8.11.2551

สวัสดิการข้าราชการ

นายรณกฤษ ศรีเปรมหทัย

ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการ

การจัดสวัสดิการ หมายถึง กิจกรรมหรือกิจการใดๆที่คณะกรรมการสวัสดิการจัดให้มีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือและอํานวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการเพื่อประโยชน์ในการดํารงชีวิต หรือเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติราชการหรือที่คณะกรรมการสวัสดิการเห็นสมควรให้จัดเพิ่มขึ้นสําหรับส่วนราชการต่างๆ


วัตถุประสงค์
1.สร้างขวัญกําลังใจในการปฏิบัติงาน
2.ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน (เศรษฐกิจ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สิ่งอํานวยความสะดวกพื้นฐาน)
3.เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานกับผู้ปฏิบัติงานและระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน
4.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน


ผลการสำรวจภาวการณ์เจ็บป่วยของข้าราชการ,ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญ และบุคคลในครอบครัว ทำการสำรวจใน 12 จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทย โดยสุ่มเลือกข้าราชการและลุกจ้างประจำจำนวน 7,260 ราย ข้าราชการบำนาญ 7,060 ราย โดยใช้แบบสอบถามที่ตอบโดยตัวอย่าง (self administered questionnaire) ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2537 ถึงมิถุนายน 2538 จากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางในปี 2538 มีจำนวนข้าราชการและลูกจ้างประจำทั้งสิ้นจำนวน 1.85 ล้านราย การสำรวจพบว่าจำนวนบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิ์ในสวัสดิการ เฉลี่ยคนละ 2.577 ราย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์มีจำนวน 6,634 ล้านราย ส่วนข้าราชการบำนาญในปี 2538 ล้านราย การสำรวจพบว่ามีบุคคลในครอบครัวเฉลี่ยคนละ 0.616 ถึง 0.856 ราย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์มีจำนวน 0.322 ถึง 0.37 ล้านราย รวมเป็นผู้มีสิทธิ์ทั้งในกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญ และครอบครัว 6.69 ล้านราย ถึง 7 ล้านราย 2. ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว มีอัตราป่วย (ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) เท่ากับ 4.85 ครั้งต่อคนต่อปี ใช้บริการผู้ป่วยนอกในภาครัฐที่เบิกได้เท่ากับ 40% ใช้บริการที่ไม่สามารถเบิกเท่ากับ 58% และอื่น ๆ อีก 2% 3. ข้าราชการบำนาญและคู่สมรสมีอัตราป่วย (ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) เท่ากับ 8.2 ครั้งต่อคนต่อปี ใช้บริการผู้ป่วยนอกในภาครัฐที่เบิกได้เท่ากับ 48% ใช้บริการที่ไม่สามารถเบิกได้เท่ากับ 48% และอื่น ๆ อีก 4% 4. ข้าราชการและบุคคลในครอบครัวมีอัตรานอนโรงพยาบาลในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 0.146 ครั้งต่อคนต่อปี ผู้ป่วยเลือกใช้รพ.รัฐ 56% รพ. เอกชน 44% วันนอนเฉลี่ยในภาครัฐ 7 วัน ภาคเอกชน 4 วัน 6. อัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้มีสิทธิ์ในสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าประชาชนไทยทั่วไปที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ 2539) โดยกลุ่มอายุ 0-6 ปีมีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 2.8 เท่า กลุ่มอายุ 30-34 ปี มีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 2.2 เท่า และกลุ่มอายุ 60+ มีอัตรานอนโรงพยาบาลสูงกว่า 1.5 เท่า ส่วนกลุ่มอายุ 15-19 ปี อัตรานอนโรงพยาบาลใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไป


จากสถิติจะเห็นว่ามีผู้ที่ใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลมากถึงประมาณ 7 ล้านคน โดยบุคคลเหล่านั้นเข้าใช้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ทราบว่าบุคคลเหล่านี้มิได้ใช้เพียงสิทธิจากสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ยังจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าสวัสดิการนี้สร้างให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันก็ยังมีสวัสดิการสังคมและหลักประกันสุขภาพมีไว้สำหรับผู้ยากไร้ ซึ่งผู้ที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างของรัฐไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ สวัสดิการข้าราชการเป็นตัวเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ


เมื่อสังคมและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อวาทกรรมการพัฒนาของตะวันตก การพัฒนาดังกล่าวทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องออกระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการ ภายในส่วนราชการขึ้นใหม่ให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะมีผลในการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัวเขาเหล่านั้นเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆของรัฐ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับข้าราชการเป็นอันดับแรก เพราะ ข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐและนำนโยบายไปใช้กับประชาชน มิเช่นนั้นแล้วนโยบายจะไม่สัมฤทธิ์ผล


ปัญหาที่เกิดจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในหน่วยงานของรัฐ ตัวข้าราชการ พ่อแม่ หรือ ครอบครัวของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐ จะมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้ไป จากหน่วยงานต้นสังกัดได้ โดยในแบบเดิม คือ การที่ข้าราชการ หรือ ครอบครัวใช้จ่ายค่ารักษาไปเท่าไหร่ ก็สำรองจ่ายไปเองก่อนแล้วค่อยมาขอเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง
แต่ในปัจจุบัน หน่วยราชการส่วนใหญ่จะใช้ระบบ DRG4 คือ ราชการจะกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายให้เราเอง และไม่ให้ใช้เกินกว่านี้ เช่น ถ้าเราเป็นหวัด ต้นสังกัดจะจ่ายให้เราแค่ X บาท โรงพยาบาลอยากใช้วิธีการรักษายังไงก็ได้ ตามสบาย วิธีนี้จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินของสิทธิเบิกได้ดีขึ้น ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบานปลาย แต่จะส่งผลให้เกิดปํญหา คือ ถ้าเราไปโรงพยาบาล เค้าก็ต้องพยายามรักษาเราโดยให้ค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับ DRG มากที่สุด หรือถ้าคิดเลวร้ายกว่านั้น ถ้าคนที่จ่ายเงินไม่สนใจว่าจะจ่ายน้อยหรือมากกว่า DRG ของผู้ป่วย ก็จะกลายเป็นว่า จะรักษาเราโดยให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้กำไรจากการรักษามากที่สุด และให้ขาดทุนน้อยที่สุด
และในส่วนของการกรอกข้อมูลและเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายเงินเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมากสำหรับผู้ที่พ่อแม่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เพราะราชการจะมิให้เบิกจ่าย จึงจะต้องมีหลักฐานให้เรียบร้อยและครบถ้วน


สิทธิซ้ำซ้อนที่ใช้ในการเบิกค่ารักษาพยาบาล
ในอดีต ปัญหาเรื่องสิทธิซ้ำซ้อน เป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยผู้ที่ได้รับสิทธิจากสวัสดิการข้าราชการก็อาจมีสิทธิจากประกันสังคม หรือ อาจมีสิทธิจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ จึงทำให้สิทธิต่างๆถูกกระจุกตัวที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึงทุกคน และทำให้งบประมาณที่รัฐจัดสรรไว้ให้บานปลายและไม่เพียงพอ รวมทั้งความเข้าใจที่ว่าการออกบัตรซ้ำซ้อนเพื่อหวังงบประมาณรายหัว
แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้รับการแก้ไขแล้ว คือเมื่อมีสิทธิหลายทาง ตามหลักเจ้าของสิทธิควรมีสิทธิเลือก แต่เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จึงบังคับว่าหากมีสิทธิทางอื่นด้วย ให้ใช้สิทธิทางอื่นก่อน แต่ถ้าสิทธิทางอื่นๆนั้น ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกา จึงมีสิทธินำมาเบิกจากสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเฉพาะส่วนต่างเท่านั้น
ความคิดเห็นเพิ่มเติม


แนวคิดเรื่องสวัสดิการข้าราชการ สามารถนำมาเป็นพื้นฐานคิดอันนำไปสู่การต่อยอดให้เป็นสวัสดิการของบุคคลทั่วไปได้ เพราะหลักการของแนวคิดสวัสดิการ คือ การสร้างความเท่าเทียมกันให้บังเกิดขึ้น ดังนั้นสวัสดิการที่จำกัดในหมู่ข้าราชการฯลฯ จึงเป็นการจำกัดสิทธิ์อยู่ที่คนบางกลุ่ม โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีสวัสดิการอย่างอื่นที่รัฐจัดให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการอุดช่องว่างการจำกัดสิทธิ์ ดังกล่าวที่เห็นได้ในปัจจุบันสามารถนำมาใช้เป็นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: