในขณะปฏิบัติงาน ลูกจ้างและครอบครัวจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งกองทุนเงินทดแทนจะสามารถแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้างได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนากองทุนดังกล่าว เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นกับลูกจ้าง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับลูกจ้าง และลดการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนากองทุนดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป เพราะได้เกิดกรณีของโรงพยาบาลเอกชนถอดตัวจากกองทุนเงินทดแทน โดยมีสาเหตุเพราะกองทุนเงินทดแทนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโรงพยาบาล โดยที่โรงพยาบาลได้ทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างไปก่อน แล้วไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมทีหลัง แต่ด้วยกฎเกณฑ์การพิจารณาของสำนักงานประกันสังคมที่ตั้งมาอย่างซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไว้เอง ดังนั้นแนวทางการพัฒนากองทุนเงินทดแทน แม้จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างให้ได้รับสิทธิที่พึงมีจากการปฏิบัติงาน แต่ก็ได้ส่งผลกระทบถึงโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นต้องเป็นภาระของกองทุนเงินทดแทนที่มีวัตถุประสงค์ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนากองทุนดังกล่าว จึงควรศึกษาและวางกรอบในการจัดการบริหารเงินในกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับลูกจ้างด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: